คาดกันว่า ‘ราชินีแห่งอัญมณี’ จะยังคงเป็นที่ต้องการต่อเนื่องจากการเติบโตของตลาดเครื่องประดับทันสมัยที่เน้นสีสัน JNA จะมาสำรวจวัตถุดิบจากโมซัมบิกซึ่งได้รับความสนใจจากตลาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เจาะลึกไปยังเหตุผลเบื้องหลังความนิยมอัญมณีชนิดนี้ รวมถึงพูดคุยกับผู้ประกอบการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีวิทยาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทับทิม
ทับทิมโมซัมบิกกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงเครื่องประดับ ตั้งแต่แบรนด์หรูหราชั้นสูงในยุโรปไปจนถึงบริษัทนักออกแบบชั้นนำในเอเชียด้วยมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งทับทิมที่เพิ่งได้รับการค้นพบและมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เหมืองทับทิม Montepuez ในโมซัมบิก ซึ่งมีบริษัท Montepuez Ruby Mining Limitada หรือ MRM เป็นผู้ทำการสกัดแร่ (หุ้นร้อยละ 75 เป็นของ Gemfields อีกร้อยละ 25 เป็นของบริษัท Mwiriti Limitada ซึ่งเป็นหุ้นส่วนภายในประเทศ) ได้ป้อนทับทิมเกรดดีให้ตลาดเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน รวมถึงอัญมณีที่ระดับคุณภาพสูงสุดด้วย
เหมืองทับทิม Montepuez ครอบคลุมพื้นที่ 33,600 เฮกเตอร์ และตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโมซัมบิกในจังหวัด Cabo Delgado เหมืองทับทิมแห่งนี้ใช้เวลาขับรถราวสองชั่วโมงจากเมืองชายฝั่ง Pemba ซึ่งมีสนามบินและท่าเรืออันทันสมัย บริษัท Montepuez ถือสัมปทานการทำเหมืองและการสำรวจพื้นที่บริเวณนี้เป็นเวลา 25 ปี โดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโมซัมบิกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011
Vincent Pardieu ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายอัญมณีวิทยาภาคสนามประจำกรุงเทพของ Gemological Institute of America (GIA) เชื่อว่าการค้นพบทับทิมที่เหมือง Montepuez จะส่งผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมทับทิม “เนื่องจากปริมาณและคุณภาพของทับทิมที่เหมืองแห่งนี้ผลิตได้และจะผลิตต่อไปในอนาคตข้างหน้า”
“เหมืองแห่งนี้ผลิตอัญมณีชั้นดีซึ่งต้องการเพียงการตัดแต่งและเจียระไนเพื่อนำมาใช้ในเครื่องประดับ ในตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจคืออัญมณีกลุ่มอื่นๆ จากเหมืองแห่งนี้ที่มีสีเข้มเกินไปหรือมีความโปร่งใสไม่เพียงพอก็สามารถนำมาปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนจนได้อัญมณีที่งดงามซึ่งสามารถหาตลาดได้เช่นกัน หมายความว่าเหมืองแห่งนี้ป้อนอัญมณีให้ผู้ประกอบการหลายส่วนในอุตสาหกรรมและอาจครองตลาดในช่วงหลายปีข้างหน้า” Pardieu กล่าว เขาได้เดินทางไปเยี่ยมชมเหมืองทับทิม Montepuez ให้ทาง GIA Laboratory มาแล้วห้าครั้งตั้งแต่ปี 2009
การที่เหมือง Montepuez ดำเนินงานโดย Gemfields ซึ่งได้พยายามเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำเหมือง รวมถึงการขายทับทิมและพลอยสีโดยรวมนั้น “จะเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในธุรกิจทับทิม” เขากล่าวต่อ
“นอกจากเมืองโมกก (Mogok) ในยุคอาณานิคมอังกฤษ การผลิตทับทิมในอดีตส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของกิจการขนาดเล็กของครอบครัวในเอเชียซึ่งไม่ต้องการลงทุนด้านการตลาดอย่างแท้จริง เมื่อมีการค้นพบแหล่งอัญมณีขนาดใหญ่เช่นนี้และมีบริษัทอย่าง Gemfields เป็นผู้ทำเหมือง เราจึงคาดได้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงและอาจมีการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ทับทิมอย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้นี้” Pardieu เสริม
การประมูลทับทิม Montepuez
Ian Harebottle ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Gemfields บรรยายว่าปี 2015 เป็น “ปีที่ยอดเยี่ยม” ของทับทิมโมซัมบิก
“ราคาต่อกะรัตยังรักษาระดับได้มั่นคงอยู่ และความต้องการมีสูงเพราะตลาดเริ่มคุ้นเคยกับคุณภาพของผลผลิตที่ได้มากขึ้น รวมถึงรับรู้มากขึ้นว่าทับทิมชั้นดีของโมซัมบิกนั้นเทียบได้กับทับทิมชั้นดีของเมียนมาเป็นอย่างน้อย” Harebottle กล่าว
“เรายังสังเกตเห็นแนวโน้มจากการที่ผู้ผลิตเครื่องประดับชั้นนำของโลกหันมาใช้และส่งเสริมทับทิมโมซัมบิกเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย Cartier ก็เพิ่งวางแคมเปญหลักว่าด้วยชุดเครื่องประดับทับทิมโมซัมบิกที่เข้าคู่กัน”
ในช่วงปีซึ่งไปจบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2015 Gemfields รายงานว่าทำรายได้ 171.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.86 จากปีงบประมาณก่อน ผลผลิตทับทิมและคอรันดัมรวมอยู่ที่ 8.4 ล้านกะรัตต่อปี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่าร้อยละ 29 เมื่อคิดจากปริมาณที่ผ่านการแปรรูปแล้ว
ที่ผ่านมา Gemfields จัดการประมูลทับทิมก้อนและคอรันดัมก้อนซึ่งผลิตที่โรงงาน Montepuez ไปแล้วห้าครั้ง (การประมูลครั้งที่ห้ายังคงดำเนินอยู่ขณะตีพิมพ์บทความนี้) ในการประมูลสี่ครั้งแรก มีการขายอัญมณีไปประมาณ 5.9 ล้านกะรัต คิดเป็นรายได้จากการประมูลรวม 122 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการประมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2014 ทำราคาเฉลี่ยต่อกะรัตได้สูงสุดที่ 689 เหรียญสหรัฐ ในการประมูลเมื่อเดือนมิถุนายน 2015 Gemfields ยังได้เสนอขายทับทิมก้อนที่เข้าคู่กันจาก Montupuez เป็นอัญมณีที่มีความพิเศษและหาได้ยาก โดยมีน้ำหนักรวม 45 กะรัตและมีชื่อว่า “Eyes of the Dragon” (ดวงตามังกร) ตามขนาดและคุณสมบัติของอัญมณี
การตลาดและการส่งเสริมการขาย
แม้เชื่อมั่นว่าความต้องการทับทิมโมซัมบิกในปี 2016 น่าจะดำเนินรอยตามทิศทางที่ Gemfields ทำได้จากมรกตของแซมเบียในช่วงไม่กี่ปีก่อน แต่ผู้ผลิตพลอยสีรายนี้กล่าวว่าบริษัทเลือกตั้งเป้าหมายให้ต่ำไว้ก่อนและทำให้ได้เหนือกว่าประมาณการ
“ในเรื่องนี้... เราได้ตั้งเป้าหมายการผลิตและยอดขายในปี 2016 ให้สอดคล้องกับผลสำเร็จเมื่อปี 2015 เป็นหลัก ซึ่งก็นับว่าน่าพอใจมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นในภาคอุตสาหกรรมของเราในขณะนี้” Harebottle กล่าว “อย่างไรก็ดี การวิจัยตลาด การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และกิจกรรมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งเราดูแลอยู่ในขณะนี้ช่วยให้เราเชื่ออยู่ในระดับหนึ่งว่าจะสามารถทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้พอสมควร”
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวในการฟื้นฟูตลาดพลอยสีให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง Gemfields จะยังคงสนับสนุนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยครอบคลุมฐานทั่วทั้งวงจรอุตสาหกรรม อันได้แก่ การอบรมพนักงานขาย การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และโครงการด้านการตลาดโดยตรงหลากหลายโครงการ
“เมื่อผู้บริโภครับรู้และเห็นคุณคุณค่าของอัญมณีอันงดงามเหล่านี้มากขึ้น แนวโน้มความต้องการและยอดขายก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นไปด้วย” Harebottle อธิบาย “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเกิดขึ้นกับมรกต ทับทิม และพลอยสีทั้งหมดเท่าที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง”
จากมุมมองด้านการผลิต เหมือง Montepuez ยังคงอยู่ในระยะการสำรวจ แต่ความรู้ทางธรณีวิทยาของบริษัท MRM ก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดดหลังจากได้รับข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรระดับโลกแห่งนี้ โดยครอบคลุมส่วนเล็กๆ จากพื้นที่สัมปทานทั้งหมด
“ข้อมูลนี้ช่วยให้ความมั่นใจที่จำเป็นต่อการยกระดับการดำเนินงานขึ้นไปอีกขั้น ในการทำงานขั้นต่อไป เราจะเข้าใกล้การทำเหมืองอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีกำหนดเริ่มในช่วงต้นปี 2016” เขาเสริม
Harebottle กล่าวว่ามีตลาดสำหรับทับทิมโมซัมบิกในทุกระดับคุณภาพและทุกขนาด
“ทับทิมคุณภาพดีที่ไม่ผ่านความร้อนและมีขนาด 3 กะรัตขึ้นไปเป็นที่ต้องการค่อนข้างสูงซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ อย่างไรก็ดี เราเห็นความต้องการในระดับที่น่าพอใจสำหรับกลุ่มอัญมณีขนาด 1, 3 และ 5 กะรัตด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัญมณีทรงหมอน” เขากล่าว
“ในส่วนตลาดเชิงพาณิชย์ทั้งในแง่คุณภาพและขนาด เราสังเกตเห็นว่าความต้องการอัญมณีจิกไข่ปลาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัญมณีเหล่านี้มีราคาย่อมเยากว่าอัญมณีขนาดใหญ่ และโดยทั่วไปให้สัดส่วนกำไรในธุรกิจปลายน้ำสูงกว่าเพชร นอกจากนี้อัญมณีกลุ่มนี้ยังช่วยให้ผู้บริโภคหนุ่มสาวที่
ช่างเลือกสรรมีตัวเลือกในการซื้อที่หลากหลายขึ้น รวมถึงสามารถแสดงรสนิยมและสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้อีกด้วย”
ตลาดเอเชีย
ชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของทับทิมโมซัมบิกเริ่มได้รับการจับตามองในแวดวงเครื่องประดับและอัญมณี
ทั่วโลก ตามความเห็นของ Hans-Georg Wild ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Wilds Company Ltd. ในฮ่องกง Wild มองว่า การปรากฏตัวของทับทิมโมซัมบิกในตลาดเมื่อไม่นานมานี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างในภาคอุปทานจากการที่ทับทิมเมียนมามีปริมาณการผลิตลดลงได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยสร้างยุคใหม่ของการเติบโตให้ทับทิมซึ่งเป็นที่ชื่นชอบนี้ด้วย
“เราเห็นผู้บริโภคสนใจทับทิมโมซัมบิกกันมากขึ้นโดยเฉพาะในเอเชีย ผู้คนรู้จักทับทิมประเภทนี้กัน
มากขึ้น” เขากล่าว “ทับทิมโมซัมบิกกำลังได้รับความนิยม ไม่เพียงเพราะทับทิมเมียนมาขาดแคลน แต่เพราะทับทิมโมซัมบิกเองก็มีความสวยงามอย่างแท้จริงด้วย”
ทับทิมจากประเทศโมซัมบิกในแอฟริกาได้ส่วนแบ่งในตลาดค่อนข้างสูงมาตั้งแต่ปี 2013 Wild กล่าว พร้อมเสริมว่าบริษัทของเขาได้ขายทับทิมดังกล่าวไปเป็นจำนวนมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ผู้ซื้อจากจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไต้หวันมักนิยมอัญมณีขนาดใหญ่ที่ 4 ถึง 6 กะรัต โดยมีระดับราคาอยู่ที่ราว 50,000 ถึง 80,000 เหรียญสหรัฐต่อกะรัต
ในปี 2015 Sotheby ขายทับทิมเมียนมาขนาด 25.59 กะรัต ซึ่งมีชื่อว่า Sunrise Ruby ไปในราคา 30.3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อกะรัต
“แบรนด์และผู้ผลิตเครื่องประดับระดับสากลส่งเสริมทับทิมโมซัมบิกมาอย่างต่อเนื่อง Cartier เพิ่งเปิดตัวเครื่องประดับทับทิมโมซัมบิกในไต้หวัน นับเป็นข่าวที่น่ายินดีเพราะเป็นการช่วยให้ความรู้แก่ตลาดเกี่ยวกับทับทิมที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้” เขากล่าว
ผู้ขายเครื่องประดับยังได้ระบุถึงทัศนคติในการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่แหล่งที่มาของอัญมณี ขณะที่ผู้ซื้อบางรายยังคงควานหาทับทิมเมียนมาในตลาด ลูกค้าบางรายก็เปิดกว้างมากขึ้นในการซื้อเครื่องประดับโดยไม่คำนึงถึงที่มา
“ผู้คนเริ่มเห็นความสำคัญของแหล่งที่มาทางเลือก และเมื่อเปรียบเทียบอัญมณีดูแล้ว คนก็เริ่มเล็งเห็นความงามของทับทิมโมซัมบิก รวมถึงราคาที่เอื้อมถึงได้มากกว่า” Wild กล่าว “รูปแบบการซื้อเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยจากการเน้นแหล่งที่มากลายเป็นการเน้นคุณภาพ เมื่อเทียบกับสี่หรือห้าปีก่อน”
แหล่งอัญมณีใหม่ๆ
Dr. Dietmar Schwarz ผู้อำนวยการห้องทดลองของ Asian Institute of Gemological Sciences มองว่าภูมิภาคที่ผลิตอัญมณีอยู่เดิมหลายแห่งได้สูญเสียตำแหน่งการเป็นผู้นำไปและต้องเปิดทางให้พื้นที่ใหม่ๆ เช่น โมซัมบิก ในการผลิตทับทิม
“การที่อัญมณีจากแอฟริกาได้รับการตอบรับอย่างดีนับเป็นเรื่องไม่คาดฝัน พื้นที่บริเวณนี้เราเรียกกันว่าสายอัญมณีแอฟริกันตะวันออก (East African Gemstone Belt) หรือสายโมซัมบิก (Mozambique Belt) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของเคนยา แทนซาเนีย โมซัมบิก แซมเบีย และมาดากัสการ์ และได้รับการยกย่องว่าเป็นพื้นที่ผลิตอัญมณีที่มีแนวโน้มน่าจับตามองมากที่สุดในโลก” เขากล่าวต่อ
ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีระบุว่าในจำนวนพื้นที่เหล่านี้ โมซัมบิกถือได้ว่าเป็น “ดาวรุ่ง” เนื่องจากสร้างผลผลิตได้สูงสุด การค้นพบแหล่งทับทิมหลายแห่งในพื้นที่นี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2008 ถึง 2009
“Gemfields ดูแลพื้นที่ทำเหมืองขนาดใหญ่โดยมีโรงงานแปรรูปที่ทันสมัยในโมซัมบิก มีความเป็นไปได้สูงที่จะผลิตอัญมณีสีสวยคุณภาพสูงที่เจียระไนอย่างดีและมีสัดส่วนเหมาะสม ขนาด 10 ถึง 15 กะรัต” Schwarz กล่าว
แม้ว่ามีความท้าทายมากขึ้นจากสภาวะของตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญของพลอยสี แต่ทับทิมโมซัมบิกยังคงมีแนวโน้มสดใสตามความเห็นของนักอัญมณีวิทยา
“ในเวลานี้จีนมีความต้องการพลอยสีโดยรวมค่อนข้างต่ำ นับเป็นสถานการณ์พิเศษในตลาด แต่เราก็
คาดว่าทับทิมโมซัมบิกจะยังคงความนิยมเอาไว้ได้ อัญมณีเหล่านี้เป็นที่ต้องการไม่เพียงเพราะเป็นทางเลือกแทนทับทิมเมียนมา แต่เพราะมีคุณภาพสูงและราคาที่แข่งขันได้ด้วย” Schwarz ระบุ
แนวโน้มการเติบโต
Wild คาดว่าความต้องการทับทิมโมซัมบิกในเอเชียจะยังคงเข้มแข็งในปี 2016 เนื่องจากการผลิตทับทิมในเมียนมายังคงชะลอตัวอยู่
ด้วยคาดการณ์ว่าความต้องการทับทิมโมซัมบิกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีรายนี้กล่าวว่าทางบริษัทได้นำเสนอชุดเครื่องประดับใหม่ที่ตกแต่งด้วยทับทิมโมซัมบิกในงาน Hong Kong International Jewellery Show และ Hong Kong International Diamond, Gem & Pear Show ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ในแง่การออกแบบเครื่องประดับ เขาระบุว่าชิ้นงาน “เรียบง่ายตามแบบดั้งเดิม” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น “เราคาดว่าผู้บริโภคจะเลือกชิ้นงานที่มีสีสันน้อยลง เครื่องประดับที่มีอัญมณีหลักเป็นพลอยสีเม็ดเดียวล้อมรอบด้วยอัญมณีที่กลมกลืนกันน่าจะดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อได้ ผู้คนจะหันมาเน้นอัญมณีเม็ดหลักในเครื่องประดับกันมากขึ้น” Wild กล่าว
ทับทิมคุณภาพระดับอัญมณี
Pardieu จาก GIA กล่าวว่า คุณสมบัติทางธรณีวิทยาอันเป็นเอกลักษณ์ของทับทิมจาก Montepuez เป็นเหตุผลที่ทำให้ทับทิมชนิดนี้ได้รับความสนใจในวงกว้าง
“ทับทิมคลาสสิกสองประเภทในตลาดนี้คือ ‘ทับทิมเมียนมา’ และ ‘ทับทิมไทย’ ทับทิมจากเมียนมานั้นสกัดมาจากหินอ่อน มีองค์ประกอบของเหล็กต่ำและมีค่าการเรืองแสงสูง ส่วนทับทิมจากไทยและกัมพูชานั้นมาจากหินบะซอลต์ มีองค์ประกอบของเหล็กสูงและมักไม่เรืองแสง” นักอัญมณีวิทยารายนี้กล่าว “สิ่งที่น่าสนใจของทับทิมจากโมซัมบิกคือ ทับทิมโมซัมบิกมีทั้งที่องค์ประกอบของเหล็กต่ำใกล้เคียงกับทับทิมจากหินอ่อนและสูงเหมือนทับทิมจากหินบะซอลต์ ด้วยเหตุนี้ทับทิมจากโมซัมบิกบางส่วนจึงดูเหมือนทับทิมเมียนมา ขณะที่บางส่วนก็ดูเหมือนทับทิมไทย ดังนั้นทับทิมจากแหล่งใหม่นี้จึงสามารถนำไปผลิตเป็นทับทิมที่เหมาะกับตลาดกลุ่มต่างๆ และเหมาะกับรสนิยมที่แตกต่างกันไป”
Pardieu เชื่อว่าความต้องการทับทิมโมซัมบิกในตลาดจะยังคงเข้มแข็งต่อเนื่อง “ผมคิดว่านี่เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของการทำเหมืองในแหล่งทับทิมนี้ และแหล่งทับทิมแห่งนี้อาจผลิตอัญมณีให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไป ผมเห็นโอกาสมากมายจากอัญมณีแอฟริกาโดยรวมในแง่นี้ ปัจจุบันมีน้อยคนที่รู้เรื่องทับทิมจากแอฟริกา ความต้องการจึงต่ำอยู่ ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าของอัญมณี แต่เมื่อคนรู้กันมากขึ้นและเห็นความงามของอัญมณีเหล่านี้ ความต้องการก็จะเพิ่มสูงขึ้น” เขาอธิบาย “ผมคิดด้วยว่า Gemfields ฉลาดมากที่นำเอาอัญมณีเหล่านี้มาเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ การโยงทับทิมของบริษัทเข้ากับการต่อต้านการล่าสัตว์ด้วยโครงการอนุรักษ์ที่ดีอย่าง ‘Niassa Lion Project’ นับเป็นแนวทางที่แปลกใหม่เพราะลูกค้าหลายรายไม่ได้สนใจแต่แหล่งที่มาของอัญมณี แต่ยังรวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านั้นด้วย วิธีนี้อาจช่วยให้คนหันมาสนใจทับทิมจากโมซัมบิกรวมถึงโครงการอนุรักษ์ภายในประเทศมากยิ่งขึ้น”
Pardieu กล่าวว่า ตัวอย่างทับทิมที่น่าตื่นตะลึงที่สุดเม็ดหนึ่งเท่าที่เขาเคยเห็นมานั้นมาจากเหมือง Montepuez “ผมจะจำประสบการณ์ครั้งนั้นไปตลอดชีวิตเลย มันเป็นทับทิมก้อนขนาดราว 10 กะรัต ซึ่งผมเห็นใกล้เหมืองระหว่างการเดินทางไปโมซัมบิกครั้งแรกในปี 2009” เขาเล่า “พ่อค้าชาวกินีรู้ว่าผมเป็นนักอัญมณีวิทยาก็เลยมาหาผมพร้อมด้วยอัญมณีที่เขาเพิ่งซื้อมา เนื่องจากทับทิมเม็ดนั้นมีน้ำงามและใสมาก เขาเลยกังวลว่ามันอาจเป็นอัญมณีสังเคราะห์ หลังจากตรวจดูแล้ว ผมเห็นมลทินตามธรรมชาติบ้างเล็กน้อยซึ่งช่วยพิสูจน์ว่ามันเป็นอัญมณีธรรมชาติ ทับทิมเม็ดนั้นผสมผสานคุณสมบัติทั้งในแง่สีสัน ความโปร่งใส รูปทรงที่สวยงาม และขนาดที่ใหญ่อย่างไม่ธรรมดา ผมตระหนักทันทีเลยว่าทับทิมในมือผมเป็นทับทิมที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาระหว่างการเยี่ยมชมพื้นที่ทำเหมืองอัญมณี ในตอนนั้นผมรู้เลยว่าแหล่งอัญมณีแห่งใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในธุรกิจทับทิม นับแต่นั้นผมก็ได้เห็นทับทิมชั้นดีขนาดใหญ่อีกหลายเม็ดจากโมซัมบิก ซึ่งก็ช่วยยืนยันถึงความประทับใจใน
ครั้งแรก”
------------------------------------------
ที่มา: “Mozambique ruby: A rising star in the gemstone sector.” by Marie Feliciano and Bernardette Sto. Domingo. JNA. (January 2016: pp. 54-58).
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที