GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 30 พ.ย. 2015 17.10 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1963 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่องอัญมณีและเครื่องประดับไทยตั้งรับปรับตัวอย่างไรจากความท้าทายของ TPP สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


อัญมณีและเครื่องประดับไทยตั้งรับปรับตัวอย่างไรจากความท้าทายของ TPP

Trans Pacific Partnership (TPP) เป็นความตกลงทางการค้าที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนของไทยต่างให้ความสนใจ รวมถึงแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับด้วย เนื่องจากไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า อุตสาหกรรมนี้ต้องพึ่งพา การส่งออกเป็นหลักมากถึงร้อยละ 80 ดังนั้น หากจะมีมาตรการหรือความตกลงใดๆ ระหว่างประเทศที่จะทำให้อุปสรรคในเรื่องการค้าหมดไปได้ โดยเฉพาะการทลายกำแพงภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า ย่อมเป็นสิ่งผู้ประกอบการ อัญมณีและเครื่องประดับส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ รวมถึงยังตั้งข้อกังวลว่าหากประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมกลุ่ม TPP  แล้ว อาจเกิดผลเสียต่อการส่งออกในอนาคต ในที่นี้ ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับจึงได้ประมวลเรื่องราว TPP ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

 ทำความรู้จักกับ “TPP”

TPP เป็นการเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคีที่พัฒนามาจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPSEP) ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และเวียดนาม ซึ่งทั้งหมดมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราวร้อยละ 40 ของโลก จึงอาจกล่าวได้ว่า TPP เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในบรรดาสมาชิกทั้งหมดนั้น ประเทศที่ไทยยังไม่บรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย คือ สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก

แผนภาพแสดงที่ตั้งของประเทศในกลุ่ม TPP 12 ประเทศ

ที่มา: https://anongalactic.com

TPP ถือเป็นความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานสูงสุดเมื่อเทียบกับความตกลงการค้าเสรีทั้งหมดทั่วโลก โดยครอบคลุมหัวข้อการเจรจา 26 เรื่อง ทั้งในด้านการเปิดตลาดการค้า การบริการ การลงทุน ตลอดจนปฏิรูปและสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก เช่น ด้านนโยบายการแข่งขัน การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีมาตรฐานต่างๆ ที่ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้า มาตรฐานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานการใช้แรงงาน เป็นต้น ซึ่งในการเจรจา TPP ได้กำหนดให้ทุกประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมีข้อผูกพันที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งหากประเทศที่สนใจเข้าร่วมภายหลังจากที่ได้มีการเจรจาความตกลงเสร็จสิ้นไปแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่ประเทศสมาชิกเดิมเห็นชอบแล้วได้อีก

ทั้งนี้ แม้ว่าทั้ง 12 ประเทศจะได้บรรลุความตกลงร่วมกันไปเมื่อ 5 ตุลาคม 2558 แต่ในทางปฏิบัติอาจยังต้องรอกระบวนการในการบังคับใช้ซึ่งคาดกว่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 1-2 ปี เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกจะต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการการบังคับใช้เป็นกฎหมายในประเทศของตน อาทิ สหรัฐฯ จะต้องผ่านสภาคองเกรส ญี่ปุ่นจะต้องผ่านการพิจารณาจากทั้งรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น รวมถึงประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย นอกจากนี้ ความตกลง TPP นี้ยังมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศต่อสหรัฐฯ ในการที่จะกลับมามีอิทธิพลมากขึ้นรวมถึงถ่วงดุลอำนาจจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น ข้อตกลง TPP จึงไม่ได้เชิญจีนเข้าร่วมการเจรจาแต่อย่างใด นักวิเคราะห์บางส่วนจึงเรียกข้อตกลงนี้ว่า ข้อตกลง “ABC” (Anyone but China)

 ผลกระทบต่ออัญมณีและเครื่องประดับไทย

หากพิจารณาจากฐานข้อมูล Global Trade Atlas พบว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2557 ไปยังประเทศในกลุ่ม TPP มีมูลค่า 2,582.68 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.94 (หรือร้อยละ 29.74 หากไม่รวมการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป) โดยไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุดร้อยละ 13.51 รองมา คือ สิงคโปร์ร้อยละ 4.80 ญี่ปุ่นร้อยละ 3.65 ออสเตรเลียร้อยละ 2.31 ขณะที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยมาเลเซีย แคนาดา เวียดนาม นิวซีแลนด์ เม็กซิโก ชิลี บรูไน และเปรู รวมกันมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 1.67

แผนภาพสัดส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังประเทศในกลุ่ม TPP

ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

แต่หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศที่อยู่ในกลุ่ม TPP และยังไม่บรรลุความตกลงการค้าเสรีกับไทย ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก พบว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกของไทยที่สำคัญในอันดับที่ 2 (รองจากฮ่องกง) ขณะที่แคนาดา และเม็กซิโก เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 20 และ 51 ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังทั้ง 3 ประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.18 (ร้อยละ 19.59 กรณีไม่รวมมูลค่าการส่งออกทองคำฯ) โดยสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญที่สุด อีกทั้งยังเป็นทางผ่านของสินค้าไทยไปยังแคนาดาและเม็กซิโกอีกช่องทางหนึ่งด้วย  

การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาย่อมจะเป็นแต้มต่อสำหรับผู้ประกอบการไทยในภาพรวม แต่หากพิจารณาการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐฯ จากประเทศในกลุ่ม TPP เทียบกับไทย พบว่า มีเพียงแคนาดาและเม็กซิโกที่อยู่ในอันดับที่ดีกว่าไทย โดยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 3 และ 4  (อันดับที่ 1 และ 2 คือ อินเดีย และอิสราเอล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพชรเจียระไน) ตามลำดับ เหตุผลหลักน่าจะมาจากความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) อย่างไรก็ตาม สินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก ส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบทั้งทองคำ และเงินเป็นหลัก โดยมีเครื่องประดับทองของเม็กซิโกแทรกเข้ามาได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 4.88 (มีส่วนแบ่งในตลาดน้อยกว่าไทยเพียงเล็กน้อย) ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับอยู่ในอันดับที่ 11 มีส่วนแบ่งในตลาดอยู่ที่ร้อยละ 2.43 ขณะที่ประเทศคู่แข่งในแถบอาเซียน พบว่า สิงคโปร์เป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 27 มีส่วนแบ่งในตลาดที่ร้อยละ 0.50 แม้สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบ แต่เครื่องประดับทองที่มีสัดส่วนร้อยละ 24.01 ของมูลค่าการนำเข้านี้ก็มากเพียงพอที่จะทำให้สิงคโปร์เป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับทองในอันดับที่ 13 ของสหรัฐฯ (ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 5 มีส่วนแบ่งในตลาดที่ร้อยละ 5.32) ส่วนเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 38 แม้มีส่วนแบ่งในตลาดเพียงร้อยละ 0.19 แต่หากพิจารณาโครงสร้างสินค้าที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ นั้น พบว่าเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ ส่วนมาเลเซียยังมีส่วนแบ่งในตลาดที่ไม่มากนัก รายละเอียดดังตาราง

ตารางการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐฯ จากสมาชิกในกลุ่ม TPP เทียบกับการนำเข้าจากไทย ปี 2557

ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ดังนั้น หากความตกลง TPP มีผลบังคับใช้ น่าจะทำให้สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย สามารถส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ทั้งสินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป อีกทั้งยังจะดึงดูดใจให้นักลุงทุน/ผู้ประกอบการในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศที่มีปัจจัยสนับสนุน อาทิ ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าอย่างเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ส่วนสิงคโปร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินธุรกิจในลักษณะของการซื้อมาขายไป (Trading) มากกว่านั้น หากสิงคโปร์สามารถก้าวข้ามอุปสรรคในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules Of Origin หรือ ROO) ที่กำหนดให้สินค้าของประเทศสมาชิกภายในกลุ่มต้องมี ROO ถึงร้อยละ 75 อย่างเช่นการร่วมมือกับนักธุรกิจในประเทศกลุ่ม TPP อย่างเวียดนาม หรือมาเลเซีย จนสินค้าได้ ROO ตามที่กำหนดก็จะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับไทย ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีจุดเด่นและเป็นที่ยอมรับในเรื่องของคุณภาพสินค้า ทักษะฝีมือเชิงช่างในการผลิตสินค้าได้เป็นอย่างดีก็ตาม แต่ในระยะยาวไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับบางรายการให้กับประเทศในกลุ่ม TPP ที่มีปัจจัยในการผลิตในระดับที่ใกล้เคียงกันได้ตามเหตุผลข้างต้น

การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการไทย

ด้วยกระบวนการของ TPP ซึ่งประเทศสมาชิกต้องมีการดำเนินงานตามขั้นตอนภายในประเทศของตนก่อนที่จะมีผลบังคับใช้จริง น่าจะทำให้ไทยสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาถึงผลดี ผลเสีย ต้นทุน และผลประโยชน์โดยรวมต่อประเทศให้อย่างถ้วนถี่ก่อนการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาครัฐของไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง TPP ในงานปาฐกถาพิเศษแก่สมาชิกของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ว่า ในที่สุดประเทศไทยก็ต้องเข้าร่วม TPP แต่ขณะนี้ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบนั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณทางบวกต่อการพิจารณาเข้าร่วม TPP ของไทย

ทั้งนี้ ระหว่างที่ต้องรอความชัดเจนของการเข้าร่วม TPP ผู้ประกอบการไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกควรเตรียมความพร้อมและตั้งรับกับผลกระทบจากการเปิดการค้า TPP ดังนี้


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที