GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 18 ม.ค. 2016 04.08 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2914 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทสัมภาณ์เรื่อง “อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยปรับตัวสู้วิกฤต เร่งเสริมแกร่งด้วยนวัตกรรม" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยปรับตัวสู้วิกฤต เร่งเสริมแกร่งด้วยนวัตกรรม

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศในอันดับต้นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและปรับตัวยืดหยุ่นฝ่าฟันนานาอุปสรรคและความท้าทายจากปัจจัยรอบด้านโดยเฉพาะคลื่นลมทางเศรษฐกิจจากทุกทิศทาง แม้ในช่วงที่ผ่านมามีหลายกิจการต้องหยุดดำเนินการแต่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งยังสามารถสร้างความหลากหลายให้แก่แวดวงธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับผ่านการนำเสนอเครื่องประดับรูปแบบใหม่ฉีกออกไปจากขนบเดิม ขณะที่กิจการอีกจำนวนไม่น้อยขยับปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

 

โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี DEmark

เครื่องประดับไม้ บริษัท ซิมมณี จำกัด

เครื่องประดับเซรามิก บริษัท พีคฌาน จำกัด

เครื่องประดับจากเขาควาย

บริษัท ไตรโหมด ดีไซน์ จำกัด

เครื่องประดับจากพลอยสังเคราะห์ โลหะ และอะคริลิก บริษัท ไตรโหมด ดีไซน์ จำกัด

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าผ่านการนำเสนออัตลักษณ์เฉพาะตนให้แก่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับพร้อมสร้างตัวตนผ่านแบรนด์ของตนเองเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยยึดถือเป็นกลยุทธ์หลักในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เริ่มขยายจำนวนเพิ่มขึ้นและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายกิจการดำเนินรอยตาม นวัตกรรมโดยเฉพาะด้านการออกแบบเพื่อสร้างจุดเด่นเป็นจุดขายให้แก่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยทั้งกลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออกและการจำหน่ายในประเทศเริ่มเป็นกระแสเด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ ไม่เพียงเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ หากแต่ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากแรงผลักดันของหลายหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่มีเวทีให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมเหล่านี้ได้อวดโฉมแสดงผลงานในหลากหลายเวทีทั้งในระดับประเทศและสากล โดยโครงการที่โดดเด่นและเริ่มเป็นที่จับตาของผู้จัดหาสินค้าต่างชาติคือ DEmark หรือโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี (Design Excellence Award) ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2551 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ชิ้นงานที่ได้รับรางวัล DEmark ล้วนมีความโดดเด่นทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และยังต้องมีคุณสมบัติด้านการใช้สอยได้ดีเพื่อตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ ตัวอย่างที่น่าสนใจอาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเขาควายซึ่งเป็นการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติผสมผสานกับเทคนิคการเคลือบโลหะเกิดเป็นมุมมองที่ดูหรูหราโดยยังคงองค์ประกอบธรรมชาติจากเขาควายที่มีลวดลายสวยงาม การผลิตเครื่องประดับจากไม้ธรรมดาหากแต่สามารถรังสรรค์เป็นชิ้นงานที่มีความพริ้วไหวสวยงามและยังใช้งานได้ยาวนาน ตอบรับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับที่ผลิตจากวัสดุธรรมดาที่คุ้นเคยกันอย่างดีในแวดวงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเช่น เซรามิก และอะคริลิก แต่ด้วยการออกแบบภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาดจึงก่อเกิดเป็นชิ้นงานที่สวยโดดเด่นสะดุดตา

นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อส่งออกยังได้นำนวัตกรรมเข้าไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต โดยมากให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคิดค้นการใช้โลหะใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในยามที่โลหะมีค่าหลักอย่างทองคำและโลหะเงินปรับราคาสูง ขณะที่ผู้ซื้อหรือผู้จัดหาสินค้าอ่อนไหวต่อการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนวัตถุดิบที่ขยับเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องพยายามคงระดับราคาสินค้าให้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบพอเหมาะเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้

ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องประดับไทยจำนวนไม่น้อยได้นำโลหะประเภทใหม่ๆ มาใช้มากขึ้นและเริ่มเป็นที่แพร่หลายเช่น การใช้โลหะทางเลือกที่พัฒนาต่อยอดมาจากการผสมอัลปาก้าโลหะกับโลหะบางชนิดอย่างซิลิกอนและอินเดียมจนมีคุณสมบัติละม้ายคล้ายโลหะเงิน ทำให้โลหะประเภทนี้ถูกเรียกชื่อใหม่ในตลาดการค้าเม็ดโลหะว่า ซิลเวอร์พลัส (Silver Plus) สะท้อนคุณสมบัติสีขาวแวววาวเฉกเช่นคุณสมบัติของโลหะเงิน ทนต่อการกัดกร่อน อีกทั้งยังมีราคาต่อกรัมต่ำกว่าโลหะเงินเกือบสิบเท่า อย่างไรก็ดี ด้วยส่วนผสมของโลหะนิกเกิลที่มีปริมาณสัดส่วนค่อนข้างสูง (อยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้เครื่องประดับต้องมีสัดส่วนโลหะนิกเกิลผสมอยู่ไม่เกินกว่าร้อยละ 0.05 ของน้ำหนักสินค้า) อาจสร้างความกังวลให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้จัดหาสินค้าได้ เนื่องด้วยอาจก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่และกลายเป็นปัญหาในการทำธุรกิจได้หากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า อย่างไรก็ตาม หากประเมินในด้านอุปสรรคในการส่งออกไปยังตลาดโลก การผลิตเครื่องประดับด้วยโลหะทางเลือกชนิดนี้ไม่ถือว่าเป็นข้อห้าม เนื่องด้วยผู้ประกอบการสามารถเลือกเกณฑ์ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค Nickel Directive โดยใช้เกณฑ์อัตราการแผ่ของนิกเกิลได้ ทั้งนี้การส่งออกเครื่องประดับทุกครั้งควรผ่านการตรวจสอบให้แน่ใจว่าอัตราการแผ่ของนิกเกิลเป็นไปตามเกณฑ์กำหนด

นอกจากนี้ ด้วยนโยบายภาครัฐที่ตั้งเป้าหมายชัดเจนในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงมีมาตรการทางภาษีส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนที่จ่ายไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นจำนวน 3 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริง นโยบายนี้น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในเวทีการค้าโลกและอาจถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่ต้องจับตาต่อไป

เกร็ดความรู้

อัลปาก้าโลหะคิดค้นพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2422 ในประเทศเยอรมนีเพื่อใช้เป็นโลหะทดแทนโลหะเงินที่หายากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า เยอรมันซิลเวอร์ (German Silver) เกิดจากการเล่นแร่แปรธาตุผสมโลหะให้มีสีขาวและจุดหลอมเหลวเท่ากับโลหะเงินโดยมีองค์ประกอบของโลหะหลักที่นำมาผสมคือ โลหะทองแดงร้อยละ 40.4 นิกเกิลร้อยละ 31.6 สังกะสีร้อยละ 25.4 และโลหะเหล็กร้อยละ 2.6 ต่อมาได้มีการปรับปรุงสูตรและเรียกโลหะผสมชนิดนี้ในชื่อที่หลากหลายอาทิ นิกเกิลซิลเวอร์ (Nickel Silver)

โดยปกติแล้วการผสมโลหะทองแดงกับสังกะสีในสัดส่วนดังกล่าวทำให้ได้โลหะสีเหลือง แต่ด้วยคุณสมบัติการฟอกสีของโลหะนิกเกิล ทำให้โลหะผสมชนิดนี้เปลี่ยนเป็นสีขาว โดยในยุคแรกๆ อัลปาก้าโลหะนิยมนำมาใช้ผลิตเป็นช้อนส้อมและเหรียญกษาปณ์

(ที่มา: อัลปาก้าโลหะวิทยาคม โดยนายมนัสพงษ์ แววศรี. นิตยสาร GIT Gems & Jewelry ฉบับที่ 15 (กรกฎาคม – สิงหาคม 2558) หน้า 40.)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที