GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 เม.ย. 2016 07.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1785 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "ควันหลงจากงาน BaselWorld Watch and Jewellery Show 2016" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


ควันหลงจากงาน BaselWorld Watch and Jewellery Show 2016

โดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา1

งาน BaselWorld Watch and Jewellery Show เป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าอัญมณี เครื่องประดับ และเครื่องมือเครื่องใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ รวมถึงการจัดแสดงนาฬิกาแบรนด์หรูระหว่างประเทศที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและแสดงคอลเลคชั่นล่าสุดของสินค้าในวงการ ศูนย์แสดงสินค้า BaselWorld ตั้งอยู่ในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีพรมแดนติดกันของสามประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส การจัดงานในแต่ละปีจะมีผู้เข้าชมกว่าแสนคนจากกว่าร้อยประเทศทั่วโลก การจราจรค่อนข้างติดขัด ปิดถนนกันจนกระทั่งหาที่จอดรถกันแทบไม่ได้ บางคนกว่าจะหาที่จอดได้ ต้องเดินกันไกลถึงเกือบสองกิโลเมตร ผู้คนส่วนใหญ่จึงนิยมเดินทางเข้าไปโดยใช้ระบบการขนส่งทางรางเข้าไปเที่ยวชมงาน

ผมได้มีโอกาสไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงเดียวกับที่เกิดเหตุความไม่สงบในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพอดี แม้เกิดเหตุความไม่สงบ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสน่ห์ของงานอัญมณีและเครื่องประดับและนาฬิกาหรูระดับโลก ณ เมืองบาเซิล จางหายไป โดยปีนี้เป็นการจัดงานปีที่ 99 ผู้คนในวงการนาฬิกาและเครื่องประดับยังคงให้ความสนใจในการเข้าชมเช่นเคย ค่าเข้าชมงานราคาค่อนข้างสูงสไตล์งานหรูระดับโลก หากเดินทางไปชมงานเพียงวันเดียวจะเสียค่าเข้าชม 60 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 2,200 บาท) แต่ถ้าเข้าชมหลายวันและซื้อตั๋วแบบเหมาชมทุกวันตลอดงาน 8 วัน เสียค่าเข้าชมเหมารวมคนละ 150 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 5,500 บาท) โดยปี 2017 ผู้จัดก็จะยังคงยืนราคาค่าเข้าชมเช่นเดิม หากเปรียบกันแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าชมส่วนของนาฬิกาหรูมากกว่าส่วนของอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไปของการจัดงานบาเซิล โดยบูธที่มีผู้เข้าชมหนาแน่นจะเป็นกลุ่มนาฬิกาหรูตลาดบน เช่น Patek Philippe, Rolex, Hublot และ Omega เป็นต้น

ในส่วนการจัดงานด้านอัญมณีและเครื่องประดับ งานนี้ผู้คนในวงการอัญมณีและเครื่องประดับได้มีส่วนเข้าร่วมจัดงาน โดยหน่วยงานสำคัญที่มาจากฝั่งยุโรป ได้แก่ German Diamond and Gemstone Laboratories, German Gemological Association, HRD Antwerp Diamond High Council, Swiss Gemological Institute, Gemological Association of Great Britain หน่วยงานจากฝั่งตะวันออกกลาง ได้แก่ Israel Diamond Institute, Israel Diamond Institute Group of Companies และ Israel Export Institute หน่วยงานจากฝั่งเอเชีย ได้แก่ สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ Thai Gems and Jewelry Traders Association, India Gem and Jewellery Export Promotion Council, Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) และหน่วยงานฝั่งอเมริกาเหนือและละติน ได้แก่ GIA, Brazilian Gems and Jewellery Trade Association เป็นต้น

ในส่วนของประเทศไทยในปีนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ Thailand Pavilion ใน Hall 4 ชูจุดขาย Thailand: World’s Ruby Capital ประเทศไทย เมืองหลวงแห่งทับทิมของโลก และ Thailand: World’s Gems and Jewelry Free Trade Hub ประเทศไทย ศูนย์การการค้าเสรีอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ สมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรูปแบบการจัดงานยังคงคล้ายคลึงกันปีที่ผ่านมา โดยไทยยังคงชูจุดขายเดิมเช่นเดียวกับที่ใช้ในงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair  ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมมีทั้งกลุ่มที่เข้าร่วมกับสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และกลุ่มที่นำสินค้ามาจัดแสดงเอง โดยผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นคนเชื้อสายอินเดีย สินค้าที่นำมาแสดงมีทั้งอัญมณีหลากหลายประเภท เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน ในขณะที่ทาง HKTDC ของฮ่องกงก็ได้สนับสนุนผู้ประกอบการฮ่องกงเข้าร่วมงานและอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนใน Hong Kong Pavilion เช่นเดียวกัน โดย Hong Kong Pavilion มีขนาดพื้นที่จัดงานใหญ่กว่าของไทยชูจุดขายความพร้อมของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางของโลกในด้านการค้า นวัตกรรม และการทำธุรกิจเครื่องประดับ นาฬิกา อุปกรณ์เครื่องมือในการทำนาฬิกา และบรรจุภัณฑ์เครื่องประดับ

 

ในส่วนของการประเมินสภาพการค้าอัญมณี พบว่า (1) มรกต ตลาดโลกยังคงมีความต้องการมรกตจากโคลัมเบียอยู่ ขณะที่ความต้องการมรกตแซมเบียลดลง รวมถึงราคามรกตโคลัมเบียปรับตัวสูงขึ้นหลังจากค่าเงินเปโซโคลัมเบียแข็งค่าขึ้น (2) ทับทิม ตลาดโลกยังคงมีความต้องการทับทิมจากเมียนมาอยู่เช่นเดิม ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถปรับราคาเพิ่มขึ้นได้มากนัก นอกจากนี้ ความต้องการทับทิมขนาด 7 – 15 กะรัตจากโมซัมบิกคุณภาพดียังคงมีอยู่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำด้านการเจียระไนทับทิมและพลอยสีอื่นๆ (3) เพชร ตลาดโลกมีความต้องการเพชรขนาดใหญ่และเพชรโทนสีขาวลดลง ขณะที่ต้องการเพชรแบบ Fancy Shape และ Fancy Color เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเพชรสีชมพูและสีน้ำเงิน  

ในภาพรวม งาน BaselWorld 2016 ในปีนี้ ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งกลุ่มอัญมณี เครื่องประดับ และนาฬิกาหรูต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยทั่วไปยังไม่สู้ดีนัก (Gloomy) อันเกิดจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความไม่มั่นคงทั่วโลก อำนาจซื้อเฉลี่ยของจีนลดลง ปัญหาความมั่นคงและก่อการร้ายในยุโรปและการสู้รบในตะวันออกกลาง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในรัสเซีย ญี่ปุ่น ยุโรป และปัญหาค่าเงินฟรังก์สวิสมีการแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก ส่งผลให้การซื้อขายในงานไม่คึกคักเท่าที่ควร บางบูธมีแต่คนขายเดินไปเดินมาคุยกันเอง ในภาพรวมปี 2016 จึงเป็นปีหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของคนในวงการอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงวงการนาฬิกาหรูของโลกในการปรับรูปแบบการทำตลาด การกำหนดราคา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และแบรนด์ ปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้า จากข้อสังเกตในงาน BaselWorld 2016 ซึ่งเป็นการจัดปีที่ 99 ทั้งหมดข้างต้น ภาคเอกชนและภาครัฐคงต้องร่วมมือกันให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นเพื่อหา New S Curve ให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย



1 อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที