GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 23 พ.ย. 2015 15.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1710 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง แนวโน้มการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยในจีนฟุบ...หรือฟื้น...? สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


แนวโน้มการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยในจีนฟุบ...หรือฟื้น...?

โดย รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส*

จากการสังเกตการณ์สถานการณ์การค้าปลีกในเซี่ยงไฮ้ช่วงหลังวันหยุดยาวของจีนในเดือนตุลาคม (Golden Week ที่หยุดฉลองวันชาติ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์) ก็เห็นได้ชัดว่าคนเซี่ยงไฮ้เริ่มมีการจับจ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย รวมไปถึงสินค้าแฟชั่น สินค้าแบรนด์เนม น้อยลงอย่างมาก สมมติฐานจำนวนมากที่อธิบายถึงความซบเซาของตลาดสินค้าเหล่านี้ว่าอาจมาจากการที่คนจีนใช้จ่ายเงินไปค่อนข้างมากในช่วงวันหยุดดังกล่าวในการท่องเที่ยวที่มีทั้งในและต่างประเทศ และบ้างก็ว่าคนเซี่ยงไฮ้จำนวนมากยังเจ็บตัวจากการขาดทุนในตลาดหุ้น จึงอยู่ในช่วงที่ต้องรัดเข็มขัด อะไรที่ไม่จำเป็นก็เลื่อนการซื้อออกไปก่อน ส่วนอีกสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้สูงยิ่งก็คือนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น การรับของขวัญของเจ้าหน้าที่รัฐจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นนโยบายที่เข้มงวดมากในสมัยของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เพราะแต่ก่อนที่นโยบายนี้จะถูกบังคับใช้กัน สินค้าแบรนด์เนม เครื่องประดับ ก็จัดเป็นสินค้ายอดนิยมที่ภาคเอกชนจะซื้อเป็นของขวัญในการติดสินบนแก่เจ้าพนักงานรัฐ

แต่นับเป็นโชคดีว่า ยังมีคนจีนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยเฉพาะพวกกลุ่มเกษตรกรที่ทำไร่ทำนาอยู่ในต่างจังหวัด เพราะอย่างไรก็ตามสินค้าเกษตรก็ยังขายได้อยู่ดี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำเท่าไรก็ตาม เพราะถือว่าเป็นสินค้าจำเป็น คนต่างจังหวัดเหล่านี้จึงนับว่าเป็นกำลังซื้อสำคัญในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือย รวมไปถึงเครื่องประดับ จากการที่ไปเดินสังเกตการณ์ใน Outlets สองแห่งนอกเมืองเซี่ยงไฮ้ที่ขายสินค้าแบรนด์เนม ก็ยังพบเห็นคนต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาจับจ่ายอยู่เหมือนเดิม

แต่ก็มิได้หมายความว่า เกษตรกรทุกประเภทจะโชคดีเหมือนกันหมด อย่างเช่น ในช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลปูขน จากการที่ได้คุยกับเกษตรกรที่เลี้ยงปูขน (ปูขนที่อร่อยที่สุดจะมาจาก Yangcheng Lake ห่างจากเซี่ยงไฮ้ประมาณ 1 ชั่วโมง) ซึ่งถือว่าเป็นอาหารฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่ง และส่วนใหญ่คนจีนก็ชอบที่จะซื้อให้กันเป็นของขวัญ แต่ในปีนี้ ยอดขายปูขนกลับลดลงอย่างมาก สืบเนื่องจากนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีนที่เข้มงวดมาก ทำให้การซื้อปูขนเป็นของขวัญจึงน้อยลงไปด้วย และคนจีนทั่วไปที่มีรายได้อยู่ในระดับปานกลางก็บริโภคปูขนน้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากปูขนแล้ว สินค้าเกษตรอย่างผลไม้บางประเภท เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ พันธุ์ดีที่มีราคาสูง ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะก็เป็นสินค้าอีกอย่างที่นิยมให้เป็นของขวัญกัน บริษัทที่ขายเหล้าจีนที่เรียกว่า เหมาไถ (Maotai) รวมไปถึงผู้ขายปลีกก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะก็เป็นของขวัญยอดนิยมเช่นกัน จนทำให้ปัจจุบันราคาขายเหล้าเหมาไถตกลงไปอย่างมาก

แต่จากการสังเกตการณ์สภาพการค้าปลีกอย่างเดียวก็อาจทำให้เห็นภาพตลาดได้ไม่ครบถ้วนนัก เพราะถึงแม้จะดูเหมือนว่าตลาดซบเซา จากจำนวนคนที่ออกมาจับจ่ายลดน้อยลง แต่ตัวเลขจาก Euromonitor กลับพบว่ายอดขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจีนกลับโตขึ้น 5% ในปี 2558 ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ผู้บริโภคจีนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงหันไปลงทุนในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น เพราะมองว่าเป็นช่องทางการลงทุนที่ดีทางหนึ่ง และนับว่าปลอดภัยกว่าการไปลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนสูง หรือในอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหาล้นตลาดอยู่ และการซื้อเพื่อการลงทุนนี้มักออกมาในรูปของสินค้าชิ้นใหญ่ๆ ที่มีราคาสูงมากกว่า ซึ่งมักไม่อยู่ในรูปของการออกมาเดินซื้อเครื่องประดับในร้านค้าปลีกในรูปแบบที่เคยเป็น และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นการซื้อในต่างประเทศ จึงทำให้สภาพตลาดค้าปลีกในประเทศดูเหมือนจะซบเซาลง

และถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะได้กระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากวันหยุดยาว แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะกลับไปลงทุนในตลาดหุ้นเหมือนแต่ก่อน เพราะยังเกรงถึงความผันผวนที่อาจจะมีขึ้นอีก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าตลาดสินค้าเครื่องประดับ (ที่คนซื้อมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปตกแต่งร่างกาย) จะซบเซาไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าประชาชนจะมีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น และกลับมาลงทุนเหมือนแต่ก่อน แต่ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ก็เริ่มมีสัญญาณว่าตลาดหุ้นได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แล้ว นั่นหมายความว่า โดยรวมแล้วตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจีนก็น่าจะยังไปได้อยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจจะสะดุด เพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนจีนเป็นคนที่ชอบแต่งตัว และถ้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับตอบโจทย์ได้ทั้งสองอย่างคือ ใช้ในการแต่งตัว (และมักใช้เป็นการอวดถึงความมั่งคั่ง สถานะในสังคมด้วย) และเป็นการลงทุน ก็ไม่ทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจีนได้รับผลกระทบมากเหมือนที่คาดการณ์กัน

----------------------------------------------------------------

* Special Contributor : รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก University of South Carolina มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับให้กับ GIT หลาย โครงการ ดร.สมชนก เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน และเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีประสบการณ์มากมายที่จะมามาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน ผลงานเขียนล่าสุดของเธอคือ “อาเซียน เซียนธุรกิจ” หนังสือที่เจาะลึกการทำธุรกิจในอาเซียนได้อย่างถึงแก่น

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที