การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2558 มีมูลค่า 371,025.45 ล้านบาท (10,993.34 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.68 จากมูลค่า 323,535.87 ล้านบาท (10,061.06 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีก่อนหน้า เป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 5.13 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยโดยรวม โดยมีทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปเป็นตัวขับเคลื่อนหลักด้วยยอดการส่งออกสูงถึงหนึ่งในสาม และมีอัตราการเติบโตถึงกว่าร้อยละ 40 ขณะเดียวกันเมื่อหักมูลค่าการส่งออกทองคำดังกล่าวออกไป การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยขยายตัวที่ร้อยละ 3.62 ด้วยมูลค่า 242,311.31 ล้านบาท (7,186.10 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งสะท้อนศักยภาพการส่งออกที่แท้จริงที่ยังคงเติบโตได้แต่ในอัตราที่ลดต่ำลงมากจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 13.43
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเปรียบเทียบ ปี 2557 และ 2558
รายการ |
มูลค่า (ล้านบาท) |
สัดส่วน (ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง |
|||
ม.ค.-ธ.ค. 57 |
ม.ค.-ธ.ค. 58 |
ม.ค.-ธ.ค. 57 |
ม.ค.-ธ.ค. 58 |
(ร้อยละ) |
||
มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด |
323,535.87 |
371,025.45 |
100.00 |
100.00 |
14.68 |
|
หัก มูลค่าส่งออกทองคำฯ |
89,683.27 |
128,714.14 |
27.72 |
34.69 |
43.52 |
|
คงเหลือมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำฯ |
233,852.60 |
242,311.31 |
72.28 |
65.31 |
3.62 |
|
หัก มูลค่าสินค้าส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ |
15,868.94 |
12,272.36 |
4.90 |
3.31 |
-22.66 |
|
คงเหลือมูลค่าส่งออกสุทธิ |
217,983.66 |
230,038.95 |
67.38 |
62.00 |
5.53 |
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปี 2557 และ 2558
รายการ |
มูลค่า (ล้านบาท) |
สัดส่วน (ร้อยละ) |
เปลี่ยนแปลง |
|||
ม.ค.-ธ.ค. 57 |
ม.ค.-ธ.ค. 58 |
ม.ค.-ธ.ค. 57 |
ม.ค.-ธ.ค. 58 |
(ร้อยละ) |
||
1. ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป |
89,683.27 |
128,714.14 |
27.72 |
34.69 |
43.52 |
|
2. เครื่องประดับแท้ |
123,695.40 |
124,730.82 |
38.23 |
33.62 |
0.84 |
|
2.1 เครื่องประดับเงิน |
54,395.27 |
53,505.73 |
16.81 |
14.42 |
-1.64 |
|
2.2 เครื่องประดับทอง |
60,970.75 |
62,357.21 |
18.85 |
16.81 |
2.27 |
|
2.3 เครื่องประดับแพลทินัม |
3,526.45 |
3,941.37 |
1.09 |
1.06 |
11.77 |
|
2.4 อื่นๆ |
4,802.93 |
4,926.51 |
1.48 |
1.33 |
2.57 |
|
3. เพชร |
59,021.64 |
59,943.45 |
18.24 |
16.16 |
1.56 |
|
3.1 เพชรก้อน |
5,656.55 |
5,362.07 |
1.75 |
1.45 |
-5.21 |
|
3.2 เพชรเจียระไน |
52,753.13 |
54,515.11 |
16.31 |
14.69 |
3.34 |
|
3.3 อื่นๆ |
611.96 |
66.28 |
0.19 |
0.02 |
-89.17 |
|
4. พลอยสี |
29,412.70 |
35,064.90 |
9.09 |
9.45 |
19.22 |
|
4.1 พลอยก้อน |
1,759.42 |
1,536.08 |
0.54 |
0.41 |
-12.69 |
|
4.2 พลอยเนื้อแข็งเจียระไน |
18,170.89 |
21,175.63 |
5.62 |
5.71 |
16.54 |
|
4.3 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน |
9,482.39 |
12,353.19 |
2.93 |
3.33 |
30.28 |
|
5. เครื่องประดับเทียม |
13,051.07 |
13,158.15 |
4.03 |
3.55 |
0.82 |
|
6. อัญมณีสังเคราะห์ |
3,807.78 |
3,862.18 |
1.18 |
1.04 |
1.43 |
|
7. อื่นๆ |
4,864.01 |
5,551.81 |
1.50 |
1.50 |
14.14 |
|
รวมทั้งสิ้น (1+2+3+4+5+6+7) |
323,535.87 |
371,025.45 |
100.00 |
100.00 |
14.68 |
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป เป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ (พิกัดศุลกากรตอนที่ 71) มีมูลค่า 128,714.14 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.69 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม เติบโตสูงขึ้นจากปี 2557 ถึงร้อยละ 43.52 และมีปริมาณการส่งออกราว 127 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 24.51 โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากแรงเทขายเพื่อทำกำไรจากบรรดานักลงทุนที่วิตกกังวลกับสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของจีนและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเป็นหลัก
ในส่วนของตลาดส่งออกทองคำนั้น สวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนร้อยละ 41.92 ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนได้กลายเป็นตลาดส่งออกทองคำที่สำคัญของไทยด้วยสัดส่วนการส่งออกรวมกันสูงเกือบร้อยละ 43 โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ซึ่งประชากรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามลำดับ และมักนิยมเก็บออมเงินในรูปของทองคำแท่งเพื่อสะสมความมั่งคั่งมากกว่าการฝากธนาคาร โดยมีกัมพูชาเป็นดาวเด่นที่นำเข้าทองคำจากไทยในปี 2558 เพิ่มขึ้นถึงกว่าเท่าตัว ด้วยสัดส่วนเกือบหนึ่งในสี่ของยอดส่งออกทองคำรวม และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะผู้ค้าทองของไทยหลายรายได้รุกเข้าไปเปิดตลาดสำเร็จแล้ว
เครื่องประดับทอง มีมูลค่าส่งออก 62,357.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.81 ขยายตัวร้อยละ 2.27 โดยปี 2558 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ราคาทองคำปรับลดลงต่ำกว่า 1,100 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์1 ส่งผลให้เครื่องประดับทองมีราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อ นับเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นให้ความต้องการซื้อเครื่องประดับทองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ขณะที่ เครื่องประดับเงิน มีมูลค่าส่งออก 53,505.73 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.64 และมีสัดส่วนร้อยละ 14.42 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกไปยังรัสเซียที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนั้นมีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 64.29
สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกเครื่องประดับแท้ที่สำคัญที่สุดของไทย ด้วยมูลค่า 33,397.70 ล้านบาท มีสัดส่วนราวร้อยละ 27 ของการส่งออกเครื่องประดับแท้ทั้งหมด ปรับลดลงร้อยละ 0.53 และยังถือเป็นตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย ในปี 2558 สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าและ/หรือการบริโภคเครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากอินเดียและจีนที่มีราคาถูกลงอันเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินรูปีและเงินหยวนที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่สินค้าจากทั้งสองประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่า ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของเครื่องประดับแท้ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และชาวอเมริกันนิยมซื้อเครื่องประดับระดับกลางถึงบนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหลักอื่นๆ สำหรับเครื่องประดับแท้ของไทย ซึ่งประกอบด้วย ฮ่องกง เยอรมนี และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังส่งออกไปได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.77, 6.32 และ 7.97 ตามลำดับ
เพชรเจียระไน เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอีกรายการหนึ่งที่มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 14.69 ด้วยมูลค่า 54,515.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าได้ร้อยละ 3.34 แม้ว่าในปีที่ผ่านมาราคาเพชรในตลาดโลกจะลดต่ำลง อีกทั้งตลาดเพชรเจียระไนก็ค่อนข้างซบเซา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับลดลงของอุปสงค์ในการบริโภคเพชรและเครื่องประดับเพชรในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดเพชรขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนต้องระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังของภาครัฐ ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดเพชรเจียระไนนั้น การส่งออกจากไทยไปฮ่องกงและญี่ปุ่นยังคงขยายตัวได้ดีที่อัตราร้อยละ 17.55 และ 70.40 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศศูนย์กลางการค้าเพชรโลกทั้งเบลเยียม อินเดีย และอิสราเอล ล้วนมีมูลค่าลดลงทั้งสิ้น
พลอยสี ซึ่งถือเป็นสินค้าดาวเด่น หรือกล่าวได้ว่าเป็น “ฐานรากแห่งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย” ยังคงเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกในปี 2558 ด้วยอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.22 คิดเป็นมูลค่า 35,064.90 ล้านบาท แม้ว่าในช่วงปี 2558 ตลาดพลอยสีโลกอาจไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมาเนื่องด้วยอุปสงค์จากตลาดจีนลดลงอย่างฮวบฮาบจากที่เคยเฟื่องฟูเติบโตแบบก้าวกระโดดติดต่อกันหลายปี ตลาดส่งออกพลอยสีที่สำคัญของไทย 3 อันดับแรก ประกอบด้วย ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และ จีน ซึ่งยังคงเติบโตได้ดีด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 28.19, 18.66 และ 22.11 ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกพลอยเจียระไนของไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้
- พลอยเนื้อแข็งเจียระไน มีสัดส่วนร้อยละ 60.39 ของมูลค่าการส่งออกพลอยสีโดยรวม คิดเป็นมูลค่า 21,175.63 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.54 โดยแบ่งเป็นเป็นการส่งออกทับทิม แซปไฟร์ และ มรกต ซึ่งเป็น 3 รายการสินค้าในหมวดพลอยเนื้อแข็งเจียระไนในสัดส่วนร้อยละ 37.63, 44.91 และ 17.46 ตามลำดับ ซึ่งสินค้าทั้ง 3 รายการ มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งหมด
- พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน มีสัดส่วนร้อยละ 35.23 ของมูลค่าการส่งออกพลอยสีโดยรวม คิดเป็นมูลค่า 12,353.19 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.28 โดยการส่งออกไปยังฮ่องกงเพียงประเทศเดียวมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 63.29 ของมูลค่าการส่งออกพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนทั้งหมด
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้สถานการณ์การค้าในตลาดโลกสำหรับสินค้าบางรายการในปี 2558 จะไม่ค่อยสดใสนัก แต่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยก็ยังสามารถฟันฝ่าสร้างการเติบโตแก่มูลค่าการส่งออกได้ เนื่องด้วยความเชี่ยวชาญการค้าของบรรดาผู้ประกอบการ และความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมให้คงอยู่และ/หรือเข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อก้าวย่างอย่างมั่นคงต่อไปในปี 2559
สำหรับท่านที่ต้องการอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มและเข้าถึงสถิติการนำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ สามารถลงทะเบียนใช้บริการระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการตลาดที่ www.git.or.th/gem หรือกดไลค์หน้าเพจเฟซบุ๊ค GITInfoCenter เพื่อรับข้อมูลข่าวสารด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่อง
1 จากข้อมูลของ kitco.com ราคาเฉลี่ยทองคำในตลาดโลกในปี 2558 อยู่ที่ 1,160.06 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยมีระดับราคาต่ำสุดอยู่ 1,049.40 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที