เมื่อพูดถึงอินเดีย หลายคนคงนึกถึงการบริโภคเครื่องประดับทองที่อาจเรียกได้ว่าบ้าคลั่งเลยทีเดียวสืบเนื่องมาจากค่านิยมลึกดั้งเดิมที่ฝังรากจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดียมาตั้งแต่อดีต คนทุกเพศทุกวัยต่างต้องการครอบครองเครื่องประดับทองเพื่อเก็บสะสมเป็นสินทรัพย์และสวมใส่ในงานเทศกาลสำคัญต่างๆ และคงไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าเครื่องประดับเงินจะเข้ามามีบทบาทต่อชาวอินเดียในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องประดับทองมีราคาสูงขึ้นจากการจำกัดการนำเข้าทองคำของรัฐบาลอินเดีย ขณะที่โลหะเงินมีราคาถูกกว่าเครื่องประดับทองหลายเท่าตัว อีกทั้งยังมีรูปแบบหลากหลายให้เลือกซื้อ ประกอบกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าเครื่องประดับของชาวอินเดียก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงผลักดันให้ตลาดเครื่องประดับเงินในอินเดียเติบโตมากขึ้น ทั้งนี้ จากการรายงานของ World Silver Survey 2015 ระบุว่าความต้องการบริโภคเครื่องประดับเงินของชาวอินเดียในปี 2558 เติบโตถึงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จากการเปิดเผยของผู้บริหารบริษัท Style Quotient Jewellery ของอินเดียพบว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องประดับเงินในอินเดียมีมูลค่าสูงถึง 75,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า หรือมีมูลค่าราว 225,000 ล้านบาท จากแรงขับเคลื่อนของชาวอินเดียรุ่นใหม่
กลุ่มผู้บริโภคเครื่องประดับเงินในอินเดีย
ว่าด้วยเรื่องของประชากรชาวอินเดียที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน โดยมีจำนวนราว 1,260 ล้านคน และจัดเป็นประเทศที่มีอายุประชากรเฉลี่ยต่ำที่สุดในโลก โดยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรอินเดีย มีอายุต่ำกว่า 25 ปี หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 630 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรในสหรัฐอเมริกาถึง 1.94 เท่า นับว่าเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจมากทีเดียว
กลุ่มคนอินเดียรุ่นใหม่นี้ได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ไม่น้อย ด้วยเกิดในยุคดิจิทัล มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีทันสมัยเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่าย รวมถึงการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์กันอย่างแพร่หลายเฉกเช่นเดียวกับวัยรุ่นในประเทศอื่นๆ ทั้งเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมวิถีชีวิตของชาวอินเดียรุ่นใหม่ให้เปิดรับกระแสแฟชั่นและวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าจากต่างประเทศแบบไม่รู้ตัว และในที่สุดก็ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยให้เปลี่ยนแปลงไปจากแบบเดิมๆ
เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นวัยเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดแรงงานและยังมีรายได้ไม่สูงนัก อีกทั้งมีพฤติกรรมตามกระแสโลก ชื่นชอบความทันสมัย นิยมสวมใส่เครื่องประดับที่มีความหลากหลายเปลี่ยนได้ทุกวัน สามารถใส่เข้าได้กับเครื่องแต่งกายแบบอินเดียและแบบตะวันตก และมีราคาย่อมเยา เครื่องประดับทองซึ่งมีราคาแพง รูปแบบดั้งเดิม และไม่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันจึงถูกลดความสำคัญลง โดยราคาเครื่องประดับเงินที่ชาวอินเดียซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 รูปีหรือ 1,100 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 17 กันยายน 2558 1 รูปี เท่ากับ 0.57 บาท) ขณะที่เครื่องประดับทองมีราคาเริ่มต้นที่ 20,000 รูปีหรือราว 11,400 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าแพงกว่าเครื่องประดับเงินถึง 10 เท่า ดังนั้น เครื่องประดับเงินจึงสามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องรูปแบบและราคาของกลุ่มนี้ได้มากกว่า
นอกจากนี้ คนอินเดียในท้องถิ่นต่างๆ ยังมีกำลังซื้อจำกัดและไม่สามารถซื้อเครื่องประดับทองได้ หากแต่มีความต้องการเครื่องประดับที่สามารถสวมใส่ได้ทุกวันโดยปลอดจากการถูกจี้ปล้น ทำให้เครื่องประดับเงินกลายเป็นสินค้าที่ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ นิยมเลือกซื้อเพื่อสวมใส่ มอบเป็นของขวัญ และใช้ในพิธีแต่งงาน รวมถึงการใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานภาพการแต่งงานอีกด้วย
เครื่องประดับเงินแบบดั้งเดิม VS เครื่องประดับเงินสมัยใหม่
เครื่องประดับเงินแบบดั้งเดิม เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชาวบ้านในรัฐต่างๆ ของอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน มีกระบวนการผลิตแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตามแต่ละพื้นที่ โดยส่วนใหญ่อิงกับวัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่นเป็นหลัก เครื่องประดับเงินแบบดั้งเดิม เช่น Banni, Chunky Style มีการผลิตในรัฐราชสถาน ตอนเหนือของอินเดียซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับแห่งหนึ่งของประเทศ เครื่องประดับเงินในรัฐนี้มักทำด้วยโลหะเงินราวร้อยละ 85 (เครื่องประดับเงินท้องถิ่นจะมีค่าความบริสุทธิ์ของโลหะเงินร้อยละ 75-85) ผู้สวมใส่เครื่องประดับเงินส่วนมากเป็นผู้หญิงในหมู่บ้านต่างๆ ที่ซื้อสวมใส่เพื่อความสวยงามและแสดงสถานะการแต่งงาน โดยเครื่องประดับเงินที่นิยมเลือกซื้อได้แก่ ต่างหู เครื่องประดับศีรษะ กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า และแหวนสำหรับสวมนิ้วเท้า
สำหรับเครื่องประดับเงินสมัยใหม่นั้น เป็นที่นิยมของสาวนักช็อปรุ่นใหม่ที่มักออกไปทำงานนอกบ้านซึ่งจะต้องมีการเข้าสังคมจึงชื่นชอบการสวมใส่เครื่องประดับไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน และสามารถใส่เข้าได้กับเสื้อผ้าทุกสไตล์ รวมถึงมีความสามารถในการใช้จ่ายและเต็มใจซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่าเงิน กลุ่มคนเหล่านี้ผลักดันให้ตลาดเครื่องประดับเงินขยายตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และส่งผลให้ผู้ประกอบการเปิดร้านค้าแบรนด์เครื่องประดับเงินขึ้นมากมายในเมืองสำคัญต่างๆ ของอินเดีย โดยรูปแบบเครื่องประดับเงินที่จำหน่ายให้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้มีทั้งเครื่องประดับเงินล้วน และเครื่องประดับเงินชุบทอง ซึ่งได้พัฒนารูปแบบให้มีความทันสมัยตามแบบตะวันตกมากขึ้น และใช้เนื้อเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์มาตรฐานสากลคือร้อยละ 92.5
เครื่องประดับเงินแบบดั้งเดิมสไตล์ราชสถาน | เครื่องประดับเงินสมัยใหม่แบรนด์ Silvostyle |
ช่องทางการค้าเครื่องประดับเงินในอินเดีย
โดยทั่วไปแล้วเครื่องประดับแบบดั้งเดิมจะวางขายในร้านค้าปลีกขนาดเล็กย่านหมู่บ้านในชนบทและชุมชนเมืองต่างๆ ขณะที่เครื่องประดับเงินสมัยใหม่มักวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกแบบเดี่ยวซึ่งกระจายอยู่ตามย่านการค้าสำคัญ และบนเว็บไซต์ โดยการขายสินค้าออนไลน์เป็นช่องทางที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน จากผลการศึกษาของสมาคมอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือแห่งอินเดียในเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่มีจำนวนถึง 213 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ใช้ในเขตเมืองจำนวน 160 ล้านคน ผู้ใช้ในเขตชนบทมีจำนวน 53 ล้านคน และประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตดังกล่าวได้ทำการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเครื่องประดับเงินในอินเดีย จากจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้การค้าปลีกออนไลน์เติบโตสูงขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันมีบริษัทค้าปลีกออนไลน์เกิดขึ้นจำนวนมากถึง 200 บริษัท ทั้งนี้ บริษัทวิจัยเฟอร์เรสเตอร์ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ยอดค้าปลีกออนไลน์ในอินเดียจะมีมูลค่าสูงถึง 7.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของร้านค้าปลีกออนไลน์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ร้านค้าแบบดั้งเดิมได้ปรับตัวเข้าสู่ตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ในอินเดียเติบโตร้อยละ 100 ทุกปี รวมถึงร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงต่างก็หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ช่วยเพิ่มยอดขายสินค้า ดังเช่นแบรนด์ Silvostyle ของบริษัท Style Quotient Jewellery บริษัทจำหน่ายเครื่องประดับเงินรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในอินเดียก็เปิดร้านค้าออนไลน์ไว้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่คนรุ่นใหม่ได้เลือกซื้อสินค้าและเปรียบเทียบราคาโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปซื้อที่ร้านค้า เป็นต้น
ตัวอย่างร้านค้าออนไลน์เครื่องประดับเงินแบรนด์ Silvostyle |
การเข้าถึงตลาดเครื่องประดับเงินในอินเดียนับเป็นเรื่องท้าทายมากทีเดียว เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีความหลากลายทั้งด้านวัฒนธรรม ภาษา และความต้องการ รวมถึงมีหลากหลายแบรนด์วางจำหน่ายในท้องตลาดทั้งเครื่องประดับอินเตอร์อย่าง Tiffany & Co. หรือ Damas Jewelry และแบรนด์ของอินเดียเอง อาทิ Silvostyle, Amrapali และ PJC เป็นต้น แต่ด้วยพฤติกรรมของชาวอินเดียที่ชื่นชอบสินค้าแบรนด์เนม เปิดรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และการเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่อยู่ในช่วงกำลังเติบโต รวมถึงไทยมีทักษะในการออกแบบในขั้นสูงและชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ไทยจึงอาจใช้โอกาสนี้เข้าไปทดลองทำตลาดเครื่องประดับเงินในอินเดียเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
การเจาะตลาดเครื่องประดับเงินอินเดียนั้น ควรเน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักสำหรับสินค้าเครื่องประดับเงินที่มักอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ของอินเดีย ได้แก่ มุมไบ เดลี และกัลกัตตา โดยผู้ประกอบการไทยต้องนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสินค้าที่ทันสมัย โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ในระดับราคาที่แข่งขันได้ ราคาสินค้าเฉลี่ยชิ้นละไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับการเลือกช่องทางเข้าตลาดอินเดียควรพิจารณาความพร้อมของบริษัทตนเองเป็นหลัก หากมีเงินทุนไม่สูงนักและต้องการลดความเสี่ยงในการดำเนินการสำหรับการเข้าตลาดเป็นครั้งแรกก็อาจใช้วิธีหาตัวแทนจำหน่ายหรือผู้นำเข้าที่มีเครือข่ายกระจายสินค้าที่ครอบคลุม และควรเลือกตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่เพียง 1 – 2 รายเพื่อป้องกันการตัดราคากันเอง อีกทั้งควรทำแคตตาล็อกสินค้าที่มีรูปภาพ ขนาด รหัสสินค้า และราคาสินค้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อธุรกิจกับตัวแทนจำหน่ายและลดปัญหาด้านการติดต่อสื่อสารได้ระดับหนึ่ง สำหรับการหาตัวแทนจำหน่ายหรือผู้นำเข้านอกจากการเข้าร่วมออกงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอินเดียซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการออกบูธแต่ละครั้งค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูลผู้นำเข้าได้จากเว็บไซต์tradeindia.com ซึ่งเป็น B2B e-Marketplace ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียและได้มีการรวบรวมรายชื่อผู้นำเข้าเครื่องประดับเงินไว้ในเว็บไซต์ด้วย หรืออาจใช้บริการเว็บไซต์ออนไลน์ของไทยอย่าง thaitrade.com ที่ปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายแล้วกว่า 200,000 รายการและมีผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้าชมสินค้ามากกว่า 2 ล้านรายจาก 200 ประเทศทั่วโลก หากผู้ประกอบการมีความพร้อมด้านเงินทุนก็อาจใช้วิธีเปิดร้านค้าปลีก หรือฝากขายสินค้าในเคาน์เตอร์ของห้างสรรพสินค้าซึ่งมีมากกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ ส่วนอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่คือ ร้านค้าออนไลน์ ซึ่งวิธีนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ประกอบการไทยเพราะจะไม่สามารถส่งสินค้าได้รวดเร็วเหมือนกับร้านค้าที่อยู่ในอินเดีย แต่มีอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การฝากขายสินค้ากับบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำของท้องถิ่น เช่น Flipkart, Snapdeal เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีใดก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาข้อมูลแต่ละช่องทางอย่างละเอียดและพยายามใช้ทุกช่องทางที่เป็นไปได้ในการเพิ่มมูลค่าการค้าให้มากที่สุด
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าตลาดเครื่องประดับเงินอินเดียนับเป็นโอกาสใหม่ที่ท้าทายและน่าลองสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ไทยยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการส่งออกเครื่องประดับทองคำไปอินเดียภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียได้นั้น ไทยก็น่าจะลองเปลี่ยนทิศทางมาบุกตลาดเครื่องประดับเงินซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพแทน ซึ่งอาจประสบความสำเร็จเกินกว่าที่ผู้ประกอบการไทยคาดคิดไว้ก็เป็นได้
ที่มา: 1. คุณอดุลย์ โชตินิสากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
2. Silver Market Shines in India, เข้าถึงได้จาก http://jeweltrendz.in/silver-market-shines-in-india/
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที