GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 11 ก.พ. 2015 09.45 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7695 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประัดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดัีบ (องค์การมหาชน) ขอนำเสนอ "สถานการณ์การนำเข้าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 2557" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.git.or.th/Gem


สถานการณ์การส่งออก

สถานการณ์การนำเข้าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 2557

โดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยขยายตัวร้อยละ 5.79 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงถึงร้อยละ 45.26 โดยเครื่องประดับแท้เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญ ส่วนทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าหลักในการนำเข้า แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไม่รวมทองคำฯ จะพบว่าขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 13.43 อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในปี 2558 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราลดลงจากปี 2557 แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวแต่จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลง และค่าเงินสกุลหลักของโลกที่ผันผวนสูง

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79 (ลดลงร้อยละ 0.24 ในหน่วยของเงินเหรียญสหรัฐ) จากเดิมในปี 2556 ที่มีมูลค่า 305,820.06 ล้านบาท (10,084.78 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาอยู่ที่ 323,533.73 ล้านบาท (10,060.99 ล้านเหรียญสหรัฐ) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 4 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.42 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย อย่างไรก็ตาม หากนำมูลค่าการส่งออกดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเพื่อการลงทุน ในสัดส่วนราวร้อยละ 28 พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 233,850.46 ล้านบาท (7,281.44 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 13.43 (ร้อยละ 6.89 ในหน่วยของเงินเหรียญสหรัฐ)

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวปรับตัวลดลงร้อยละ 45.26 (ลดลงร้อยละ 48.55 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินเหรียญสหรัฐ) จากมูลค่า 562,833.95 ล้านบาท (18,456.32 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาอยู่ที่ 308,114.99 ล้านบาท (9,495.89 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ทั้งนี้ หากพิจารณาดุลการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับพบว่าในปี 2557 ไทยเกินดุล 15,418.74 ล้านบาท (565.10 ล้านเหรียญสหรัฐ) ดังแผนภาพที่ 1 ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าครั้งแรกในรอบสี่ปี นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากการนำเข้าทองคำฯ ลดลง ขณะเดียวกันไทยสามารถส่งออกสินค้าที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศอย่างเครื่องประดับแท้ทั้งเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และอัญมณีเจียระไนได้เพิ่มมากขึ้น

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในปี 2557 คือ เครื่องประดับแท้ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 38.23 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 9.73 (ร้อยละ 3.42 ในหน่วยเงินเหรียญ-สหรัฐ) ซึ่งหากแยกพิจารณาในสินค้ารายการสำคัญพบว่า

ทั้งนี้ การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีมูลค่าลดลงนั้น เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หันไปนำเข้าเครื่องประดับทองจากประเทศคู่ค้าอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะอินเดีย ด้วยเครือข่ายการค้าและความสัมพันธ์อันดีระหว่างอินเดียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกอบกับผู้ประกอบการชาวอินเดียสามารถผลิตเครื่องประดับสไตล์อาหรับซึ่งสอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้าสินค้าจากอินเดียมากขึ้น

ส่วนการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรได้ลดลง เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน ผู้บริโภคจึงระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้ความต้องการซื้อเครื่องประดับทองซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกเครื่องประดับทองไปยังตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างแคนาดา สิงคโปร์ บาห์เรน และรัสเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10, 11, 13 และ 14 ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.04, ร้อยละ 48.98, ร้อยละ 47.78 และร้อยละ 43.62 ตามลำดับ โดยการส่งออกเครื่องประดับ-ทองไทยไปยังสิงคโปร์ ส่วนหนึ่งเพื่อจำหน่ายในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาดอื่นๆ ขณะที่บาห์เรนและรัสเซียนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังสหรัฐอเมริกา ตลาดหลักที่มีส่วนแบ่งสูงสุดกว่าร้อยละ 37 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.63 เนื่องด้วยความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ผู้บริโภคจึงเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการซื้อเครื่องประดับเงินซึ่งมีราคาย่อมเยาในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาเป็นการซื้อเครื่องประดับทองที่มีมูลค่าเพื่อสะสมเป็นสินทรัพย์แทนมากขึ้น

ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 27.72 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 10.01 อันเป็นผลมาจากราคาทองคำที่ปรับขึ้นลงอย่างผันผวนอยู่ในแนวลบ ทำให้ราคาเฉลี่ยทองคำในปี 2557 อยู่ที่ระดับ 1,266.40 เหรียญ-สหรัฐต่อออนซ์ (www.kitco.com) ลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 10.26 ซึ่งราคาทองคำที่ปรับลดลงนั้น ปัจจัยหลักยังคงมาจากความกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในรอบปีไม่ว่าจะเป็นรายงานภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่สะท้อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบที่ลดลงต่อเนื่องจนทำให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจของรัสเซียที่คาดว่าอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยจึงทำให้นักลงทุนเทขายทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และโยกเม็ดเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

อย่างไรก็ดี ราคาทองคำได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2557 และสูงขึ้นต่อเนื่องในเดือนมกราคม 2558 จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน รวมถึงประเด็นที่ธนาคารกลางหลายประเทศออกมาตรการพยุงค่าเงินของประเทศตน และธนาคารเหล่านี้ยังทยอยซื้อทองคำสะสมเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ได้ยกเลิกเพดานการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินฟรังก์สวิสเมื่อเทียบกับยูโร ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในกรีซ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจึงยังคงมีผลต่อทิศทางของราคาทองคำในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 นี้

เพชร เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 18.24 และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.43 โดยเพชรที่เจียระไนแล้วนับเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 13.37 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับตลาดส่งออกเพชรที่สำคัญของไทยใน 5 อันดับแรก คือ ฮ่องกง เบลเยียม อินเดีย อิสราเอล และสหรัฐอเมริกาที่ล้วนมีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 15.06, ร้อยละ 16.67, ร้อยละ 9.22, ร้อยละ 12.11 และร้อยละ 50.00 ตามลำดับ นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกเพชรไปยังตลาดศักยภาพที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างจีนและอาร์เมเนีย ซึ่งอยู่ในอันดับ 9 และ 10 ได้เพิ่มขึ้นถึง 1.36 เท่า และ 35.08 เท่า ตามลำดับ  

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 4 ในสัดส่วนร้อยละ 9.09 และขยายตัวถึงร้อยละ 28.38 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ หากแยกพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 4.03 และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 18.89 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 5 อันดับแรกไม่ว่าจะเป็นลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ต่างมีมูลค่าขยายตัวร้อยละ 39.62, ร้อยละ 6.23, ร้อยละ 47.96, ร้อยละ 3.94 และร้อยละ 17.18 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ ไม่สูงนักนิยมสินค้าแฟชั่นทันสมัย ราคาไม่แพงและสามารถซื้อหาปรับเปลี่ยนได้ตามเทรนด์ เครื่องประดับเทียมของไทยซึ่งได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ ราคา และดีไซน์จึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนดังกล่าว

ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีมูลค่าสูงสุดในปี 2557 คือ ฮ่องกง ด้วยสัดส่วนร้อยละ 24.79 หากแต่มีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 0.16 เนื่องจากการส่งออกทองคำฯ สินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 27 ปรับตัวลดลงร้อยละ 29.93 ขณะที่การส่งออกสินค้าถัดมาอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.22, ร้อยละ 10.10, ร้อยละ 29.46 และร้อยละ 31.42 ตามลำดับ

สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในอันดับ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.50 ด้วยมูลค่าเติบโตร้อยละ 9.52 โดยสินค้าส่งออกหลักราวร้อยละ 77 เป็นเครื่องประดับแท้ แม้ส่วนมากเป็นการส่งออกเครื่องประดับเงินที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.63 หากแต่การส่งออกเครื่องประดับทองยังขยายตัวได้ร้อยละ 17.41 อีกทั้งยังสามารถส่งออกเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน สินค้าสำคัญรองลงมาได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.09, ร้อยละ 27.73 และร้อยละ 43.98 ตามลำดับ

สวิตเซอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 3 ในสัดส่วนร้อยละ 11.58 ด้วยมูลค่าขยายตัวถึงร้อยละ 50.58 อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างทองคำฯ ในสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 ได้เติบโตถึงร้อยละ 58.26 รวมทั้งไทยยังสามารถส่งออกเครื่องประดับซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเครื่องประดับทองได้สูงถึงร้อยละ 35.24

เยอรมนี นับเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 4 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 6.06 และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 21.72 โดยเครื่องประดับแท้เป็นสินค้าส่งออกหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 89 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงินที่ขยายตัวร้อยละ 24.41 นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าสำคัญถัดมาอย่างเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเทียมไปยังตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.37 และร้อยละ 3.94 ตามลำดับ

ส่วนตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สำคัญในอันดับ 5 คือ สิงคโปร์ ในสัดส่วนร้อยละ 4.81 ปรับตัวลดลงร้อยละ 42.73 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างทองคำฯ ในสัดส่วนกว่าร้อยละ 72 ด้วยมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 53.35 ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดโลกที่ลดความต้องการสินค้าเพื่อการลงทุนอย่างทองคำลง ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญถัดมาทั้งเครื่องประดับเทียม เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงินยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 47.96,
ร้อยละ 48.98 และร้อยละ 72.50 ตามลำดับ

สำหรับตลาดอื่นๆ ที่มีความสำคัญในลำดับถัดมาและมีมูลค่าส่งออกเติบโตได้ดี ได้แก่ กัมพูชา เบลเยียม ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ต่างมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 72.84, ร้อยละ 17.67, ร้อยละ 7.81 และร้อยละ 24.72 ตามลำดับ โดยสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังกัมพูชาเกือบทั้งหมดเป็นทองคำฯ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74.25 ส่วนการส่งออกไปเบลเยียมนั้นส่วนมากเป็นเพชรเจียระไนซึ่งเติบโตได้ร้อยละ 14.95

มูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการส่งออกทองคำฯ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม และเพชรเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 54.05, ร้อยละ19.59, ร้อยละ 11.26 และร้อยละ 10.39 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรขยายตัวได้ดีจากสินค้าส่งออกสำคัญไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเทียม ที่ล้วนเติบโตได้ร้อยละ 9.26 และร้อยละ 17.18 ตามลำดับ แม้ว่าสินค้าส่งออกหลักอย่างเครื่องประดับ-ทองจะมีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.00 ก็ตาม

ขณะที่มูลค่าส่งออกไปยังอินเดียตลาดในอันดับ 9 ลดลงร้อยละ 1.11 เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับทองและทองคำฯ ซึ่งเคยเป็นสินค้าสำคัญของไทยไปยังตลาดนี้มีมูลค่าลดลงร้อยละ 21.63 และร้อยละ 97.28 ตามลำดับ จากมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าทองคำและเครื่องประดับทองจากไทยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ส่วนสินค้าส่งออกไปยังอินเดียในสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเพชรเจียระไนที่ขยายตัวได้ดีร้อยละ 9.62 นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกโลหะเงิน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน พลอยก้อน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน สินค้าส่งออกรายการถัดมาได้เพิ่มขึ้นถึง 14.13 เท่า, ร้อยละ 7.49, ร้อยละ 63.47 และร้อยละ 51.24 ตามลำดับ

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ในระหว่างปี 2554-2557 ดังตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่า ในปี 2557 การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าขยายตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อินเดีย อาเซียน ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช รวมถึงจีน ที่ต่างเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 18.60, ร้อยละ 10.24, ร้อยละ 9.56, ร้อยละ 18.37, ร้อยละ 37.26,ร้อยละ 12.34, 1.25 เท่า และ 1.03 เท่า ตามลำดับ โดยการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีนั้นมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของโลก และมีผลให้ผู้บริโภคที่ชะลอการซื้อสินค้าในช่วงเศรษฐกิจซบเซากลับมามีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยในปีนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้นคือ อาเซียน ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีมูลค่าส่งออกไม่สูงนักหากแต่กลับมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยตลาดส่งออกหลักของไทยในอาเซียนก็คือสิงคโปร์ที่เติบโตถึงร้อยละ 41.68 ซึ่งสามารถส่งออกเครื่องประดับเทียม เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนตลาดสำคัญรองลงมาคือ มาเลเซีย ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 62.73 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และเพชรเจียระไนได้มากขึ้น ส่วนเวียดนามเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 3 ด้วยมูลค่าเติบโตขึ้นร้อยละ 52.79 โดยสินค้าส่งออกสำคัญเป็นเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงินที่ขยายตัวสูงขึ้น

รัสเซียและประเทศในกลุ่มเครือรัฐเอกราช เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพโดดเด่นที่ไทยควรทำตลาดอย่างจริงจัง ด้วยมีมูลค่าส่งออกเติบโตสูงและมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักมาจากการส่งออกไปยังรัสเซียที่มีมูลค่าขยายตัวกว่า 1.07 เท่า โดยสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นคือ เครื่องประดับเงิน และ เครื่องประดับทอง ส่วนตลาดสำคัญรองลงมาคือ อาร์เมเนีย มีมูลค่าสูงขึ้นถึง 6.60 เท่า ซึ่งสินค้าส่งออกหลักเป็นเพชรก้อน และเครื่องประดับทองที่ต่างขยายตัวได้ดี

สำหรับการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการส่งออกสินค้าหลักทั้งเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับ-ทอง และเพชรเจียระไนที่ต่างเติบโตได้สูง โดยตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรกของไทยในกลุ่มสหภาพยุโรปคือ เยอรมนีเบลเยียม และสหราชอาณาจักรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.21, ร้อยละ 17.67 และร้อยละ 7.46 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนั้นมีสัดส่วนตลาดและมูลค่าลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้น้อยลงถึงร้อยละ 28.99 โดยสินค้าส่งออกสำคัญทั้งเครื่องประดับ-ทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนต่างปรับตัวลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งมาจากสงครามความขัดแย้งจากผู้ก่อการร้ายกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่สร้างความรุนแรงขึ้นภายในตะวันออกกลาง ซึ่งมีส่วนให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง ส่งผลต่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าต่อไปยังประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางให้ลดปริมาณการนำเข้าลงตามไปด้วย อีกทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังหันไปนำเข้าสินค้านี้ผ่านทางประเทศอื่นๆ อย่างเช่นอินเดียและฮ่องกงมากขึ้นแทนการนำเข้าจากไทยโดยตรง สำหรับตลาดส่งออกสำคัญรองลงมาอย่างอิสราเอล และบาห์เรน ต่างมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.86 และร้อยละ 49.98 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังอิสราเอลคือ เพชรเจียระไน และเพชรก้อน ส่วนสินค้าที่ส่งออกไปบาห์เรนเกือบทั้งหมดเป็นเครื่องประดับทอง

ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าลดลงต่อเนื่อง นับจากปีที่ผ่านมา อันเป็นผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเดือนเมษายน 2557 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว เนื่องจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี แม้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ชาวญี่ปุ่นที่มีฐานะดีกำลังซื้อสูงส่วนหนึ่งก็หันไปซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งทองคำ เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัมเพิ่มมากขึ้น


 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที