GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 11 พ.ค. 2016 11.30 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5899 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "นพรัตน์ หรือ นพเก้า อัญมณีมงคล 9 ชนิด คู่อารยธรรมไทย" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


นพรัตน์ หรือ นพเก้า อัญมณีมงคล 9 ชนิด คู่อารยธรรมไทย

โดย นายทนง ลีลาวัฒนสุข หัวหน้าห้องปฎิบัติการตรวจสอบอัญมณี สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 

แบรนด์ Buasuwan Jewelry

นพรัตน์ หรือ นพเก้า หมายถึง อัญมณีมงคล 9 ชนิด ที่ชาวเอเชียโดยเฉพาะในแถบอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ตลอดจนทุกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่าเป็นอัญมณีมงคล ซึ่งในภาษาสันสกฤตเรียกว่า "เนาวรัตน" รวมถึงภาษาฮินดี เมียนมา อินโดนีเซีย และเนปาล ส่วนในภาษาสิงหลเรียก "นวรัตเน" และในภาษาไทยเรียก "นพรัตน์" ความเชื่อในเรื่องดังกล่าวเป็นความเชื่อที่อยู่คู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาแต่ดั้งเดิมจึงไม่ปรากฏที่มา

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับนพรัตน์เป็นอย่างมาก ตามมาด้วยอินเดีย โดยปรากฎการใช้นพรัตน์สำหรับประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง และคำว่านพรัตน์ยังปรากฎเป็นส่วนหนึ่งในชื่อของกรุงเทพมหานคร ที่พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 อีกด้วย แต่ความเชื่อโดยทั่วไปมักเชื่อว่านพรัตน์จะช่วยให้ผู้สวมใส่มีสุขภาพที่ดี ร่ำรวย และ ทำให้ใจสงบ แต่เมื่อต้องการจะซื้ออัญมณีมงคลทั้งเก้าชนิดที่ว่านี้ไว้ครอบครอง มักเกิดคำถามว่าแท้จริงนพรัตน์ประกอบด้วยพลอยอะไรบ้าง

จากตำรานพรัตน์ของไทย เรามักท่องจำกันจนขึ้นใจว่าอัญมณีทั้ง 9 นั้น ประกอบด้วย “เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์” แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าในทางวิชาการนั้นอัญมณีแต่ละชนิดหมายถึงพลอยชนิดใด จึงจะได้อธิบายให้ทราบกันไว้ ณ ที่นี้  

1. เพชรดี  เพชร (Diamond) คืออัญมณีที่มีความแข็งสูงที่สุดคือ ระดับ 10 ตามมาตรฐานความแข็งของโมสห์ เพชรที่ดีสามารถประเมินได้โดยใช้มาตรฐาน 4 Cs กล่าวคือจะต้องมีสีขาวหรืออาจมีแกมเหลืองเล็กน้อย มีเนื้อใสสะอาด และการเจียระไนด้วยเหลี่ยมมุมที่ถูกต้องจึงจะสามารถดึงประกายความงามของเพชรออกมาได้ แหล่งเพชรที่สำคัญได้แก่ ประเทศแอฟริกาใต้ คองโก นามิเบีย ออสเตรเลีย รัสเซีย เป็นต้น เพชรนั้นนอกจากเพชรขาวที่ใช้กันโดยทั่วไปแล้ว ยังมีเพชรสีต่างๆ ที่เรียกว่า เพชรสีแฟนซี (Fancy Colour) ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง สีชมพู สีฟ้า สีดำ เป็นต้น

2. มณีแดง มักหมายถึง พลอยทับทิม (Ruby) จัดเป็นพลอยเนื้อแข็งประเภทคอรันดัม (corundum) ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทับทิมที่ดีต้องมีสีแดงสด ไม่เข้ม หรือ อ่อนจนเกินไป มีสีแกมม่วงหรือส้มไม่เด่นชัด ถ้าเจียระไนได้สัดส่วนดีก็จะยิ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีแหล่งสำคัญคือ เมียนมา  มาดากัสการ์ โมแซมบิก เป็นต้น ส่วน “ทับทิมสยาม” นั้นเป็นทับทิมที่พบในจังหวัดตราดเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว ในปัจจุบันไม่มีการทำเหมืองในแหล่งดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังมีหมุนเวียนอยู่ในตลาด มีคุณค่าและราคาสูงในนามทับทิมสยาม

3. เขียวใสแสงมรกต  ปัจจุบันมักหมายถึงพลอยมรกต (Emerald) ซึ่งจัดเป็นพลอยเนื้ออ่อนประเภทเบริล (Beryl) ที่มีสีเขียว นอกจากนี้ยังมีสีอื่นๆ อีกหลายสี เช่น สีฟ้าเรียก อะความารีน สีชมพูเรียก มอร์แกไนต์ เป็นต้น มรกตคุณภาพดีต้องมีสีเขียวสดเข้ม เนื้อสะอาด เจียระไนได้สัดส่วน  แหล่งมรกตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ โคลัมเบีย แต่ในท้องตลาดปัจจุบันนอกจากมรกตจากแหล่งโคลัมเบียแล้ว มรกตจากแหล่งอื่นๆ เช่น แซมเบีย และ บราซิลก็ได้รับความนิยมเช่นกัน  

4. หลืองใสสดบุษราคัม   คำว่าบุษราคัมแต่เดิมมักมีความหมายกว้างๆ หมายถึง อัญมณีสีเหลือง ซึ่งเป็นได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโทแพซสีเหลือง หรือควอตซ์สีเหลือง (ซิทริน) แต่ในปัจจุบันบุษราคัมจะหมายถึงพลอยแซปไฟร์สีเหลือง (Yellow Sapphire) เท่านั้น ซึ่งจัดเป็นพลอยเนื้อแข็งประเภทคอรันดัมเช่นเดียวกับทับทิม แหล่งพลอยบุษราคัมที่สำคัญ อาทิเช่น ไทย ศรีลังกา มาดากัสการ์ เป็นต้น โดยบุษราคัมที่ดีนั้นจะต้องมีสีเหลืองสด ถึงเหลืองเข้มอาจจะแกมส้ม หรือน้ำตาลได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่พบ

5. แดงแก่ก่ำโกเมนเอก คำว่าโกเมนนั้นเป็นชื่อที่หมายถึงอัญมณีในตระกูลการ์เนต (Garnet) ที่มีสมาชิกอยู่หลายชนิด มีความหลากหลายของสีเป็นอย่างมาก แต่ที่พบมากที่สุดจะเป็นการ์เนตอัลมันไดต์ (Almandite) มีสีแดงเข้มออกคล้ำ ซึ่งเป็นที่มาของการบรรยายสีในบทกลอนว่า “แดงแก่ก่ำ” นั่นเอง ปัจจุบันนอกจากการ์เนตชนิดสีแดงแล้ว ยังมีสีอื่นๆ อีกหลายชนิดและเป็นที่นิยมมากในหลายประเทศ  ได้แก่ ซาร์โวไรต์ (Tsavorite) ซึ่งมีสีเขียวคล้ายมรกต การ์เนตสเปสซาไทต์ (Spessartite) ที่มีสีส้มสด ถึงส้มแกมน้ำตาล แหล่งโกเมนชนิดต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ แหล่งในประเทศในแอฟริกา เช่น นามิเบีย โมซัมบิก แทนซาเนีย เคนยา เป็นต้น  

6. สีหมอกเมฆนิลกาฬ นิลกาฬหมายถึงพลอยไพลิน (Blue Sapphire) ซึ่งจัดเป็นพลอยเนื้อแข็งประเภทคอรันดัม คำว่านิลกาฬเป็นคำดั้งเดิมที่คนไทยมักใช้เรียกคอรันดัมเนื้อขุ่นสีน้ำเงินแกมเทาหรือแกมฟ้าที่ได้จากเมียนมา มักเรียกกันว่า นิหล่า และเมื่อมีการค้นพบพลอยแซปไฟร์สีน้ำเงินที่เมืองไพลิน ประเทศกัมพูชา คนไทยในสมัยต่อมาจึงมักนิยมใช้คำว่า ไพลิน เป็นคำเรียกแทนนิลกาฬ จนทำให้ชื่อนิลกาฬแทบจะลืมเลือนไปในตลาด ไพลินที่ดีต้องมีสีน้ำเงินสด ไม่เข้ม หรือ อ่อนจนเกินไป มีสีแกมม่วงจะดีกว่าสีแกมเขียว ถ้าเจียระไนได้สัดส่วนดีก็จะยิ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แหล่งสำคัญของไพลินได้แก่ ศรีลังกา เมียนมา มาดากัสการ์ แทนซาเนีย เป็นต้น

7. มุกดาหารหมอกมัว ปัจจุบันมุกดาหารมีความหมายรวมได้ทั้ง พลอยมุกดาหาร (Moonstone) และ มุก (Pearl)  ซึ่งมุกดาหารหรือ Moonstone จัดเป็นพลอยเนื้ออ่อนที่มีปรากฎการณ์เหลือบแสง (Adularescence)  ซึ่งมีเนื้อขุ่นจนถึงใสและพบได้หลายสี เช่น ขาว ส้ม เทา  ฟ้า เป็นต้น พลอยชนิดนี้พบได้ทั่วไป แต่แหล่งที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา และหลายประเทศในแถบแอฟริกา เป็นต้น ส่วนมุกนั้นจัดเป็นอัญมณีอินทรีย์ชนิดหนึ่ง มุกที่วางขายในท้องตลาดแทบทั้งหมดจัดเป็นมุกเลี้ยง (Cultured Pearl) ปัจจุบันมีทั้งมุกเลี้ยงน้ำเค็ม ซึ่งเป็นมุกเลี้ยงชนิดใส่แกนกลม มีการเลี้ยงกันมากในประเทศออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น หมู่เกาะตาฮิติ ส่วนมุกเลี้ยงน้ำจืดมักเป็นการเลี้ยงแบบไม่ใส่แกนกลม มีแหล่งสำคัญคือประเทศจีน อย่างไรก็ตาม มุกเลี้ยงก็เป็นที่ยอมรับในตลาดและเรียกว่าเป็นมุกแท้ได้ ส่วนมุกธรรมชาตินั้น ปัจจุบันหายากและมีราคาสูงมาก มีเฉพาะบางประเทศในแถบตะวันออกกกลางเท่านั้นที่อนุญาตให้สามารถล่าหอยมุกธรรมชาติเพื่อหามุกได้ เช่น ประเทศบาห์เรน เป็นต้น

8. แดงสลัวเพทาย พลอยเพทายหรือเซอร์คอน (Zircon) ที่พบตามธรรมชาติโดยทั่วไปมักมีสีแดงแกมน้ำตาล ซึ่งก็เป็นที่มาของสีที่อยู่ในบทกลอนว่า “แดงสลัว” แต่ที่พบว่าเป็นสีฟ้า หรือไร้สีในท้องตลาดนั้นเกิดจากการเอาเพทายสีน้ำตาลไปปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน โดยแหล่งเพทายที่จัดได้ว่าสามารถนำมาเผาได้ให้เป็นสีฟ้าเข้มสดใสสวยงามมากคือ แหล่งรัตนคีรี ในประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ เพทายยังมีสีอื่นๆ อีกมาก เช่น ส้ม เหลือง เขียว ชมพู เป็นต้น และพบได้หลากหลายแหล่งทั้งในไทย อินเดีย ศรีลังกา กลุ่มประเทศในแอฟริกา เป็นต้น

9. สังวาลย์สายไพฑูรย์   ไพฑูรย์ในทางอัญมณีหมายถึง อัญมณีประเภทคริโซเบริล (Chrysoberyl) สีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียวโดยต้องมีปรากฎการณ์ตาแมว (Cat’s eye) คุณภาพของไพฑูรย์นั้นจะอยู่ที่ความคมชัดของตาแมวที่ปรากฎ โดยจะต้องมองเห็นลักษณะคล้ายตาแมวเป็นเส้นตรง อยู่ตรงกลางพลอยที่เจียระไนแบบหลังเบี้ย และมีความคมชัด จึงจะเรียกว่าคุณภาพดี แต่ทั้งนี้พลอยคริโซเบริลเองนั้นไม่ได้มีเฉพาะชนิดที่มีปรากฏการณ์ตาแมวเท่านั้น แต่ยังมีชนิดที่มีเนื้อใสเหมือนแก้วด้วย แหล่งของคริโซเบริลมีหลายแห่ง ที่สำคัญได้แก่ ศรีลังกา อินเดีย รัสเซีย มาดากัสการ์ แทนซาเนีย เป็นต้น 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที