GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 21 มิ.ย. 2016 10.33 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1855 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "การสร้างอุตสาหกรรมเพชรที่แข็งแกร่งของจีน" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


การสร้างอุตสาหกรรมเพชรที่แข็งแกร่งของจีน

อุตสาหกรรมเพชรในจีนไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา แม้ว่าต้องเผชิญแรงต้านจากสภาพเศรษฐกิจ แต่ตลาดเครื่องประดับจีนก็ยังคงเติบโตแต่ในอัตราที่ช้าลง บริษัทเพชร

บางแห่งกล่าวว่าธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงดำเนินไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผู้ประกอบการหลายรายได้ขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเพชรก้อน การตัดแต่งและการเจียระไน ไปจนถึงการออกแบบ ผลิต หรือทำตลาดเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเพชรของจีนยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในบทความนี้ ผู้ผลิตเพชรจะเล่าให้เราฟังถึงมุมมองต่อตลาดเครื่องประดับหรูหราในจีนและศักยภาพการเติบโตในอนาคต

การจัดหาเพชรก้อน

เพชรก้อนเป็นที่ต้องการสูงมาโดยตลอดในหมู่ผู้ค้าเพชรจีนซึ่งนำเสนอเพชรเจียระไนให้ผู้ซื้อต่างประเทศและผู้ค้าปลีกภายในประเทศ เนื่องจากช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้การบริโภคภายในประเทศพุ่งสูงขึ้น ความต้องการเพชรเจียระไนของผู้ค้าปลีกจีนจึงเริ่มสูงกว่าความต้องการของผู้ซื้อจากต่างประเทศ และเพื่อให้ครบวงจร เพชรเจียระไนแล้วที่ผู้ผลิตเครื่องประดับต่างประเทศซื้อไปก็มักกลายมาเป็นเครื่องประดับแบบสำเร็จรูปที่ขายกันในจีน

จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตเพชรรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากอินเดีย แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกเพชรในจีนซื้อเพชรเจียระไนจากผู้จัดหาต่างประเทศ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมนี้ต้องรับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูง David Wang ประธานของ Shenzhen Cheungning Diamond Co Ltd กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมนี้อาจลดการพึ่งพาการนำเข้าเพชรเจียระไนในไม่ช้านี้ ด้วยการก่อตั้ง Shenzhen Rough Diamond Exchange Co Ltd (SRDE) ซึ่งได้ลงทะเบียนเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) จากกรมศุลกากรเซินเจิ้นแล้ว Wang กล่าว

ตามข้อมูลจาก Wang นั้น SRDE ซึ่งร่วมก่อตั้งโดย Shenzhen Overseas Chinese Town Co Ltd, CITIC United Asia Investments Ltd, Beijing LDY Asset Management Co Ltd และ Shenzhen Cheungning Diamond Co Ltd เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเซินเจิ้น โดยได้รับใบอนุญาตจากเทศบาลเมืองเซินเจิ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2014 ด้วยทุนจดทะเบียน 15.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

Wang กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญความท้าทายมากยิ่งขึ้น “ธุรกิจเพชรและเครื่องประดับแสดงสัญญาณของการตกต่ำลงในช่วงไม่กี่ปี หลังมานี้ การบริโภคที่หดตัวลง บวกกับการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำให้อัตรากำไรลดลงและนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว บริษัทเพชรจึงต้องสร้างธุรกิจของตนให้เข้มแข็งและแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นเพื่ออยู่รอด” เขาอธิบาย

 

SRDE ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองความต้องการของอุตสาหกรรมนี้ โดยให้บริการด้านการเก็บรักษาสินค้า บริการคลังสินค้า การดูแลสินค้า และการเป็นตัวแทนนำเข้าเพชรก้อนและเพชรเจียระไนรวมถึงพลอยสี ตลอดจนบริการด้านการเงินสำหรับบริษัทต่างๆ ด้วย Wang กล่าว

เขายังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการสภาพคล่องในอุตสาหกรรมนี้ “ธุรกิจเครื่องประดับอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจในระดับมหภาค และการจัดการสินค้าคงคลังก็ต้องใช้ต้นทุนมหาศาล เราต้องหาหนทางที่จะช่วยให้บริษัทเพชรแก้ปัญหาสภาพคล่อง ช่วยให้บริษัทเหล่านี้ได้รับเงินลงทุนที่จำเป็นและเปิดช่องทางใหม่ๆ ในการหาเงินทุน อุตสาหกรรมนี้ใช้กลยุทธ์ ‘รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย’ โดยได้สร้างระบบกู้ยืมระหว่างบริษัทด้วยกันเองเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง SRDE สามารถช่วยอุตสาหกรรมนี้สร้างบริการที่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว”

Wang คาดว่า SRDE ซึ่งได้เริ่มเปิดดำเนินงานแล้ว จะได้รับฝากสินค้าเป็นมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016 ตัวเลขนี้น่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“ปี 2016 จะเป็นปีสำคัญของอุตสาหกรรมเพชร บริษัทควรปรับกลยุทธ์ของตนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยใช้แนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมายผ่านการสร้างแบรนด์และการสร้างภาพลักษณ์ในตลาด เราหวังว่าตลาดจะ
ฟื้นตัวและกลับมาคึกคักอีกครั้งในปีนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรมีความหวังและตั้งใจรับมือกับสถานการณ์” เขากล่าว

ความเป็นมืออาชีพ

Jack Jiang กรรมการผู้จัดการของ Eurostar Diamond (Shanghai) Co Ltd กล่าวว่าเขาคาดหวังให้ตลาดแสดงสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ “ตลาดเพชรในจีนมีความผันผวนสูงสุดในปี 2015 มันเหมือนการผ่านฤดูหนาวอันยาวนาน ไม่ใช่แค่ความผันผวนอย่างรุนแรง เราไม่ได้คาดหวังให้ครึ่งแรกของปี 2016 แตกต่างจากครึ่งหลังของปีที่แล้วมากนัก แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนและการกระจายความหลากหลายในวงจรอุตสาหกรรม เราหวังว่าจะได้เห็นการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพและความเป็นมืออาชีพมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2016” Jiang กล่าว

เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันได้ดียิ่งขึ้น Jiang เชื่อว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรวบรวมทรัพยากรและผลักดันความเป็นมืออาชีพ “สินค้าคงคลังจะลดจำนวนลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2016 ซึ่งจะนำไปสู่การปรับตัวและการสร้างมาตรฐานในตลาด ดังนั้นเราจึงมองว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2016 จะมีแนวโน้มในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น” เขากล่าว

Jiang กล่าวว่าวิกฤติจะดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมออกมา “เราลงไปถึงจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่นั่นก็เป็นโอกาสให้เราได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แบรนด์และผู้ผลิตหลายรายกำลังปรับตำแหน่งทางการตลาดให้สินค้าของตน และพยายามอาศัยประโยชน์จากจุดแข็งเดิมที่มีอยู่ ผู้ผลิตเหล่านี้จะผลิตสินค้าที่ดียิ่งขึ้นและให้บริการที่ดียิ่งขึ้นแก่ลูกค้าอย่างแน่นอน ภาคอุตสาหกรรมสินค้าหรูหราโดยรวมไม่ค่อยคึกคักนักเพราะผู้บริโภคชาวจีนซื้อสินค้าหรูหราจากประเทศอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่เครื่องประดับถือเป็นข้อยกเว้น ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา ชาวจีนซื้อเครื่องประดับในประเทศไม่ได้ซื้อจากต่างประเทศ สิ่งนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมอยู่รอดได้” เขากล่าวต่อ

ส่วนใหญ่คนซื้อเพชรในตลาดจีนเพื่อเป็นของหมั้นและของขวัญในงานแต่งงานหรือเพื่อเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง Jiang กล่าวว่าเมื่อต้องเผชิญกับการปฏิวัติจากอีคอมเมิร์ซและความนิยมเครื่องประดับสั่งทำ อุตสาหกรรมนี้จึงควรเปิดรับธุรกิจในรูปแบบ C2B (Consumer-to-Business/ จากผู้บริโภคสู่ธุรกิจ) และสร้างตลาดที่มีมาตรฐานมากขึ้น พูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า การสร้างความเป็นมืออาชีพคือทางออกตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

เขากล่าวเสริมว่า ผู้ผลิตต้นน้ำไม่เพียงต้องหาเพชรก้อนคุณภาพสูงและพัฒนาความสามารถในการผลิตเท่านั้น แต่ยังต้องรับฟังลูกค้าเพื่อจะได้เข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร ทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อสร้างความต้องการสินค้า และหันไปเน้นสินค้าที่ผลิตตามความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น

เน้นสร้างนวัตกรรม

การขาดเอกลักษณ์เฉพาะตัวและการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเพชรจีนเสมอมา Richard Shen ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tesiro ซึ่งมีร้านกว่า 500 แห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ กล่าวว่า บริษัทเน้นไปที่นวัตกรรม ไม่ว่าจะในแง่การออกแบบ การวางตลาด หรือการค้าปลีก

Shen เผยว่ายอดขายของ Tesiro ยังคงมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักในปี 2015 ที่ผ่านมา

“เราเปิดตัวเพชร Blue Flame เมื่อสองสามปีก่อน นับเป็นการเปิดตัวเพชรทรงเบลเยียมคุณภาพสูงให้แก่ผู้บริโภคชาวจีน ที่จริงแล้วสินค้าของเราแต่ละชิ้นมีเรื่องราวให้บอกเล่า การผลิตเครื่องประดับโดยมีแง่มุมเชิงวัฒนธรรมและอารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอดเกือบสองทศวรรษ ทำให้เรายังคงเติบโตแม้ต้องเผชิญความท้าทายตลอดหลายปีที่ผ่านมา” เขากล่าว

Shen ระบุว่ากลยุทธ์ทางการตลาดที่แข็งแกร่งเป็นจุดแข็งข้อหนึ่งของบริษัท “เราต้องการให้ชุดเครื่องประดับของเราได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ต้องการให้สินค้าเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้บริโภคปลายทางด้วย ซึ่งอย่างหลังนี้เราทำได้ผ่านการทำงานร่วมกับแวดวงบันเทิง” เขากล่าว

คุณค่าทางวัฒนธรรม

เมื่อปีที่แล้ว ซีรีส์ทางโทรทัศน์ Diamond Lover ซึ่ง Tesiro เป็นผู้สนับสนุน ได้ออกอากาศในจีนแผ่นดินใหญ่ ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมเรื่องนี้ช่วยให้ชุดเครื่องประดับของทางบริษัทได้เข้าถึงผู้บริโภคที่มีศักยภาพ
กลุ่มใหญ่ Shen กล่าวว่า การลงทุนครั้งใหญ่เช่นนี้หาได้ยากในอุตสาหกรรมเพชร แต่สุดท้ายก็จะให้ผลตอบแทนคุ้มค่าเพราะซีรีส์เรื่องนี้ช่วยให้ผู้ชมได้เห็นภาพของธุรกิจนี้และได้เห็นเครื่องประดับเพชรซึ่งสวมใส่โดยดารา
คนโปรด นับว่าไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเครื่องประดับโดยรวม เขาเสริมว่า Tesiro จะยังคงใช้สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ในการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเพชร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพชรทรงเบลเยียม

Shen มองอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ในจีนอย่างมีความหวัง ด้วยความที่จีนมีประชากรจำนวนมาก “จำนวนชาวจีนชนชั้นกลางเกือบเท่ากับประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา และการมีประชากรจำนวนมากย่อมหมายถึงกำลังซื้อที่สูง นอกจากนี้การที่ผู้บริโภคชาวจีนมีธรรมเนียมการซื้อเครื่องประดับเพื่อการลงทุนก็มีส่วนช่วยผลักดันยอดขาย การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคช่วยให้ชาวจีนหันมาเห็นคุณค่าของเพชรมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา และความมั่งคั่งที่เพิ่มพูนขึ้นก็หมายถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมนี้” เขากล่าว

Shen ยังได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของเครื่องประดับในวัฒนธรรมจีนอีกด้วย “เพชรเป็นมรดกตกทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ มันไม่มีทางล้าสมัย แม้กระทั่งในยุคอินเตอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซ ความต้องการเพชรในจีนมีแต่จะเพิ่มขึ้นตามระดับคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น กุญแจสำคัญคือการนำเสนอให้ตรงใจผู้บริโภค ซึ่งจุดนี้เองที่แง่มุมทางวัฒนธรรมของเครื่องประดับจะเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค” เขากล่าว

------------------------------------------

ที่มา “Building a strong diamond industry in China.” JNA. (March 2016: pp. 72-74).

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที