ปัจจุบันตลาดค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับในฮ่องกงกำลังเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นในหมู่ผู้ประกอบการภายในประเทศ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักในตลาดนี้เดินทางมาเที่ยวยังฮ่องกงน้อยลง และต่างก็ลดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเครื่องประดับหรูหราระดับบนที่มีราคาสูง (High-end Jewelry) และหันมาเลือกซื้อสินค้าเครื่องประดับระดับกลาง (Mid-range Jewelry) แทน อันเป็นผลจากการบังคับใช้นโยบายการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลจีนอย่างเข้มงวด ทำให้การซื้อสินค้าหรูหราราคาแพงซึ่งรวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนส่งผลกระทบต่อยอดซื้อสินค้าหรูหราที่ลดน้อยลงในตลาดจีน รวมทั้งตลาดฮ่องกงตามไปด้วย ซึ่งเห็นได้จากยอดขายปลีกเครื่องประดับและนาฬิกาของฮ่องกงที่ปรับลดลงในปีนี้ โดยในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2015 ลดลง 14.9% และ 10.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จากหลายสำนักอย่าง Bloomberg และ Barclays ต่างเห็นพ้องกันว่า การอ่อนค่าของเงินยูโรและเงินเยน ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรปและญี่ปุ่นมากกว่าที่จะมายังฮ่องกง อีกทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีผลให้ปัจจุบันระดับราคาสินค้าส่วนใหญ่ในฮ่องกงนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าของจีนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้ความได้เปรียบในแง่ราคาสินค้าที่จำหน่ายในฮ่องกงลดน้อยลง ขณะเดียวกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทผู้ค้าเครื่องประดับแบรนด์เนมรายใหญ่จากต่างชาติก็มุ่งเป้าตั้งร้านขยายสาขาเพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยวในฮ่องกงมากขึ้นด้วย ยิ่งซ้ำเติมให้ผู้ประกอบการฮ่องกงบอบช้ำมากขึ้นไปอีก
ที่มา : “Hong Kong is Feeling China’s Pain”. Bloomberg Business. July 27, 2015 |
ฉะนั้น ผู้ประกอบธุรกิจเครื่องประดับในฮ่องกงจึงต้องปรับตัวรับมือกับภาวะการแข่งขันในตลาด พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางในการดำเนินธุรกิจหรือริเริ่มกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ซื้อในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคจีนที่หันมานิยมเครื่องประดับทองกะรัตต่ำลงอย่างเครื่องประดับทอง 18 กะรัตแทนการซื้อเครื่องประดับทอง 24 กะรัต และให้ความนิยมเครื่องประดับหรูในสนนราคาที่ย่อมเยามากขึ้น รวมทั้งเน้นการขยายช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น อาทิเช่น ร้านค้าออนไลน์ Micro Blogging อย่าง Weibo และแอพพลิเคชั่น WeChat เป็นต้น
ทั้งนี้ เห็นได้จากบริษัทผู้จำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ของฮ่องกงอย่าง Chow Tai Fook Jewellery Group ที่กำลังปรับกลยุทธ์ในตลาดบ้านเกิดเสียใหม่ เพื่อดึงดูดลูกค้าในฮ่องกงมากขึ้น หลังจากที่นักท่องเที่ยวจากจีนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัทเริ่มลดน้อยลง Kent Wong กรรมการผู้จัดการของ Chow Tai Fook ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ก่อนหน้านี้ธุรกิจของ Chow Tai Fook เติบโตสัมพันธ์กับภาวะเฟื่องฟูในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันนี้มีตลาดค้าเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากมายในประเทศต่างๆ นอกเหนือจากฮ่องกง
ปัจจุบัน Chow Tai Fook มีจุดจำหน่ายสินค้าอยู่ 2,110 แห่ง ตั้งแต่ตู้จำหน่ายสินค้าขนาดเล็กในห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงร้านสาขาขนาดใหญ่ ส่วนมากจะตั้งอยู่ในจีน และฮ่องกงซึ่งเป็นตลาดเดี่ยวขนาดใหญ่สุดของผู้จำหน่ายรายนี้ที่สร้างรายได้ราวครึ่งหนึ่งของรายได้โดยรวมของบริษัท ซึ่งแต่เดิม Chow Tai Fook เคยมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากการจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้กับนักท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของรายได้จากการจำหน่ายสินค้าโดยรวมในฮ่องกง โดยในจำนวนนี้มากกว่า 90% เป็นยอดซื้อของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่สถานการณ์เช่นนี้กลับเปลี่ยนแปลงไป โดยในไตรมาส 2 ของปีนี้ Chow Tai Fook มีรายได้จากร้านค้าเดียวกันในฮ่องกงและมาเก๊าลดลงไปถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง
Chow Tai Fook จึงกำลังหาลู่ทางที่จะเจาะเข้าไปรองรับความต้องการของชาวฮ่องกงมากขึ้น เพื่อชดเชยกับจำนวนลูกค้าจากจีนที่ลดลง เนื่องด้วยกำลังซื้อของคนในท้องถิ่นเองก็มีเสถียรภาพค่อนข้างมาก บริษัทจึงริเริ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาในร้านมากขึ้น รวมถึงการจัดแสดงสินค้าเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในย่านที่เป็นแหล่งยอดนิยมของคนฮ่องกงในท้องถิ่นมากกว่าจะเลือกเป็นย่านจับจ่ายสินค้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างย่าน Causeway Bay หรือย่าน Tsim Sha Tsui โดยบริษัทมีแผนที่จะปิดสาขา 4 แห่ง ในย่านท่องเที่ยวดังกล่าวของฮ่องกง เพราะมีรายได้ลดลงอย่างมาก
ยุทธศาสตร์อีกอย่างหนึ่งของ Chow Tai Fook คือ การกระตุ้นยอดขายผ่านโซเชียลมีเดีย โดยให้เหล่าคนดังชาวเกาหลีสวมใส่สินค้าของบริษัท และเพิ่มลูกเล่นเก๋ๆ เข้าไปในการออกแบบเครื่องประดับ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าวัยกลางคนชาวจีนมาเป็นเวลานานแล้ว รวมทั้งยังร่วมงานกับบริษัท Walt Disney ในการผลิตสินค้าเครื่องประดับลวดลายการ์ตูนต่างๆ เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภควัยเยาว์
นอกจากนี้ Chow Tai Fook ยังได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น RFID Tag, Logistic Tray, mHand อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาเพื่อควบคุมสินค้าคงคลัง และ Smart Tray ถาดจัดแสดงสินค้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจในแต่ละวันของบริษัท ขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้บริษัทได้รับข้อมูลที่ช่วยให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคและสามารถพัฒนากลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อีกด้วย
ขณะที่ Luk Fook Holdings International ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันโดยมีรายได้ลดลงถึง 19% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2014 Luk Fook จึงได้เร่งปรับแผนเน้นเพิ่มยอดขายในกลุ่มผู้บริโภคชาวฮ่องกงที่มีอยู่ราว 7 ล้านคนแทน โดยยังเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า รังสรรค์เครื่องประดับคุณภาพสูง และการให้บริการลูกค้าอย่างดีเลิศอันเป็นจุดแข็งของบริษัท พร้อมทั้งดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดผ่านการทำประชาสัมพันธ์นำเสนอโปรโมชั่นสินค้าในรูปแบบต่างๆ และการจัดกิจกรรมพิเศษอาทิ งานเลี้ยงอาหารกลางวันพร้อมจัดแสดงแฟชั่นโชว์แก่กลุ่มผู้ซื้อหรือลูกค้าประจำ และจัดเวิร์คช้อปการสร้างสรรค์เครื่องประดับด้วยตนเองสำหรับลูกค้าวีไอพี เป็นต้น อีกทั้งยังมีการปรับปรุงร้านค้าด้วยเทคโนโลยีการจัดแสดงสินค้าอันทันสมัย พรั่งพร้อมด้วยที่ปรึกษามืออาชีพในการให้คำแนะนำสินค้า เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้า
ส่วนบริษัท Emperor Watch & Jewellery ตัวแทนจำหน่ายเครื่องประดับและนาฬิกาหรูหราแบรนด์ Cartier และ Montblanc อาจจะปิดร้านค้าในฮ่องกง 1-2 ร้าน หลังจากหมดสัญญาเช่าในช่วงปลายปีนี้ อันเป็นผลจากรายได้ที่ลดลง ขณะที่ค่าเช่าพื้นที่ร้านค้ากลับมีราคาสูงขึ้น
แม้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและเลือกซื้อสินค้าในฮ่องกงจะมีจำนวนลดน้อยลงตามข้อมูลล่าสุดจาก Hong Kong tourism board ที่ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2015 ซึ่งลดลง 9.8% และ 6.6% ตามลำดับเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากนักท่องเที่ยวราวร้อยละ 80 นั้นเป็นชาวจีน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการจำกัดจำนวนชาวจีนในเมืองเซินเจิ้นที่จะเดินทางไปยังฮ่องกง อีกทั้งในช่วงเทศกาล Golden Week ระหว่างวันที่ 1-7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวที่แต่เดิมชาวจีนนิยมเดินทางมายังฮ่องกงนั้นก็มีจำนวนลดน้อยลงด้วยเช่นกัน
ที่มา : “Macau, Hong Kong See Slowing Golden Week Tourism From China”. Bloomberg Business. October 9, 2015 |
อย่างไรก็ตาม นับเป็นโอกาสดีที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนไม่น้อยยกเลิกแผนการท่องเที่ยวในฮ่องกงและเบนเข็มมาท่องเที่ยวยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียแทน โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายการเดินทางสำคัญในอันดับสองของชาวจีนรองจากญี่ปุ่น (จากข้อมูลของ Chinese online travel platform CTrip ที่ระบุว่าในช่วง Golden Week ที่ผ่านมา ชาวจีนเดินทางไปยังญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ไทย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเก๊า ตามลำดับ) เป็นผลให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามายังไทยมากขึ้นและเลือกซื้อสินค้าไทยรวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับติดตัวกลับไปด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงของโลก ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่จะเตรียมพร้อมรับมือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีศักยภาพเหล่านี้ ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงผ่านการปรับตัวของผู้ค้าปลีกในฮ่องกงที่พลิกเกมกลยุทธ์ทางธุรกิจสร้างความเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมการออกแบบและการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน พร้อมเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์และนำเสนอโปรโมชั่นผ่านสื่อออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างการรับรู้และบอกเล่าต่อไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวในวงกว้าง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้า รวมทั้งเพิ่มทักษะการบริการและการสื่อสารของพนักงานขาย อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสกรุยทางรองรับอุปสงค์จากลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที