ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับได้รับเกียรติจากคุณพรเสริฐ ศรีอรทัยกุล ประธานชมรมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาตรฐาน (Jewel Fest Club) และประธานกรรมการบริษัท เวิลด์ คริสเติล จำกัด ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองต่อตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศ รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง
กลุ่มผู้ซื้อหลักๆ นอกจากคนไทยแล้ว ก็เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวกันทั้งแบบมาเป็นกรุ๊ปทัวร์และแบบนักท่องเที่ยวอิสระ เพียงแต่ช่วงนี้อาจลดจำนวนลงไปบ้างเพราะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยทั่วไปแล้วนักท่องเที่ยวจีนจะชอบซื้อเครื่องประดับไทยมาก แต่เดี๋ยวนี้อาจเปลี่ยนไปจากเดิมที่ซื้อสินค้าหรูๆ แพงๆ ก็หันมาซื้อเครื่องประดับชิ้นที่ราคาถูกลงแทน ปีหนึ่งๆ ประเทศไทยมียอดขายอัญมณีและเครื่องประดับให้กับนักท่องเที่ยวจีนราว 20,000-30,000 ล้านบาททีเดียว
นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ชอบซื้อเครื่องประดับทองตกแต่งอัญมณี โดยเฉพาะพลอยโทนสีแดง สีเขียว สีเหลือง อย่างเช่น ทับทิม มรกต บุษราคัม เพราะถือเป็นสีมงคล แต่ก็ในระดับคุณภาพที่ราคาไม่สูงนัก
คนจีนจะไม่นิยมพลอยสีเข้ม สีคล้ำ สีเทา สีดำ ลูกค้าที่ซื้อพลอยร่วงส่วนใหญ่มักเลือกซื้อพลอยขนาดใหญ่แบบไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ เว้นแต่พลอยเม็ดเล็กถึงจะเลือกซื้อแบบเผาได้
กระแสนักท่องเที่ยวจีนจะอยู่อีกนานไหมคะ
ในอนาคตผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่รูปแบบการท่องเที่ยวอาจเปลี่ยนไป น่าจะนิยมมาเที่ยวกันเองมากขึ้นและมากกว่ามากับกรุ๊ปทัวร์ ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้ ต้องพยายามเพิ่มทักษะภาษาจีนให้กับพนักงานขาย เพื่อให้โต้ตอบภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว แนะนำสินค้าและให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับประเภทต่างๆ ได้ เรื่องพวกนี้จำเป็นมาก เพราะจะช่วยเพิ่มยอดขายและกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น
กลุ่มผู้ซื้อที่เป็นนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ หล่ะคะ
แต่เดิมกลุ่มลูกค้ายุโรปอเมริกาเป็นผู้ซื้อหลักในตลาดนักท่องเที่ยว เดี๋ยวนี้ลดจำนวนลงไปมาก คนอเมริกันยังมีกำลังซื้อค่อนข้างสูงนะครับ ยอดซื้อต่อครั้งเฉลี่ย 200,000-500,000 บาท ถ้าเศรษฐกิจอเมริกากลับมาฟื้นตัวขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน แนวโน้มนักท่องเที่ยวอเมริกันก็น่าจะกลับมาเที่ยวบ้านเรามากเหมือนเดิม
ส่วนญี่ปุ่นกับรัสเซียในแง่นักท่องเที่ยวที่มาไทยก็ลดจำนวนลงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยลง ขณะเดียวกันฝ่ายผู้ซื้อผู้นำเข้าในสองประเทศนี้ก็ลดปริมาณการสั่งซื้อสินค้าลง บริษัท เวิลด์ คริสเติล จำกัด เองที่แต่เดิมมีคู่ค้าญี่ปุ่นในสัดส่วนร้อยละ 80 ตอนนี้ก็เหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เศรษฐกิจเขายังไม่ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ
เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศทำให้ภาวะการค้าในปัจจุบันฝืดจริงๆ ครับ ร้านค้าปลีกรายย่อยแถวย่านสีลม สุรวงศ์ บางส่วนก็เริ่มปิดกิจการไปแล้ว เว้นเพียงธุรกิจการค้าในจังหวัดที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมไปกันอย่างภูเก็ต พัทยา หรือตามพื้นที่จังหวัดการค้าชายแดนอย่าง แม่สอด แม่สาย ที่ประเทศเพื่อนบ้านนิยมข้ามแดนมาจับจ่ายใช้สอย แถวนั้นการค้ายังคงคึกคักอยู่
สถานการณ์การค้าทั้งในและต่างประเทศยังน่าเป็นห่วง ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร
หลายปีมานี้เศรษฐกิจโลกมีแต่ทรงกับทรุด การขายอัญมณีและเครื่องประดับให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็อย่างที่กล่าวไปแล้ว ในส่วนการส่งออก คำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างชาติลดน้อยลงมาก เดี๋ยวนี้การรับจ้างผลิตล๊อตหนึ่งๆ แม้ว่าจะได้กำไรไม่สูงนัก บริษัทก็ต้องรับงานไว้เพื่อให้ช่างฝีมือในโรงงานมีงานทำต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยจะต้องรุกทำตลาดกันเองมากขึ้น อย่ามัวแต่นั่งรอคำสั่งซื้อจากลูกค้าเหมือนแต่ก่อน เราต้องเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิตไปสู่การมีรูปแบบสินค้าและมีแบรนด์ของเราเอง ใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการผลิตเพื่อลดต้นทุน และสร้างนวัตกรรมการผลิตการออกแบบให้ตอบโจทย์แต่ละตลาดเป้าหมาย ที่สำคัญก็คือ ต้องเร่งหาลู่ทางขยายโอกาสการส่งออกให้ได้
“ผู้ประกอบการไทยจะต้องรุกทำตลาดกันเองมากขึ้น อย่ามัวแต่นั่งรอคำสั่งซื้อจากลูกค้าเหมือนแต่ก่อน เราต้องเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิตไปสู่การมีรูปแบบสินค้าและมีแบรนด์ของเราเอง”
ผมเห็นว่าผู้ประกอบการไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเร่งด่วน เพราะเดี๋ยวนี้การแข่งขันในตลาดโลกรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะจากพ่อค้าอินเดียและศรีลังกาที่พยายามช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอัญมณีจากไทย พ่อค้าพวกนี้อดทนและมุมานะในการแสวงหาวัตถุดิบจากเหมืองพลอยสีทั่วโลก พัฒนาฝีมือการผลิต เรียนรู้เทคนิคการเผาพลอยและการเจียระไนพลอยจนมีฝีมือทัดเทียมกับคนไทยแล้ว ผู้ค้ากลุ่มนี้จะมีต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ภาครัฐของเขาก็ยังให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ช่วยอำนวยความสะดวกในทุกทางทั้งเรื่องพิธีการศุลกากรและกฎระเบียบการนำเข้าส่งออก ทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านเข้าออกได้ง่ายและรวดเร็ว
ต้องการได้รับความช่วยเหลืออะไรจากภาครัฐบ้างคะ
เท่าที่ทราบขณะนี้ภาครัฐเองก็ให้ความช่วยเหลือด้วยการออกมาตรการทางภาษีต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าและการขายพลอยก้อนในประเทศ โดยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 1% และไม่ต้องนำรายได้มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกรอบ อันที่จริงมาตรการนี้ก็ดีนะครับ แต่ในทางปฎิบัติแล้วผู้ค้าพลอยสีส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อย
พวกนี้อาจได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ไม่เต็มที่นัก เพราะยังเกรงกันว่าจะถูกสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ธุรกิจอัญมณีมักไม่มีการออกเอกสารหรือใบเสร็จการซื้อขายที่จะเป็นหลักฐานแสดงต่อกรมสรรพากร คงต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่งกว่าทุกอย่างจะเข้าระบบอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมตรงที่ช่วยให้วัตถุดิบพลอยสีไหลเวียนเข้ามาในไทยได้มากยิ่งขึ้น ปัจจัยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้หลักๆ ก็มีเรื่องการไหลเข้าของวัตถุดิบที่เรานำมาสร้างมูลค่าเพิ่มกับการมีแรงงานฝีมือที่เหนือกว่าคู่แข่งนั่นแหล่ะครับ
แล้วในส่วนของแรงงานฝีมือตอนนี้มีเพียงพอกับความต้องการไหมคะ
สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับต้องใช้แรงงานฝีมือตลอดกระบวนการผลิตตั้งแต่เจียระไนอัญมณีไปถึงการขึ้นตัวเรือนเครื่องประดับ ฝัง ชุบ ขัดเงา จนออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป ตอนนี้เราขาดแคลนแรงงานฝีมือค่อนข้างมากเพราะบางส่วนก็หันไปทำงานในภาคเกษตรในช่วงที่สินค้าเกษตรราคาสูง พวกนี้พอกลับไปทำเกษตรแล้วก็ออกจากอุตสาหกรรมนี้ไปเลย ครั้นจะหันไปใช้แรงงานต่างด้าวอย่าง คนลาว คนเมียนมาส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีทักษะฝีมือมากนัก แล้วก็ชอบเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ไม่ยอมอดทนทำงานที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน พวกนี้จึงไม่เหมาะกับงานอัญมณีเครื่องประดับ เพราะงานนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและสั่งสมความชำนาญจนมีฝีมือทักษะเชิงช่าง ช่างเจียระไนพลอยต้องใช้เวลาฝึกราว 6 เดือน ช่างทำเครื่องประดับใช้เวลา 1-2 ปี แต่ถ้าจะเก่งจนถึงขั้นเชี่ยวชาญเลยต้องใช้เวลากว่า 10 ปีขึ้นไป
เด็กไทยรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ก็มุ่งเรียนปริญญาตรีแล้วทำงานในบริษัทมากกว่าโรงงาน นักเรียนที่จบมาจากโรงเรียนวิชาชีพด้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะส่วนใหญ่ก็มักรับงานเป็นช่างอิสระหรืออาจตั้งกิจการของตัวเอง ไม่ชอบทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทกันแล้ว อีกอย่างบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทยก็มีการจ้างแรงงานจำนวนมากและอาจให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่จูงใจกว่า ทำให้บริษัทคนไทยขาดแคลนแรงงานกันมาก ผมว่าปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานฝีมือน่าจะเป็นอีกปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ฝากทิ้งท้ายถึงเพื่อนๆ ร่วมวงการสักหน่อยค่ะ
ผมอยากให้ผู้ประกอบการร่วมมือกันอย่างเป็นปึกแผ่น ทั้งชมรมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาตรฐาน Jewel Fest Club และโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ Buy with Confidence เราควรรวมตัวกันอย่างมีเอกภาพ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมเผยแพร่แบ่งปันข้อมูลด้านการตลาดการค้าระหว่างกัน เพื่อให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันเราก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ช่วยให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้อย่างมีมาตรฐาน มั่นคง สร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าขายสินค้า ในการทำธุรกิจนั้น เราจะต้องซื่อสัตย์ต่อการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค มีศีลธรรมจริยธรรมในการค้า สร้างวินัยในการค้าขาย หากเราสร้างความเชื่อถือได้ ลูกค้าก็จะไว้ใจและยินดีที่จะซื้อสินค้าจากเรา
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที