GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 28 ธ.ค. 2015 04.22 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1851 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง “หัวเมืองรอง” โอกาสขยายตลาดเครื่องประดับไทยในประเทศจีน สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


“หัวเมืองรอง” โอกาสขยายตลาดเครื่องประดับไทยในประเทศจีน

ย้อนกลับไปหลายปีก่อนหากกล่าวถึงโอกาสทางการค้ากับประเทศจีน หลายคนคงนึกถึง 4 หัวเมืองใหญ่ที่เป็น Megacities หรือเมืองที่มีการพัฒนาในระดับที่ 1 (Tier1) อย่างเช่น ปักกิ่ง (Beijing) เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) กวางโจว (Guangzhou) และ เซินเจิ้น (Shenzhen) แต่ในปัจจุบันต่างชาติได้รู้จักเมืองใหม่ของจีนมากขึ้นโดยเฉพาะ “หัวเมืองรอง” หรือ “เมืองจีนตอนใน” ที่เป็นเมืองศักยภาพใหม่ของจีน โดยใช้เกณฑ์ในการจัดอันดับหัวเมืองรองจากศักยภาพทางเศรษฐกิจ จำนวนประชากร และอัตราความเป็นเมือง

นโยบายการพัฒนาหัวเมืองรอง หรือเมืองจีนตอนใน มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจของเมืองตอนในให้ทัดเทียมกับเมืองชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้หัวเมืองรองอย่างเช่น เฉิงตู (Chengdu) ฉงชิ่ง (Chongqing) อู่ฮั่น (Wuhan) กวางตุ้ง (Guangdong) ส่านซี (Shanxi) กุ้ยหยาง (Guiyang) เสิ่นหยาง (Shenyang) เซี่ยเหมิน (Xiamen) และ เทียนจิน (Tianjin) เป็นต้น มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เอื้ออำนวย และดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติ ด้วยการมีข้อดีทั้งค่าเช่าที่ดินและค่าแรงงานที่มีราคาถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งยังมีการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่รุนแรงเท่าหัวเมืองหลัก หรือเรียกได้ว่าเมืองจีนตอนในนั้นเป็นเสมือนดินแดนแห่งโอกาสระดับ “First-Class Opportunities” เลยก็ว่าได้

 

ประเทศจีนมีเมืองน้อยใหญ่รวมกันถึง 667 เมือง และในปี 2557 มีประชากรราว 1,400 ล้านคน คิดเป็นประชากรถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลก ขณะที่ความเป็นเมืองของหัวเมืองใหญ่เริ่มอิ่มตัวและหยุดนิ่งแล้ว เห็นได้จาก 10 ปีที่ผ่านมาความเป็นเมืองของเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งยังโตได้ไม่เกิน 2% ขณะที่เมืองรองอย่างฉงชิ่งและส่านซีภายใต้ระยะเวลาที่เท่ากัน แต่เมืองโตขึ้นกว่า 10% แสดงถึงโอกาสทางธุรกิจของเมืองรองภายใต้แรงขับเคลื่อนของชนชั้นกลางที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการคาดประมาณของ Ernst & Young ที่ว่า ภายในปี 2573 ชนชั้นกลางของจีนจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกกว่า 60% หรือเพิ่มขึ้นจาก 300 ล้านคน เป็น 500 ล้านคน นอกจากนี้ ชนชั้นกลางในหัวเมืองรองยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ โดยจากข้อมูลของ Wall Street Journal พบว่า 14 เมืองรองในระดับ Tier 2 ของจีนนั้นเป็นกลุ่มผู้บริโภคสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาโดยมีสัดส่วนสูงถึง 54%

ส่องโอกาสเมืองรองของจีน: First-Class Opportunities

แม้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเป็นช่วงขาลง อีกทั้งยังมีนโยบายห้ามการให้ของกำนัลที่มีมูลค่าสูงอย่างอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น แต่ในปี 2557 จีนยังมีมูลค่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลกโดยมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 1.3 เท่า ประกอบกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเมืองรองที่มาพร้อมกับอำนาจซื้อของประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการด้าน
อัญมณีและเครื่องประดับไทยจะเข้าไปช่วงชิงทำเลตลาดเมืองรอง ทั้งนี้ บทความนี้จะขอนำเสนอ 2 เมืองรองของจีนที่น่าสนใจต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนี้

กุ้ยหยาง (Guiyang) เมืองหลวงของมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou) ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองเกิดใหม่ที่น่าสนใจจาก The Economist Intelligence Unit เป็นอันดับที่ 1 จากทั้งหมด 93 เมืองรอง แม้ว่าจะเคยเป็นเมืองหนึ่งที่ยากจนที่สุด แต่วันนี้กุ้ยหยางครองแชมป์ทั้งเรื่องการเพิ่มขึ้นต่อปีของรายได้ประชาติที่แท้จริง และยังเป็นเมืองที่ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนเป็นอันดับที่ 1 ส่วนด้านระบบการขนส่งนั้นกุ้ยหยางก็ยังมีรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมกับพื้นที่ชายฝั่งอย่างเมืองกวางโจว โดยสามารถลดเวลาการเดินทางลงได้ จากเดิมใช้เวลาถึง 22 ชั่วโมงก็เหลือเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น ในอนาคตยังมีแผนที่จะเชื่อมไปยังเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River Delta) อีกทั้งยังมีเส้นทางรถไฟสายหนานหนิง-กุ้ยหยาง-คุนหมิง ที่เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมกับประเทศอาเซียนได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

ฉงชิ่ง (Chongqing) เป็นเมืองเกิดใหม่ที่น่าสนใจเป็นอันดับที่ 4 ที่แม้ว่าประชากรจะมีระดับรายได้ไม่มากเท่ากับหัวเมืองหลัก แต่ช่องว่างของรายได้ดังกล่าวก็ได้ลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ฉงชิ่งยังเป็นเมืองที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวหลังจากหักภาษีเพิ่มขึ้นราว 8.7% ต่อปี อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งโอกาสของการค้าผ่านการจับจ่ายของประชากรภายใต้ความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 15% โดยใช้ระยะเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น รวมทั้งยังมีข้อได้เปรียบในด้านการ
ใช้จ่ายของประชากรที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 8.6% ต่อปีตามรายได้ของประชากรที่เพิ่มขึ้น จากข้อได้เปรียบดังกล่าวจึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับจะเข้าไปรุกตลาดเมืองรองเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีแนวโน้มว่าจะสดใสในอนาคตอย่างแน่นอน

รูปแบบเครื่องประดับที่เป็นที่นิยมเมืองรองของจีน

ภาพประกอบจาก http://www.th.aliexpress.com, http://www.th.aliexpress.com และ http://www.foxybeads.com

การรุกตลาดจะสำเร็จได้ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความนิยมของตลาดแม้ว่าหัวเมืองรองจะเป็นเมืองแห่งโอกาสที่พรั่งพร้อมด้วยจำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ แต่ก็มีความเสี่ยงที่ควรพิจารณา กล่าวคือ ผู้ประกอบการไม่สามารถใช้รูปแบบสินค้าที่ตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างดีในหัวเมืองหลักมากำหนดพฤติกรรมและรสนิยมการบริโภคในหัวเมืองรอง เนื่องจากผู้บริโภคในหัวเมืองหลักมีความคุ้นชินกับแบรนด์ชั้นนำอยู่แล้ว สินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีจึงต้องมีรูปแบบที่แปลกตา ทันสมัย รวมทั้งมีคุณภาพดี ขณะที่ในเมืองรองชาวจีนยังคงนิยมเครื่องประดับในรูปแบบดั้งเดิม คุณภาพปานกลาง ส่วนใหญ่ที่ทำจากทอง หยก ไข่มุก รวมทั้งหินสีที่ช่วยเสริมดวงชะตา เช่น เรด อาเกต (Red Agate) เสริมเรื่องความร่ำรวย มูไคต์ (Mookaite) เสริมเรื่องความปรารถนาให้สำเร็จ ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับควรเริ่มสร้างความคุ้นชินและความนิยมในตัวสินค้าแก่ผู้บริโภคเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นเสียก่อน หาโอกาสสร้างการรับรู้และป้อนสินค้าศักยภาพจำพวกพลอยสีคุณภาพปานกลางถึงสูงเข้าสู่ตลาด และจะต้องจับตาและเรียนรู้ความต้องการผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดเพื่อพร้อมเติบโตไปกับตลาดหัวเมืองรองที่บรรดาผู้บริโภคกำลังเพรียกหาความหรูหราตามกำลังการใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามลำดับ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที