GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 07 เม.ย. 2015 05.57 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8078 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (องค์การหาชน) ขอนำเสนอ "สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2558" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.git.or.th/Gem


สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2558

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.44  (ร้อยละ 0.21 ในหน่วยของเงินเหรียญสหรัฐ) จากเดิมในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 ที่มีมูลค่า 60,373.03 ล้านบาท (1,859.98 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาอยู่ที่ 60,637.72 ล้านบาท (1,863.87 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีนี้ นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.41 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทยอันเป็นผลจากมูลค่าส่งออกสินค้ารายการสำคัญส่วนใหญ่เติบโตได้เพิ่มขึ้น เว้นเพียงทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปและอัญมณีสังเคราะห์ที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 28.83 และร้อยละ 35.51 ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าส่งออกไม่รวมทองคำฯ พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 39,476.57 ล้านบาท (1,214.55 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 28.83 (ร้อยละ 28.66 ในหน่วยของเงินเหรียญสหรัฐ)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ในสัดส่วนร้อยละ 34.90 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย และมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 28.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการส่งออกทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เพียงเดือนเดียวมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 66.19 เนื่องจากฐานมูลค่าการส่งออกในเดือนเดียวกันของปี 2557 นั้นค่อนข้างสูงตามราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,300 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากราคาทองคำในปีนี้ที่ปรับลดลงจาก 1,251.85 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในเดือนมกราคมมาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,227.19 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 (http://www. kitco.com) มีผลให้นักลงทุนลดการส่งออกทองคำเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคา ทั้งนี้ ราคาทองคำที่ลดลงนั้น เป็นผลจากนักลงทุนเทขายทองคำและหันไปลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องมาจากตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น จากการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าตลาดแรงงานสหรัฐกำลังฟื้นตัว จนทำให้ประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับมาเป็นกระแสกดดันต่อราคาทองคำอีกครั้ง ประกอบกับแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเริ่มลดลง หลังจากตลาดลดความกังวลต่อประเด็นการเจรจาปัญหาหนี้ของกรีซและความขัดแย้งในยูเครน

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.81 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 19.15 ซึ่งหากแยกพิจารณาในสินค้ารายการสำคัญพบว่า

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 17.08 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย และขยายตัวร้อยละ 21.86 โดยเพชรที่เจียระไนแล้วเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 31.96 สำหรับตลาดส่งออกเพชรที่เติบโตในแนวบวก คือ ฮ่องกง เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา ที่อยู่ในอันดับ 1, 2 และ 5 ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 49.27,ร้อยละ 14.38 และ 1.40 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหลักในในอันดับ 3 และ 4 อย่างอินเดีย และอิสราเอล มีมูลค่าลดลงร้อยละ 16.96 และร้อยละ 18.43 ตามลำดับ

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ในสัดส่วนร้อยละ 12.33 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ด้วยอัตราการเติบโตถึง 1.21 เท่า ทั้งนี้ หากแยกพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 3.69 และมีมูลค่าขยายตัวร้อยละ 17.19 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักไม่ว่าจะเป็นลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ที่อยู่ใน 3 อันดับแรก เติบโตได้
สูงถึงร้อยละ 44.51, ร้อยละ 23.59 และร้อยละ 20.32 ตามลำดับ ส่วนตลาดสำคัญอย่างเยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในอันดับ 4 และ 5 ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.13 และร้อยละ 2.17 ตามลำดับ

ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 คือ ฮ่องกง ด้วยสัดส่วนร้อยละ 25.29 และมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.07 จากการส่งออกพลอยสี ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 32 ได้เติบโตสูงกว่า 2.78 เท่า โดยครึ่งหนึ่งเป็นการส่งออกพลอยเนื้อแข็งเจียระไนที่ขยายตัวสูงกว่า 1.81 เท่า ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนที่เติบโตถึง 5.20 เท่า รวมถึงสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรเจียระไน และเครื่องประดับทองก็ขยายตัวถึงร้อยละ 48.50 และ 3.79 เท่า ตามลำดับ

สวิตเซอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในอันดับ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.26 หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 37.10 จากการส่งออกทองคำฯ ในสัดส่วนราวร้อยละ 92 ได้ลดลงถึงร้อยละ 38.70 อีกทั้งไทยยังส่งออกเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนสินค้ารายการสำคัญถัดมาได้น้อยลงด้วย แม้จะสามารถส่งออกเพชรเจียระไนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไนได้เพิ่มขึ้นก็ตาม

สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญอันดับ 3 ในสัดส่วนร้อยละ 11.72 ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.46 โดยเครื่องประดับแท้เป็นสินค้าส่งออกหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 67 แม้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงินที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.94 หากแต่การส่งออกเครื่องประดับทองยังเติบโตได้ร้อยละ 14.95 สำหรับสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพชรเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ต่างก็มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 84.77, 1.97 เท่า และร้อยละ 10.41 ตามลำดับ

สิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 8.91 และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 47.21 อันเป็นผลจากการส่งออกทองคำฯ ในสัดส่วนราวร้อยละ 85 ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49.53 รวมถึงการส่งออกสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับเทียม เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับทองสามารถขยายตัวได้สูงขึ้นร้อยละ 20.32
ร้อยละ 10.76 และ 3.86 เท่า ตามลำดับ

ส่วนตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สำคัญในอันดับ 5 คือ กัมพูชา  ด้วยสัดส่วนร้อยละ 6.26 และมีมูลค่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 35.08 โดยสินค้าส่งออกทั้งหมดเป็นทองคำฯ ซึ่งมีมูลค่าเติบโตถึงร้อยละ 35.11

ตลาดอื่นๆ ที่มีความสำคัญในลำดับถัดมาและมีมูลค่าส่งออกขยายตัวในแนวบวก ได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม และญี่ปุ่น ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 39.22, ร้อยละ 12.21, และร้อยละ 17.25 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกไปยังเยอรมนีส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 38.06 รองลงมาเป็นเครื่องประดับทองซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.07 ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกไปเบลเยียมคือ เพชรเจียระไนที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องร้อยละ 27.75

สำหรับการส่งออกไปญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้ดีนั้น เป็นผลจากสินค้าที่ส่งออกราวร้อยละ 42 เป็นทองคำฯ เติบโตสูงถึง 1.73 เท่า นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงินไปยังตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.30, ร้อยละ 11.20 และร้อยละ 3.58 ตามลำดับ

ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ อินเดีย ตลาดสำคัญอันดับที่ 9 และ 10 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.31 และร้อยละ 31.84 ตามลำดับ โดยมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ลดลงนั้น เนื่องมาจากไทยส่งออกสินค้ารายการสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง และพลอยเนื้อแข็งเจียระไนได้ลดลงร้อยละ 6.85 และร้อยละ 39.65 ตามลำดับ

ส่วนมูลค่าส่งออกไปยังอินเดียปรับตัวลดลง เนื่องจากสินค้ารายการสำคัญทั้งเพชรเจียระไน พลอยก้อน พลอยเนื้อ-แข็งเจียระไน และเครื่องประดับทอง มีมูลค่าลดลงร้อยละ 17.19, ร้อยละ 28.96, ร้อยละ 18.45 และร้อยละ 91.53ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนยังคงเติบโตได้ร้อยละ 5.26

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ร้อยละ 0.44 (ร้อยละ 0.21 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินเหรียญสหรัฐ) แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อ
ไม่รวมการส่งออกทองคำฯ จะพบว่าเติบโตได้ราวร้อยละ 28.83 (ร้อยละ 28.66 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินเหรียญสหรัฐ) และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.18 (ร้อยละ 30.96 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินเหรียญสหรัฐ) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการส่งออกที่แท้จริงของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่ยังคงเติบโตได้สูง ดังตารางที่ 2

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ดังตารางที่ 3 จะเห็นได้ว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 ฮ่องกงได้กลับขึ้นมาครองส่วนแบ่งสูงสุดอีกครั้ง โดยมีมูลค่าส่งออกเติบโตถึง 1.41 เท่า สำหรับตลาดส่งออกถัดมาที่ขยายตัวในแนวบวก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 11.03, ร้อยละ 12.47 และร้อยละ 30.92 ตามลำดับ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวที่มีทิศทางดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปก็ส่งสัญญาณการฟื้นตัวแบบช้าๆ หลังจากธนาคารกลางยุโรปดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนให้ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเหล่านี้มั่นใจในการจับจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น

ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น อินเดีย ประเทศหมู่เกาะ-แปซิฟิก จีน รวมถึงรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.97, ร้อยละ 17.76, ร้อยละ 31.10, ร้อยละ 17.24, ร้อยละ 9.22 และร้อยละ 70.34 ตามลำดับ โดยมูลค่าส่งออกไปยังตะวันออกกลางที่ลดลงนั้น เนื่องมาจากไทยส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตลาดส่งออกหลักในกลุ่มประเทศนี้ได้น้อยลง ส่วนหนึ่งเนื่องด้วยรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศผู้ซื้อรายอื่นในตะวันออกกลางอย่างอิหร่าน หรือไปยังตลาดรัสเซียโดยตรงมากขึ้น จากเดิมที่มักส่งออกไปผ่านดูไบซึ่งเป็นฐานกระจายสินค้าสำคัญก่อนส่งต่อไปยังประเทศดังกล่าว รวมถึงรายได้ของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่ลดลงจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับลง

สำหรับมูลค่าส่งออกไปยังญี่ปุ่น อินเดีย ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก จีน รวมทั้งรัสเซียและกลุ่มเครือรัฐเอกราชที่ปรับตัวลดลงนั้น ปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ มีผลทำให้ผู้บริโภคในประเทศดังกล่าวระมัดระวังการใช้จ่าย และลดความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับลงตามไปด้วย

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ในอัตราที่สูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงซื้อจากคู่ค้าหลักเดิมทั้งฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพอย่างอาเซียน ในขณะที่ตลาดเป้าหมายใหม่อย่างจีนและรัสเซียซบเซาลงมาก โดยตลาดจีนที่หดตัวลงนั้น เป็นผลจากเศรษฐกิจชะลอตัวอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลจีนที่เปลี่ยนการพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุนมาเน้นการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นแทน ส่วนรัสเซีย กำลังซื้อส่วนใหญ่ของประเทศลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เป็นผลสำเร็จได้

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปีนี้นั้นยังคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกจะขยายตัวได้ดีหากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังทรงตัว ส่วนการส่งออกไปยังประเทศเป้าหมายใหม่อาจชะลอตัวต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แม้ว่ารัฐบาลของประเทศดังกล่าวจะพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากเป็นปัญหาสะสมที่ต้องใช้เวลานาน จึงอาจไม่เห็นผลชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้

ฉะนั้น ผู้ประกอบการคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างใกล้ชิด พร้อมกับวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับแต่ละตลาด โดยในตลาดหลักเดิม ผู้ประกอบการควรพยายามสร้างจุดขายในการออกแบบสินค้าให้โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง และใช้นวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ส่วนตลาดใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็อาจรุกตลาดด้วยสินค้าราคาไม่สูงนัก แต่เน้นดีไซน์สวยงามทันสมัย อย่างไรก็ตาม การค้ากับประเทศดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ได้ จึงควรป้องกันความเสี่ยง เช่นการทำเลตเตอร์ออฟเครดิต (letter of credit หรือ L/C) ไว้ด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเร่งทำการตลาดเชิงรุกแสวงหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยหนทางเหล่านี้ก็น่าจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปีนี้เติบโตได้ดีต่อไป

*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”  

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที