Praveenshankar Pandya |
นาย Praveenshankar Pandya ประธานที่ได้รับเลือกขึ้นมาใหม่ และนาย Russel Mehta รองประธานของสภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (Gems and Jewellery Export Promotion Council: GJEPC) ของอินเดียได้พิจารณาดำเนินการยกร่างแนวทางเพื่อยกระดับและส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม
อัญมณีและเครื่องประดับในอินเดีย
ภาพประกอบจาก www.businesstoday.in |
จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของจีน กลุ่มประเทศยูโรโซน ตลอดจนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลกในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความต้องการบริโภคเพชร ทำให้ราคาเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเพชรปรับตัวลดลง นับเป็นครั้งแรกที่มูลค่าการนำเข้าเพชรก้อน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเพชรตกต่ำลงอย่างมากถึงราวร้อยละ 26 ในระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2558 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการนำเข้าเพชรก้อนนับพันล้านเม็ดเพื่อมาเจียระไนโดยแรงงานอินเดียที่อยู่ในอุตสาหกรรมเพชรมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวชาวอินเดียราว 250,000 ครัวเรือน แรงงานราว 1 ล้านคนที่ได้รับการว่าจ้างโดยตรงในอุตสาหกรรมนี้และในอนาคตอาจส่งผลกระทบให้จำนวนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ลดลงไปอีก
นาย Praveenshankar Pandya ได้เน้นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาแทรกแซงและให้การช่วยเหลืออุตสาหกรรม โดยกล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมนี้สูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการค้าเพชรไปยังศูนย์กลางระดับโลกแหล่งใหม่ๆ อย่างดูไบและจีน รวมถึงศูนย์กลางที่มีอยู่เดิมอย่างแอนท์เวิร์ปและอิสราเอล ทั้งนี้เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยในระบบที่สูงและนโยบายการเก็บภาษีของภาครัฐที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน โดยนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจนแน่นอนจะช่วยให้อินเดียสามารถก้าวขึ้นมาเป็น “ศูนย์กลางการค้าเพชร” ได้สำเร็จ”
ดังนั้น เพื่อปรับปรุงสถานการณ์ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียให้ดีขึ้น คณะทำงานใหม่ของสภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ จึงได้กำหนดข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในปีงบประมาณ 2559- 2560 ดังนี้
1. บรรจุภาคอัญมณีและเครื่องประดับให้อยู่ในแผนเงินชดเชยดอกเบี้ยและแผนการส่งออกสินค้าจากอินเดีย (Merchandise Export from India Scheme: MEIS)1
2. การนำใช้ระบบการเก็บภาษีเชิงสันนิษฐาน (Presumptive Taxation System)2 มาบังคับใช้กับภาคอุตสาหกรรมเพชรอินเดีย
3. ยกเลิกภาษีขั้นต่ำแบบทางเลือก (Minimum Alternate Tax: MAT)3 และภาษีจ่ายเงินปันผล (Dividend Distribution Tax: DDT)4 สำหรับภาคอัญมณีและเครื่องประดับที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ)
4. จัดหาวัตถุดิบประเภทโลหะมีค่า ทั้งทองคำ เงิน และแพลทินัม ให้เพียงพอสำหรับผู้ประกอบการส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อม
5. จัดตั้งเขตพิเศษสำหรับอุตสาหกรรม หรือ Special Notified Zone โดยเขตพิเศษแห่งแรกได้รับการจัดตั้งแล้ว และรัฐบาลก็ตกลงให้ปรับเปลี่ยนการเก็บภาษี อย่างไรก็ดียังคงต้องรอการปรับแก้ไขข้อบังคับกฎหมายสำหรับเรื่องนี้ โดยคาดว่าจะประกาศใช้ผ่านกฎหมายการคลัง (Finance Bill) ปี 2559 นอกจากนี้ทางคณะทำงานยังได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
6. ยกเลิกอากรขาเข้าร้อยละ 2.5 ซึ่งเรียกเก็บในกลุ่มสินค้าพลอยสีเจียระไน
----------------------------------------------
ที่มา: “India mulls industry agenda.” BANGKOK GEMS & JEWELLERY. (January 2016: pp. 23-24).
1 มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของอินเดีย ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่อยู่ภายใต้นโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของอินเดียระหว่างปี 2558-2563 (Foreign Trade Policy of India: FTP 2015-2020)
2 เป็นภาษีที่เรียกเก็บโดยอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยของภาษีซึ่งผู้ประกอบการที่จดแจ้งเสียภาษี ไม่ใช่การเรียกเก็บจากรายได้ที่เกิดขึ้นจริงตามบัญชีของผู้ประกอบการเองในปีนั้นๆ
3 เป็นการจัดเก็บภาษีทางอ้อมจากผู้ประกอบการของภาครัฐอินเดีย โดยจัดเก็บจากกำไรตามบัญชีของบริษัท โดยปกติอยู่ที่อัตราร้อยละ 18.5
4 ปกติรัฐบาลอินเดียเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20.358
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที