เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมบีโอไอได้กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟสแรกใน 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา โดยครอบคลุมกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม (ดังภาพประกอบ) ตามศักยภาพและข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ ซึ่งสิทธิพิเศษที่ผู้ลงทุนจะได้รับคือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 5 ปี นอกจากนี้ยังผ่อนปรนเรื่องอายุของเครื่องจักรโดยอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรที่มีอายุไม่เกิน 10 ปีได้ (จากเดิมต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี) แต่ต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ขณะที่กิจการอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นกิจการในกลุ่มเป้าหมายก็สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อเข้าไปลงทุนได้เช่นกันแม้ว่าจะได้รับสิทธิพิเศษน้อยกว่ากิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม แต่ก็นับว่าได้ประโยชน์มากกว่าลงทุนในพื้นที่ทั่วไป
ใน 5 จังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น มี 2 จังหวัดที่เป็นแหล่งศักยภาพด้านอัญมณีและเครื่องประดับ คือ ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว (ติดกับกัมพูชา) และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ติดกับเมียนมาร์) โดยรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ สายงานส่งเสริมการค้าชายแดน คาดว่าในปี 2558 กัมพูชาจะเป็นตลาดการค้าชายแดนที่มีมูลค่าราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท ขยายตัวมากที่สุดถึง 20-30% รองลงมาคือเมียนมาร์ที่มีมูลค่าการค้า 1.4 แสนล้านบาท ขยายตัวราว 6%
ด่านการค้าชายแดนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากนับว่าเป็นเมืองหน้าด่านของการค้าอัญมณี และเป็นด่านการค้าชายแดนที่ทำรายได้ให้กับประเทศไม่น้อย โดยพบว่ามีรายได้จากมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นราว 13% (CAGR ปี 2553-2557) ต่อปี ในด้านการค้าอัญมณีที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น พบว่าที่แม่สอดมีร้านจำหน่ายอัญมณีกว่า 200 ร้านตั้งอยู่บนถนนประสาทวิถี โดยมีเจ้าของร้านทั้งชาวไทยและชาวเมียนมาร์ที่อยู่มานานจนพูดภาษาไทยได้ จำหน่ายอัญมณีหลากหลายชนิดทั้งพลอยเนื้อแข็ง พลอยเนื้ออ่อน ไข่มุก รวมทั้งพลอยหายาก อย่าง Maw Sit Sit มีสีเขียวสดที่พบได้เฉพาะในพื้นที่เมียนมาร์เท่านั้น นอกจากนี้ที่แม่สอดยังเป็นแหล่งจำหน่ายหยกเจไดต์ ซึ่งเป็นหยกคุณภาพดีที่สุดในโลกก็ว่าได้
จากการสัมภาษณ์คุณสุรีรัตน์ เครือวงษ์ ประธานชมรมอัญมณีและเครื่องประดับ แม่สอด จังหวัดตาก ได้แสดงความคิดเห็นต่อการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า ในภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่แม่สอดเองมีลักษณะเป็นธุรกิจขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise : SME) ซึ่งผู้ประกอบการในพื้นที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมากนัก แต่มีผู้ประกอบการนอกพื้นที่ไม่น้อยให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่แม่สอด แม้ว่านโยบายของภาครัฐจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม จึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นรูปธรรม ไม่เป็นแผนอยู่ในกระดาษเหมือนที่ผ่านมา
ข้อมูลอ้างอิง:
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที