มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.09 (ร้อยละ 8.75 ในหน่วยของเงินเหรียญสหรัฐ) จากเดิมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ที่มีมูลค่า 215,437.72 ล้านบาท (6,687.92 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาอยู่ที่ 239,319.52 ล้านบาท (7,272.93 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีนี้ นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.10 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกที่กลับมาขยายตัวในแนวบวกเป็นผลจากสินค้าหลักอย่างทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปเติบโตได้สูงขึ้นร้อยละ 20.85 อย่างไรก็ตาม เมื่อหักทองคำฯ ออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 153,259.57 ล้านบาท (4,670.08 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.27 (ร้อยละ 4.22 ในหน่วยของเงินเหรียญสหรัฐ) และถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 7 ของไทย
เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า
ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (รวมทองคำ) ที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 คือ ฮ่องกง ซึ่งยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 11.58 จากการส่งออกทองคำฯ ที่ลดลงค่อนข้างมาก แม้ว่าสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังตลาดนี้ทั้งเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนล้วนขยายตัวได้ดี ตลาดส่งออกรองลงมาได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และสิงคโปร์ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 46.20, ร้อยละ 5.70, ร้อยละ 82.32 และร้อยละ 19.52 ตามลำดับ โดยสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ กัมพูชา และสิงคโปร์เกือบทั้งหมดเป็นทองคำฯ ซึ่งเติบโตสูง สำหรับสหรัฐอเมริกานั้นไทยสามารถส่งออกเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนได้มากขึ้น แม้ว่าการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน และเพชรเจียระไนจะปรับตัวลดลงก็ตาม
ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 ยังคงเป็นฮ่องกง ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 20.65 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เบลเยียม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ล้วนมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.71, ร้อยละ 30, ร้อยละ 4.68 และร้อยละ 17.15 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังเยอรมนีคือ เครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองที่เติบโตสูงขึ้น ส่วนเบลเยียมสินค้าส่งออกเกือบทั้งหมดเป็นเพชรทั้งเพชรเจียระไนและเพชรก้อนซึ่งขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไนที่ต่างมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
หากพิจารณามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.15
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที