สิงคโปร์ เป็นประเทศขนาดเล็ก ที่มีจำนวนประชากรกว่า 5.5 ล้านคน มีความหลากหลายของเชื้อชาติ ภาษา และศาสนา โดยประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 74.2 มีเชื้อสายจีน ร้อยละ 13.3 เชื้อสายมาเลย์ ร้อยละ 9.2 เชื้อสายอินเดีย ทำให้พิธีแต่งงานของชาวสิงคโปร์มีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและศาสนา บทความนี้จึงขอนำเสนอพิธีวิวาห์ของชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
หนุ่มสาวสิงคโปร์เมื่อตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกัน สิ่งแรกที่จะทำคือจดทะเบียนสมรส เนื่องจากกฏของรัฐบาลสิงคโปร์จะไม่อนุญาตให้คนโสดซื้อคอนโดมิเนียมของรัฐบาลที่มีขนาดหลายๆ ห้องได้ แต่หากจดทะเบียนสมรสแล้ว ก็จะสามารถ "จอง" คอนโดมิเนียมของรัฐบาลได้ โดยจะใช้เวลาในการสร้าง 2-3 ปี ตามระยะเวลาโครงการ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนสมรสสำหรับชาวสิงคโปร์ประมาณ 29 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ 128 ดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับชาวต่างชาติ เมื่อคู่หนุ่มสาวสามารถจองคอนโดมิเนียมได้แล้ว ระหว่างที่รอคอยให้สร้างเสร็จ ทั้งคู่จะช่วยกันเก็บเงินดาวน์ จากนั้นจึงจัดงานแต่งงานเพื่อย้ายเข้าบ้านใหม่ได้เลย
การแต่งงานแบบพิธีจีน หรือที่เรียกว่า “เจี๋ยฮุน” ในภาษาจีนกลาง เริ่มจากที่เจ้าบ่าวเข้าไปทาบทามเจ้าสาว (การอยู่กินกันก่อนจะแต่งงานไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะทั้งสองได้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว) โดยมีการตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้น ค่าสินสอดของชาวสิงคโปร์นิยมเป็นจำนวน 88, 688, 888, 1688, 1888, 4488, 8888 ดอลลาร์สิงคโปร์
เมื่อตกลงเรื่องสินสอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สองสัปดาห์ก่อนงานแต่งงาน ครอบครัวเจ้าบ่าวจะไปเยี่ยมบ้านของเจ้าสาวพร้อมด้วยกระเช้าของขวัญที่ได้เตรียมไว้หรือที่เรียกว่า “กั้วต้าหลี่” ได้แก่ เหล้าบรั่นดี ส้มจีน เค้ก หมูหรือขาหมู เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ของเจ้าสาว เทียนสีแดง รูปนกฟีนิกซ์หรือมังกรจำนวน 1-2 คู่ และเครื่องประดับ นอกจากนี้บางบ้านอาจจะเตรียมสิ่งของเพิ่มเติม ได้แก่ เซ็ตเย็บปักถักร้อย เซ็ตผ้าปูที่นอน อ้อย และน้ำส้ม เป็นต้น
เมื่อครอบครัวเจ้าบ่าวนำสิ่งของในกระเช้าให้ฝ่ายเจ้าสาวแล้ว ครอบครัวเจ้าสาวก็จะรับของในกระเช้า จากนั้นจึงส่งของขวัญคืนทุกอย่างโดยจะนำน้ำส้มหรือน้ำผึ้งแทนที่บรั่นดี ยกเว้นเทียนสีแดง และเครื่องประดับ ซึ่งเครื่องประดับที่ครอบครัวเจ้าบ่าวจัดเตรียมให้มักเป็นเครื่องประดับทอง ได้แก่ ต่างหู สร้อยข้อมือ/กำไล สร้อยคอ แหวนคู่ เรียกว่า “ซื่อเตี่ยนจิน”
คืนก่อนพิธีแต่งงานเจ้าสาวและเจ้าบ่าวจะต้องอาบน้ำล้างตัวด้วยน้ำใบส้มโอหรือใบทับทิม ซึ่งชาวสิงคโปร์เชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากตัว จากนั้นทั้งคู่ต้องแต่งกายด้วยชุดใหม่ สำหรับเจ้าสาวนั้นจะต้องทำพิธีสางผม ด้านหน้าโต๊ะจะเป็นคู่ของเทียนมังกรและนกฟีนิกซ์ จากนั้นจึงเริ่มพิธีสางผมโดยแม่ของเจ้าสาว ซึ่งจะทำการหวีผมจำนวน 4 ครั้งมีความหมายว่า เพื่อให้มีชีวิตคู่ที่ยืนยาว มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง อายุมั่นขวัญยืน เป็นต้น
ภาพประกอบจาก http://singaporebrides.com
ในวันงานเจ้าสาวจะรับประทานอาหารกับพ่อแม่พี่น้องของตนเป็นมื้อสุดท้าย โดยมีแม่คอยคีบอาหารให้พร้อมกับกล่าวอวยพร เมื่อได้เวลาเจ้าบ่าวและครอบครัว รวมถึงเพื่อนเจ้าบ่าวก็จะมารับเจ้าสาวที่บ้าน โดยต้องนำหมูดิบมามอบให้แม่เจ้าสาวแทนยาบำรุงที่ท่านอุตสาห์ตั้งท้องเจ้าสาวมา เมื่อพบหน้าเจ้าสาวแล้ว ทั้งคู่ก็ยังต้องผ่านด่านของผู้ที่มากั้นประตูโดยมีการเล่นเกมส์ซึ่งถือเป็นการทดสอบเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาวจะให้เจ้าบ่าวเต้น ร้องเพลง ตะโกนบอกรักเจ้าสาว หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแสดงความจริงใจต่อเจ้าสาว จากนั้นก็มีการแจกอั่งเปา จึงสามารถพาเจ้าสาวมาเข้าพิธีได้
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีทางบ้านเจ้าสาว ก็มาถึงตอนที่เจ้าสาวจะต้องนั่งรถไปกับเจ้าบ่าว พร้อมด้วยคนถือตะเกียงซึ่งจะต้องเป็นญาติผู้ชายของฝ่ายหญิง รวมทั้งคนหาบขนม พ่อเจ้าสาวจะต้องเป็นคนจูงเจ้าสาวขึ้นรถ พลางกล่าวอวยพรพร้อมกับพรมน้ำใบทับทิมไปด้วยว่า ขอให้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เปลี่ยนคุณหนูให้เป็นคุณหญิง และก่อนที่เจ้าสาวจะเข้าบ้านฝ่ายเจ้าบ่าว หากเจ้าสาวมีประจำเดือนก็ต้องก้าวข้ามกระถางที่จุดไฟไว้ จึงจะเข้าบ้านได้ และหากเจ้าสาวไม่มีประจำเดือนก็ไม่จำเป็น
ทันทีที่เข้ามาในบ้าน บ่าวสาวจะไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว แบบเดียวกับที่ทำในบ้านของเจ้าสาว จากนั้นจึงคารวะน้ำชาแก่พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ พิธีการนี้ถือเป็นการแนะนำให้ญาติๆ รู้จักสะใภ้หน้าใหม่ไปด้วยในตัว และท่านก็จะแจกอั่งเปาพร้อมทั้งอวยพรให้เป็นการตอบแทน
บ่าวสาวจะทานบัวลอยไข่หวานร่วมกัน เพื่อทั้งคู่จะได้รักใคร่ ปรองดอง และหวานชื่นเหมือนรสชาติและสีของขนม รุ่งเช้าถัดจากวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องตื่นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ลูกสะใภ้ ปรนนิบัติพ่อแม่สามีด้วยการยกน้ำล้างหน้าให้ท่าน บางครอบครัวอาจปฏิบัติตามธรรมเนียมนี้ถึง 3 วัน หรือบางราย 12 วัน
ภาพประกอบจาก http://www.antonchia.com/weddings/jonathan-diane-at-hotel-fort-canning-singapore-garden-weddings/
งานเลี้ยงฉลองการแต่งงานของชาวสิงคโปร์นิยมจัดเป็นโต๊ะจีน ตามประเพณีแล้วจะต้องทำพิธีให้เรียบร้อยก่อนจึงจะเริ่มเสิร์ฟอาหารหลังสองทุ่มครึ่งเป็นต้นไป พิธีการบนเวทีไม่ต่างจากคนไทยนัก มีการฉายพรีเซ็นเทชั่นแนะนำคู่บ่าวสาว การจุดเทียน ตัดเค้ก และมีการอวยพรคู่บ่าวสาวบนเวทีโดยจะนิยมเชิญแขกนับสิบคนขึ้นไปดื่มอวยพรบนเวที โดยจะกล่าวว่า “หยิ่นเซิง” แปลว่า Cheers เหมือนคำว่า “ไชโย” ของคนไทย
(ซ้าย) ภาพประกอบจาก http://singaporebrides.com (ขวา) ภาพประกอบจาก http://www.jeromegohwedding.com.sg
ชุดแต่งงานในพิธียกน้ำชาเจ้าบ่าวเจ้าสาวนิยมใส่ชุดจีน เจ้าบ่าวสวมเสื้อคอจีนสีแดง กางเกงสีดำหรือสีแดง เจ้าสาวสวมชุดกี่เพ้าสีแดง ส่วนพิธีฉลองงานแต่งงานเจ้าบ่าวสวมสูทสากล เจ้าสาวสวมชุดแต่งงานตามสมัยนิยมเครื่องประดับของเจ้าสาวขึ้นอยู่กับรายได้ เครื่องประดับไฮเอนด์นิยมแบรนด์ Cartier, Love & Co. และ Larry Jewelry แบรนด์ระดับกลางนิยม Lee Hwa แต่หนุ่มสาวสมัยใหม่นิยมแบรนด์ JannPaul เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นแบรนด์ของชาวสิงคโปร์เอง ซึ่งมีรูปแบบที่ทันสมัยและราคาไม่สูงมาก
ข้อมูลอ้างอิง:
1) http://www.novotelclarkequay.com/singapore-wedding-rituals/
2) http://singaporebrides.com/articles/2012/10/wedding-traditions-the-traditional-bride
3) http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=mnpg&date=24-02-2013&group=1&gblog=1
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที