รศ. (พิเศษ) ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา
อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับผู้อยู่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศที่ต้องมีการติดต่อค้าขายกับประเทศในเอเชียแปซิฟิกต่างล้วนให้ความสำคัญกับข่าวเรื่องการลงนามความตกลงการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิกภายใต้ชื่อ "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือ TPP"
TPP ความตกลงการค้าเสรีที่ใช้เวลาเจรจากันนานเกือบ 8 ปี เริ่มนับตั้งแต่ปี 2551 การเจรจาปกปิดเป็นความลับ เอกสารการประชุมไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำออกไปเผยแพร่ ผู้แทนภาครัฐแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้แต่รายงานความคืบหน้าว่าประชุมกันมีกี่รอบ สถานที่ประชุมอยู่ที่ใด มีหัวข้อใดที่หยิบยกนำมาเจรจากัน ส่วนสาระสำคัญและรายละเอียดลึกๆ ไม่สามารถนำมาเล่าให้ฟังได้ ปล่อยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักธุรกิจ นักวิชาการ NGO นักวิพากษ์วิจารณ์ข่าวเศรษฐกิจคาดเดากันไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา จนในที่สุดผู้นำประเทศสมาชิกในเอเชียแปซิฟิกที่เข้าร่วมจำนวน 12 ประเทศได้มาลงนามความตกลง TPP ร่วมกันเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ณ นิวซีแลนด์ (ลงนามแต่ยังไม่มีผลใช้บังคับ) โดยจะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกประเทศให้สัตยาบัน หรือภายใน 2 ปีนับจากวันลงนาม โดย TPP มีขอบเขตครอบคลุมการลด/ยกเลิกอากรขาเข้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเปิดเสรีและการคุ้มครองการลงทุน การเปิดตลาดการค้า/บริการ บริการการเงิน การลดการคุ้มครองสิทธิของรัฐวิสาหกิจบางประเภท การเปิดเสรีการจัดซื้อภาครัฐ การให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในสะดวกขึ้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูง การคุ้มครองแรงงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในระดับสูง การต่อต้านคอรัปชั่น และการสร้างความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ
สมาชิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน (บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม) 2 ประเทศในโอเชียเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) 1 ประเทศในเอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น) 5 ประเทศในทวีปอเมริกา (สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี) โดยประเทศที่รอความหวังอยากจะเข้าร่วม TPP ด้วยในอนาคต เช่น อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน รัสเซีย แต่ก็ยังกลัวๆ กล้าๆ เนื่องจากมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อภาคเศรษฐกิจบางสาขา รวมถึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม ทำให้ต้องชะลอการตัดสินใจเข้าร่วม
ในส่วนแวดวงการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เป็นกระแสที่สนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าร่วม TPP เนื่องจากตลาดเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่มีขนาดใหญ่ของไทย โดยประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ มีมูลค่าตลาดการส่งออกในปี 2558 มูลค่ารวม 1,930.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปตลาดโลก แบ่งเป็นการส่งออกเพชรมูลค่า 197 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการส่งออกเพชรทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) พลอยสีมูลค่า 167.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 16.1 ของมูลค่าการส่งออกพลอยสีทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) เครื่องประดับเงินมูลค่า 750.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 47.3 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเงินทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) เครื่องประดับทองมูลค่า 680.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 34.5 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับทองทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) และเครื่องประดับเทียมมูลค่า 134.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 34.5 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเทียมทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก)
ความลำบากของไทยน่าจะอยู่ที่ตลาดสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่เหลือ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอาเซียน ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่างๆ เช่น ATIGA, TAFTA, JTEPA, AJCEP ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนค่าภาษีอากรขาเข้าไปได้ ส่วนตลาดอื่นๆ ในทวีปอเมริกา เช่น เม็กซิโก เปรู ชิลี ก็มีการค้าอัญมณีและเครื่องประดับกับไทยไม่มาก
หากพิจารณาตัวเลขนำเข้าของสหรัฐฯ ในปี 2558 พบว่า มีการนำเข้า
§ เพชร มูลค่า 23,956 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 18 ขณะที่นำเข้าจากเวียดนามเป็นอันดับที่ 15 ออสเตรเลียเป็นอันดับที่ 17 และสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 22)
§ พลอยสี 1,814 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ขณะที่นำเข้าจากออสเตรเลียมากเป็นอันดับที่ 14)
§ เครื่องประดับเงินและทอง 8,017 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ขณะที่นำเข้าจากสิงคโปร์มากเป็นอันดับที่ 18 และเวียดนาม เป็นอันดับที่ 24)
§ เครื่องประดับเทียม 1,741 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ขณะที่นำเข้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับที่ 6)
หากความตกลง TPP มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าเป็นผู้ค้าเพชรและพลอยสีคงไม่รู้สึกหนักใจมากเพราะปกติการส่งออกไปตลาดอเมริกาเหนือก็ไม่มีอากรขาเข้าอยู่แล้ว (แต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่หากเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองอาจไม่รู้สึกหนักใจกับ TPP มากเนื่องจากอันดับการนำเข้าของสหรัฐฯ จากประเทศ TPP ยังมีไม่มาก (คู่แข่งตัวจริงของไทย ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย และยุโรป) ขณะที่เครื่องประดับเทียม อันดับการนำเข้าของเวียดนามกับไทยไม่หนีกันมากนัก ผู้ประกอบการไทยต้องปรับกลยุทธ์การตลาด การผลิต และการค้าระหว่างใหม่บ้าง เนื่องจากการส่งออกจากไทยจะเสียเปรียบด้านต้นทุนค่าภาษีเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ส่งออกจากประเทศสมาชิก TPP ที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ที่จะเกิดความได้เปรียบด้านราคามากกว่าไทยอยู่บ้าง แต่ที่สำคัญน่าจะอยู่ที่การสร้างแบรนด์ ขยันออกงานแฟร์ การออกแบบและเลือกใช้วัสดุการผลิตให้ถูกใจลูกค้า และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายมากขึ้น เอาเป็นว่าเป็น Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จนอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที