GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 20 มี.ค. 2015 11.08 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6029 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ ขอนำเสนอบทความเรื่อง "เจาะกลุ่มเป้าหมายรุกตลาดเครื่องประดับเงินในเยอรมนี" ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.git.or.th/Gem


ศักยภาพเครื่องประดับเงินไทยในเยอรมนี

เป็นที่ทราบกันดีว่า เยอรมนีเป็นตลาดผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และเป็นคู่ค้าหลักของไทยในสหภาพยุโรปมาเป็นเวลายาวนาน อัญมณีและเครื่องประดับจากไทยโดยเฉพาะเครื่องประดับเงินเป็นที่ต้องการในตลาดเยอรมนีเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและชาวเยอรมนีให้การยอมรับทั้งด้านฝีมือ คุณภาพ และราคา เยอรมนีจึงนับเป็นตลาดสำคัญที่ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับเครื่องประดับเงินไทย หากแต่ผู้ประกอบการต้องรู้จักใช้กลยุทธ์เจาะตลาดที่เหมาะสม โดยเน้นเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และรุกตลาดผ่านช่องทางที่หลากหลายก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังเยอรมนีได้เป็นผลสำเร็จ

ศักยภาพเครื่องประดับเงินไทยในเยอรมนี

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก ท่ามกลางความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรป เศรษฐกิจของเยอรมนีกลับเติบโตอย่างสดใส สอดคล้องกับรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) ที่ได้เปิดเผยตัวเลขการค้าในปี 2557 ว่ามีรายได้จากการส่งออกสินค้าราว 1.134 ล้านล้านยูโร ขณะที่มีมูลค่านำเข้าสินค้ารวม 9.17 แสนล้านยูโร ซึ่งการส่งออกสินค้าในมูลค่าที่สูงกว่าการนำเข้านั้น ส่งผลให้งบประมาณของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมาเกินดุลทั้งสิ้น 2.17 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็นร้อยละ 7.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นับเป็นการเกินดุลการค้าที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก

จากสภาพเศรษฐกิจที่ดีดังกล่าวทำให้ชาวเยอรมนีมีศักยภาพในการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับในระดับสูง และแม้ว่าผู้บริโภคจะมีความมั่นใจในการจับจ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาแพง ทว่าเครื่องประดับเงินยังคงเป็นสินค้าที่ชาวเยอรมนีชื่นชอบไม่เสื่อมคลาย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเยอรมนีนำเข้าเครื่องประดับเงินเฉลี่ยปีละ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ทั้งที่นำเข้ามาบริโภคภายในประเทศและกระจายสินค้าต่อไปยังตลาดอื่นๆ ) โดยนำเข้าสินค้าจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ จากสถิติ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2557 เยอรมนีนำเข้าเครื่องประดับเงินจากทั่วโลกประมาณ 661.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.49 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยนำเข้าจากไทยสูงที่สุดด้วยมูลค่านำเข้าราว 471.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 18.68 (ประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับเงินไทยไปยังเยอรมนีเป็นของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตขนาดใหญ่ในประเทศไทย)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที