GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 15 ส.ค. 2016 08.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1448 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "รุกตลาดเครื่องประดับเทียมดินแดนภารตะ" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


รุกตลาดเครื่องประดับเทียมดินแดนภารตะ

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเทียมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลัก ในขณะที่จีนเริ่มเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าการส่งออกเหนือฮ่องกงราว 1 เท่าตัวตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ส่วนไทยเริ่มส่งออกเครื่องประดับเทียมมากขึ้นจากเป็นผู้ส่งออกในอันดับที่ 9 ในปี 2549 ขยับมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 5 ในปี 2558 ด้วยมูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี ลิกเตนสไตน์ และสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก

 

เครื่องประดับเทียมเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้สวมใส่อัญมณีและเครื่องประดับยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว ที่แม้ว่าจะไม่สามารถสะสมมูลค่าในตัวเองได้เหมือนกับเครื่องประดับแท้ แต่ก็มีความงดงามไม่แพ้กัน และยังสามารถเปลี่ยนได้บ่อยตามกระแสแฟชั่น โดยอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการขยายตัวของตลาดเครื่องประดับเทียมสูงถึง 10-20% ต่อปี การเติบโตดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และการเพิ่มขึ้นของประชากรหญิงของอินเดีย ทั้งนี้จากข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่า ในปี 2558 ตลาดเครื่องประดับเทียมของอินเดียมีมูลค่าราว 1.3 แสนรูปี

 

จับกระแสเครื่องประดับเทียมในอินเดีย

 

ผู้หญิงกับเครื่องประดับเป็นสิ่งที่คู่กัน หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 อินเดียเป็นผู้นำเข้าเครื่องประดับทองรายใหญ่รายหนึ่งของโลก โดยเป็นรองเพียงฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น ด้วยมูลค่าการนำเข้าเกือบ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปัจจุบันกระแสเครื่องประดับเทียมเริ่มมาแรงมากขึ้น โดยในปี 2558 อินเดียมีอัตราการเพิ่มของมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับเทียมเกือบ 20% ต่อปี (CAGR) โดยกว่า 65% เป็นการนำเข้าจากผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างจีน รองลงมา คือ ออสเตรีย และสิงคโปร์ ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 7 คิดเป็นมูลค่าราว 7.4 แสนเหรียญสหรัฐ

 

เดิมทีผู้ซื้อเครื่องประดับทองในอินเดียมักเป็นวัยผู้ใหญ่ ฐานะดี นิยมเครื่องประดับสไตล์อินเดีย คือ ชิ้นใหญ่ ครบชุด มีวัตถุประสงค์การเก็บสะสมเพื่อการลงทุน โดยเน้นเครื่องประดับทองเป็นหลัก แต่ปัจจุบันพฤติกรรมการซื้อเครื่องประดับเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งกลุ่มผู้ซื้อที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง และรูปแบบเครื่องประดับที่เน้นความเป็นแฟชั่นมากขึ้น โดย McKinsey Global Institute ประมาณการไว้ว่าในปี 2568 อินเดียจะมีสัดส่วนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 19% ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 41% ในอีก 10 ปีต่อมา หรือคิดเป็นจำนวน 586 ล้านคนซึ่งมากกว่าตัวเลขประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนเพียง 350 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ OECD ที่พบว่าชาวอินเดียจะเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเป็นอันดับที่ 1 เหนือจีน และสหรัฐอเมริกา

 

การเปลี่ยนผ่านจากยุคของเครื่องประดับทองมาสู่ยุคของเครื่องประดับเทียมนั้นถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่ม
หญิงสาวชนชั้นกลางของอินเดียทั้งวัยรุ่นและวัยทำงานอายุระหว่าง 15-49 ปี โดยจัดเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 55% ของประชากรอินเดียทั้งหมด โดยคนกลุ่มนี้นิยมเครื่องประดับที่เปลี่ยนได้บ่อยตามกระแสแฟชั่น มีราคาย่อมเยาสามารถจับจ่ายได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น ต่างหู กำไล สร้อยคอ รวมทั้งนิยมเครื่องประดับรูปแบบ Temple Jewellery โทนสีทอง สีแดง และเขียว ที่ทำจากวัสดุเลียนแบบทับทิม และมรกต ทั้งนี้ฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดอยู่ในนิวเดลี โดยมี Juvalia & You เป็นผู้จำหน่ายเครื่องประดับแฟชั่นรายใหญ่ที่สุด อีกเมืองหนึ่งที่มีการบริโภคเครื่องประดับเทียมสูงไม่แพ้กันคือคุร์เคาน์ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่อยู่ทางตอนใต้ของนิวเดลี

ในด้านช่องทางการจัดจำหน่ายหากจะเข้าสู่ตลาดอินเดียแล้ว ช่องทางออนไลน์เพียงช่องทางเดียว ยังไม่สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่ได้เท่ากับรูปแบบของ Omni Channel ซึ่งถูกพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้นจากทุกๆ ช่องทางที่มีไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าจริง ร้านค้าออนไลน์ และคอลเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจเลือกวิธีการส่งออกสินค้าไปยังคู่ค้าซึ่งเป็นตัวแทนนำเข้าหรือผู้ค้าปลีกในอินเดีย หรือหากผู้ประกอบการรายใดมีเงินทุนมากพอ ต้องการก่อตั้งบริษัทก็สามารถดำเนินการได้แต่จะต้องมีคนท้องถิ่นหรือบริษัทท้องถิ่นมาเป็นผู้ถือหุ้น แม้ในบางครั้งอาจเป็นเพียงการถือหุ้นแต่เพียงในนามก็ตาม

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที