GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 01 เม.ย. 2016 10.17 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2094 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "อัญมณีและเครื่องประดับไทยส่งขายอาเซียนเสรีและปลอดภาษีจริงหรือ!!!" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


อัญมณีและเครื่องประดับไทยส่งขายอาเซียนเสรีและปลอดภาษีจริงหรือ!!!

นับตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2015 สมาชิก 10 ประเทศในอาเซียนได้หลอมรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อย่างสมบูรณ์ โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการตาม AEC Blueprint 2015 ได้แก่ (1) การเปนตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว ที่ใหมีการเคลื่อนยายสินคา บริการ การลงทุน แรงงานฝมือ รวมถึงเงินทุนได้อยางเสรีมากขึ้น (2) การพัฒนาไปสูภูมิภาคที่มีความสามารถในการแขงขันสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแขงขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน (3) การพัฒนาเศรษฐกิจอยางเสมอภาค มีความเทาเทียมกัน สนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดยอม และลดชองวางระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกใหมและสมาชิกเกา และ (4) การบูรณาการเขากับเศรษฐกิจโลก เนนการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค

โดยปัจจุบันในส่วนของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความเกี่ยวข้องกับบริบทข้างต้นอย่างชัดเจนใน 2 ประเด็นคือ “การเปนตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน” กล่าวคือ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสามารถส่งเข้าไปจำหน่ายในตลาดอาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 622 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 9 ของประชากรโลกได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยประเทศไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ ได้ลดภาษีการนำเข้าสินค้านี้จากประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นศูนย์ไปตั้งแต่ปี 2010 ก่อนที่กลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม จะได้ลดภาษีการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นศูนย์สำหรับสมาชิกอาเซียนลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2015 ขณะที่ “การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก” นั้น เพื่อให้เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของโลกที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาเซียนได้จัดทำเขตการค้าเสรีและสร้างเครือข่ายการผลิตและจำหน่ายผ่านการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับคู่เจรจาในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ASEAN+6” โดยทั้งกลุ่มมีจำนวนประชากรมากถึง 3,470 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 48 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก อีกทั้งชนชั้นกลางในประเทศกลุ่มนี้ (อาเซียน จีน อินเดีย) กำลังเพิ่มจำนวนและกำลังซื้อขึ้นเรื่อยๆ ตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจ จึงนับเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่ช่วยขยายโอกาสทางการค้าให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะทราบกันดีว่า AEC ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มรูปแบบแล้วตั้งแต่เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา และโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่าการส่งสินค้าไปจำหน่ายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นไปโดยเสรี ปราศจากข้อกีดกันทางการค้าใดๆ นั้น แต่ในทางปฎิบัติแล้ว ยังคงมีกฎเกณฑ์และระเบียบปฎิบัติอีกมากมายที่ผู้ส่งออกไทยต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มที่

กฎแหล่งกำเนิดสินค้า

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก็คือ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในการส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าข้อใดข้อหนึ่งจึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ว่าจะเป็น

(1) สินค้าที่กำเนิดหรือผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained) หรือ

(2) มีกระบวนการผลิตที่ผ่านการแปรสภาพอย่างเพียงพอในประเทศตามเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัด (Change in Tariff Classification) ในระดับ 4 หลัก หรือ

(3) มีการใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาคทั้งไทยและอาเซียน (Regional Value Content: RVC) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่า FOB ที่ส่งออกจากไทย หรือกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules) สำหรับสินค้าบางรายการที่มีรายละเอียดระบุไว้ต่างหาก

กรณีอัญมณีและเครื่องประดับมีสินค้าที่ถูกจัดให้อยู่ในกฎเฉพาะรายสินค้ารวมทั้งสิ้น 25 รายการ1 ที่ผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตาม อาทิ ไข่มุกธรรมชาติในพิกัดศุลกากร 7101.10 ระบุว่าจะต้องได้มาหรือผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศผู้ส่งออกทั้งหมด หรือกรณีของเครื่องประดับเงินในพิกัด 7113.11 จะต้องมีสัดส่วนของวัตถุดิบที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสมาชิกนั้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 หรือผ่านกระบวนการแปรสภาพโดยเปลี่ยนพิกัดฯ ในระดับ 6 หลัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการส่งสินค้าไปยังตลาดอาเซียนและต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวข้างต้นจะต้องนำหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า “ฟอร์มดี” (Form D) ที่กรมการค้าต่างประเทศออกให้ไปแสดงต่อศุลกากรประเทศผู้นำเข้า หรือ ใช้วิธีรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification)2 ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement) โดยผู้ส่งออกที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็น “Certified Exporter” สามารถทำการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเองลงบนใบกำกับราคาสินค้า (Invoice) หรือบนเอกสารอื่นๆ ตามกำหนด

ภาษีอื่นๆ และค่าธรรมเนียมการนำเข้า

อีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากฎแหล่งกำเนิดสินค้าก็คือ ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ยังคงเป็นอุปสรรคทางการค้าและน้อยคนนักที่จะรู้ว่ายังมีความท้าทายเหล่านี้ซ่อนอยู่ด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันการส่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปขายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+6 จะมีภาษีศุลกากร (Import Duty) ระหว่างกันเป็นศูนย์แล้ว (ยกเว้นการนำเข้าเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับเทียมไปยังนิวซีแลนด์เสียภาษีศุลกากรร้อยละ 5 การนำเข้าเครื่องประดับเทียมจากเกาหลีใต้มายังไทยเสียภาษีศุลกากรร้อยละ 5 การนำเข้าเครื่องประดับแท้ (ยกเว้นเครื่องประดับทอง) เครื่องเงิน เครื่องทอง จากอินเดียมายังไทยเสียภาษีศุลกากรร้อยละ 3-16.82) หากแต่ในความเป็นจริง ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่และคู่เจรจาทั้งหกประเทศต่างก็ยังมีการเรียกเก็บภาษีอื่นๆ ในอัตราที่ค่อนข้างสูงและแตกต่างกันไป ได้แก่ ภาษีการขายและการบริการ (Goods and Services Tax: GST) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ภาษีที่เก็บทุกทอดของการซื้อขาย (Turnover Tax) ภาษีการค้า (Commercial Tax) ภาษีเพื่อการบริโภค (Consumption Tax) ภาษีเพื่อการศึกษา (Education Tax) ภาษีศุลกากรเพิ่มเติม (Additional Duty of Customs: ADC) ภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติม (Additional Duty of Excise: ADE) รวมถึงยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้า (Import Fee/Customs Fee) ในอัตราที่กำหนดอีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

§  ประเทศสมาชิกอาเซียน ภาษีอื่นๆ และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเมื่อมีการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น มีเพียงบรูไนประเทศเดียวที่ไม่มีการเรียกเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมนำเข้าใดๆ ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์เรียกเก็บภาษีการขายและการบริการในอัตราร้อยละ 6 และร้อยละ 7 ตามลำดับ เวียดนามเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 10 เพียงประเภทเดียว ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มีการเรียกเก็บภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ลาวเรียกเก็บภาษีที่เก็บทุกทอดของการซื้อขาย ส่วนเมียนมาเก็บภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 5-100 ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า (เพื่อปกป้องสินค้าภายในประเทศตนเอง) โดยกัมพูชาและฟิลิปปินส์เป็นสองประเทศที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าร่วมด้วยดังรายละเอียดปรากฎตามตารางที่ 1

§  คู่เจรจา 6 ประเทศ ภาษีอื่นๆ และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเมื่อมีการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศคู่เจรจาในอาเซียน+6 นั้น พบว่ามีเพียงญี่ปุ่นประเทศเดียวที่ภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ มีความซับซ้อนน้อยที่สุดคือ เรียกเก็บเฉพาะภาษีเพื่อการบริโภคที่ร้อยละ 8 เท่านั้น ขณะที่เกาหลีใต้มีการเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงและซับซ้อนที่สุด โดยเก็บทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเพื่อการศึกษา และภาษีเพื่อการบริโภค จีนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงถึงร้อยละ 17 อีกทั้งยังมีภาษีเพื่อการบริโภคในอัตราร้อยละ 10 สินค้าที่นำเข้าไปยังอินเดียจะต้องเสียทั้งภาษีศุลกากรเพิ่มเติมและภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติม ส่วนสินค้าที่นำเข้าไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เสียภาษีการขายและการบริการที่ร้อยละ 10 และร้อยละ 15 ตามลำดับ อีกทั้งยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าร่วมด้วยดังรายละเอียดปรากฎตามตารางที่ 2 

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยในการวางแผนขยายโอกาสการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน รวมถึงประเทศคู่เจรจาในอาเซียน+6 ได้อย่างถูกต้อง โดยใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียน+6 บนพื้นฐานความเข้าใจอย่าง
ถ่องแท้เกี่ยวกับกฎระเบียบ อัตราภาษีและค่าธรรมเนียมของแต่ละประเทศ เพื่อสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเศรษฐกิจภายในประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบางในปัจจุบัน นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จากข้อตกลง
เขตการค้าเสรีอาเซียน+6 น่าจะช่วยบรรเทาความกังวลต่อการเฝ้ารอความชัดเจนจากภาครัฐในการพิจารณา
เข้าร่วมกับกลุ่มความตกลง Trans Pacific Partnership (TPP) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว
ร้อยละ 40 ของโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย


ศึกษาเพิ่มเติมจากบทความ “สิทธิประโยชน์ทางภาษีสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในกรอบ AEC” (http://www.git.or.th/gem) หรือหัวข้อ “เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)” กรมการค้าต่างประเทศ (http://www.dft.go.th/Default.aspx?tabid=161&ctl=DetailUserContent&mid=683&contentID=285)

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ http://www.dft.go.th/Default.aspx?tabid=161&ctl=DetailContent&mid=683&contentID=4194

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที