GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 11 ก.พ. 2015 09.45 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7428 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประัดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดัีบ (องค์การมหาชน) ขอนำเสนอ "สถานการณ์การนำเข้าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 2557" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.git.or.th/Gem


สถานการณ์การนำเข้า

สถานการณ์การนำเข้า

การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2557 มีมูลค่า 308,114.99 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 45.26 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากสินค้านำเข้ารายการสำคัญต่างปรับตัวลดลง โดยเฉพาะทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 69.59 และมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 53.29 สืบเนื่องมาจากราคาทองคำในภาพรวมปรับตัวในแนวลบตลอดปีตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น อีกทั้งประเทศสำคัญในกลุ่มสหภาพ-ยุโรปและญี่ปุ่นได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับสูงขึ้น ซึ่งดึงดูดให้นักลงทุนหันไปซื้อสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามากขึ้น ทำให้ทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแต่ให้ผลตอบแทนต่ำมีความน่าสนใจน้อยลง ความต้องการถือครองทองคำในปีนี้จึงลดลง

สินค้านำเข้าสำคัญรองลงมาคือ เพชร มีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 23.36 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพชรเจียระไนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 42.11 ส่วนสินค้านำเข้าในลำดับถัดมา ได้แก่ เครื่องประดับแท้ และ โลหะเงิน มีมูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 2.99 และร้อยละ 19.00 ตามลำดับ ซึ่งเครื่องประดับแท้นำเข้าส่วนมากนั้นเป็นเครื่องประดับทองที่ปรับตัวลดลง ขณะที่พลอยสี สินค้านำเข้าอันดับ 5 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.74 ซึ่งเป็นการนำเข้าพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนที่บางส่วนอาจเพียงแค่ผ่านการตัดหรือโกลนมาเพื่อเจียระไนให้สวยงามโดยช่างฝีมือไทยอีกรอบ ก่อนที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศอื่นๆ หรือนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับภายในประเทศ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสินค้านำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ยังคงเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบ

แหล่งนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญที่สุดของไทย คือ สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 29.69 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ 61.96 ส่วนแหล่งนำเข้าที่มีมูลค่าสูงรองลงมาเป็น สหรัฐอเมริกา ในสัดส่วนร้อยละ 10.97 ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.88 สำหรับแหล่งนำเข้าสำคัญในลำดับถัดมาได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ แอฟริกาใต้ ในสัดส่วนร้อยละ 9.18, ร้อยละ 8.81 และร้อยละ 6.03 ต่างมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 26.81, ร้อยละ 35.82 และร้อยละ 61.90 ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าจากทั้ง 5 ประเทศดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นทองคำฯ

 บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2557 เติบโตได้ร้อยละ 5.79 (ลดลงร้อยละ 0.24 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินเหรียญสหรัฐ) แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำฯ พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.43 (ร้อยละ 6.89 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินเหรียญสหรัฐ) และหากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเติบโตร้อยละ 14.79 (ร้อยละ 8.18 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินเหรียญสหรัฐ) ดังตารางที่ 4 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการส่งออกที่แท้จริงของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่เติบโตได้เป็นอย่างดี โดยขยายตัวได้ในอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำฯ และมูลค่าส่งออกสุทธิในปี 2556 ที่เติบโตเพียงราวร้อยละ 2 และร้อยละ 4 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2558 มีแนวโน้มชะลอการเติบโตจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการโดยเฉพาะประเด็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 และคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในปี 2558 ดังรายละเอียดต่อไปนี้

v เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอื่นกลับชะลอตัวลง ในปี 2557 ที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจหลายประเทศสำคัญที่ยังคงชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกรอบ เว้นเพียงสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจนกระทั่งธนาคารกลางสหรัฐได้ยุติการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการซื้อพันธบัตรในเดือนตุลาคม 2557 โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาตลอดปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ซึ่งขยายตัวได้ดีกว่าปี 2556 ที่เติบโตร้อยละ 2.2 อีกทั้งอัตราการว่างงานและราคาน้ำมันที่ลดลงก็หนุนให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยสินค้ามากขึ้น โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 ในปี 2558 จากสัญญาณบวกดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2558 นี้

ส่วนเศรษฐกิจของประเทศสำคัญอื่นๆ ยังคงอ่อนแอ เริ่มจากสหภาพยุโรป กลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่เศรษฐกิจในบางประเทศยังคงถดถอยยืดเยื้อ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดน้อยลง แม้ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในปี 2557 จะเริ่มขยายตัวได้เล็กน้อยราวร้อยละ 0.8 จากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศหลักอย่างเยอรมนี หากแต่อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปยังอยู่ในระดับต่ำใกล้ร้อยละ 0 และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเงินฝืด อีกทั้งอัตราการว่างงานก็ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ล่าสุดธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรปผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้วงเงินประมาณ 60,000 ล้านยูโรต่อเดือนเป็นระยะเวลา 19 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2559 หรือคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 1.1 ล้านล้านยูโร ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป

สำหรับญี่ปุ่นแม้จะใช้นโยบายอาเบะโนมิกส์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่สามารถดึงประเทศให้พ้นจากภาวะเงินฝืดที่มีมาอย่างยาวนานได้ อีกทั้งการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 ก็ส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดไว้ เพราะทำให้อุปสงค์การบริโภคสินค้าภายในประเทศลดลงอย่างมาก รัฐบาลจึงตัดสินใจยุบสภาและเลื่อนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มรอบสองเป็นร้อยละ 10 ออกไปจากกำหนดเดิมในเดือนตุลาคม 2558 เป็นเดือนเมษายน 2560 จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2557 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.1 จากที่เคยเติบโตร้อยละ 1.6 ในปี 2556 อย่างไรก็ดี พรรค LDP ของรัฐบาลได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง และยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ล่าสุดไอเอ็มเอฟคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2558 จะเติบโตเพียงร้อยละ 0.6 และร้อยละ 0.8 ในปี 2559

ทางด้านจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีทิศทางขาลงต่อเนื่องจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปเน้นการลงทุนแทนที่การส่งออก อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงถึง 2 เท่าของจีดีพี รวมถึงความซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจนส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคลดต่ำลงมาก และการผลิตที่ล้นเกินความต้องการของตลาด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนผลักดันให้เศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโตลงเหลือเพียงร้อยละ 7.4 ในปี 2557 อย่างไร-ก็ตาม ล่าสุดธนาคารกลางจีนได้ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคาร และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลง ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจจีนให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพได้ โดยไอเอ็มเอฟประเมินว่าในปี 2558 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 6.8 ซึ่งต่ำกว่าที่รัฐบาลจีนคาดไว้ที่ร้อยละ 7.0

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัว แต่ประเทศคู่ค้าอื่นทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนเศรษฐกิจกลับชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อจีนกำลังเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแออยู่แล้วให้ฟื้นตัวช้าลงตามไปด้วย ฉะนั้น สถานการณ์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกจึงอาจเป็นปัจจัยลบที่บั่นทอนมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในปี 2558 ได้

v ค่าเงินรูเบิลรัสเซียร่วงหนัก กระทบต่อการส่งออกของไทย รัสเซียเริ่มประสบปัญหาค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 เมื่อกลุ่มชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกับยูเครน ซึ่งรัสเซียก็ได้ตอบโต้ด้วยการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากยุโรปเช่นกัน แต่ปัญหาค่าเงินรูเบิลได้ทวีความรุนแรงในช่วงปลายปี 2557 จากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกหลังจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ประกาศคงกำลังการผลิต ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รัสเซียซึ่งพึ่งพิงการส่งออกน้ำมันเป็นหลักกว่าร้อยละ 60 ของการส่งออกทั้งหมดจึงได้รับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 80 รูเบิลต่อเหรียญสหรัฐในเดือนธันวาคม 2557 โดยอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับต้นปี 2557 ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับต่ำและรัสเซียไม่สามารถหาแหล่งรายได้อื่นมาชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากรายได้น้ำมันแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในไม่ช้านี้ ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในปี 2558 และ 2559 อาจจะหดตัวลงร้อยละ 3.0 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ จากที่เคยเติบโตร้อยละ 0.6 ในปี 2557

รัสเซียถือเป็นตลาดเป้าหมายใหม่ที่สำคัญของไทย ทว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรัสเซียอยู่ในขณะนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังรัสเซียโดยเฉพาะเครื่องประดับเงินให้สะดุดลงหลังจากเติบโตอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยเสียงสะท้อนล่าสุดจากผู้ประกอบการไทยพบว่าลูกค้าชาวรัสเซียได้ชะลอการส่งมอบสินค้าและการสั่งซื้อสินค้ารอบใหม่ในปี 2558 ทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงต้นปี 2558 ลดลงกว่าร้อยละ 50 แล้ว

v ค่าเงินสกุลสำคัญของโลกผันผวน จากแรงกดดันการปรับเปลี่ยนหรือดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ที่สำคัญทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป กอปรกับการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกได้ส่งผลให้เกิดความผันผวนของค่าเงินสกุลหลักของโลก โดยธนาคารกลางในหลายประเทศต้องหันกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ เดนมาร์ก แคนาดา อินเดีย เป็นต้น ขณะที่บางประเทศใช้มาตรการปรับลดค่าเงิน เช่น ธนาคารกลางสิงคโปร์ปรับเปลี่ยนกรอบการเคลื่อนไหวให้มีการยืดหยุ่นลดลง ขณะที่ธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ยกเลิกการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินฟรังก์กับเงินยูโร พร้อมกับประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินทุนไหลเข้าและชะลอการแข็งค่าของเงินฟรังก์ จากมาตรการดังกล่าวทำให้ค่าเงินฟรังก์แข็งค่าขึ้นเกือบร้อยละ 20 ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมาก และส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งภายหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศใช้มาตรการคิวอีก็ยิ่งทำให้เงินยูโรลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2558 นี้ ก็อาจหนุนให้เงินเหรียญ-สหรัฐแข็งค่าขึ้นอีก

นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังได้รับปัจจัยกดดันจากผลการเลือกตั้งกรีซที่พรรคไซริซาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ซึ่งผู้นำพรรคมีนโยบายที่จะยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดที่ดำเนินมา 5 ปี สร้างความกังวลแก่นักลงทุนว่าชัยชนะของพรรคไซริซาจะทำให้กรีซผิดชำระหนี้และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม ล่าสุดผู้นำรัฐบาลมีท่าทีประณีประนอมและประกาศยืนยันที่จะเจรจากับทุกฝ่าย ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันทิศทางค่าเงินยูโรในปี 2558 นี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยคงต้องติดตามสถานการณ์และท่าทีของผู้นำกรีซอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลอื่นที่สำคัญคือ เงินเยนอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 8 ปี หลังจากการขยายวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเป็น 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ส่วนเงินหยวนของจีนก็อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนหลังจากธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่าสองปีเมื่อช่วงปลายปี 2557รวมทั้งค่าเงินของประเทศอื่นในอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ก็อ่อนค่าลงเช่นกัน ขณะที่ค่าเงินบาทของไทย ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.22 เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนธันวาคม 2557 มาอยู่ที่ระดับ 32.56 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่สวนกระแสแข็งค่าขึ้นสูงกว่าประเทศในภูมิภาค แม้ในทางหนึ่งจะส่งผลดีต่อการนำเข้าวัตถุดิบให้มีราคาต่ำลง แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาในการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย อาจทำให้ไทยขายสินค้าได้ยากขึ้นจนต้องปรับลดราคาสินค้า อีกทั้งเงินบาทไทยยังแข็งค่ากว่าเงินยูโรและเงินเยน ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายในตลาดยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักมีราคาแพงขึ้น จึงอาจมีผลต่อการกำหนดราคาซื้อขายสินค้าระหว่างกัน เนื่องด้วยอาจถูกต่อรองราคาจากผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อมากขึ้น หรืออาจส่งผลให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อหรือยกเลิกคำสั่งซื้อเลยก็เป็นได้

v นโยบายปราบทุจริตของจีนกระทบต่อการบริโภคสินค้าหรู นับตั้งแต่จีนออกมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในปี 2556 ที่ผ่านมา มีผลให้ยอดซื้อสินค้าหรูหรารวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับชะลอตัวลง เพราะเดิมทีชาวจีนมีค่านิยมมอบของขวัญแก่หุ้นส่วนทางธุรกิจและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน แต่เนื่องด้วยมาตรการดังกล่าวที่มิได้มีผลกระทบจำกัดเพียงเจ้าหน้าที่ทางการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการเพ่งเล็งการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยของบรรดานักธุรกิจและบุคคลแวดล้อม โดยจีนบังคับใช้มาตรการนี้อย่างเข้มงวดจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคชาวจีนจึงเลิกซื้อของขวัญราคาแพงให้กับหุ้นส่วนทางธุรกิจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ขณะเดียวกันกลุ่มข้าราชการระดับสูง กลุ่มเศรษฐี หรือนักธุรกิจชาวจีนต่างก็ระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าหรูหรา เนื่องจากกลัวการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐในกรณีข้อกล่าวหาการฟอกเงินหรือการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ จึงส่งผลให้ยอดขายสินค้าหรูหราหลายประเภทรวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับอาจลดต่ำลงต่อเนื่องในปี 2558 ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนหรือการส่งออกผ่านไปยังฮ่องกงเพื่อเข้าจีนอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะสินค้าหลักอย่างพลอยสีนั้นได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ ที่อาจมีผลต่อทิศทางค่าเงิน ราคาวัตถุดิบ และอาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกไทย เพื่อจะได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันก็ควรดำเนินกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบหลากหลาย สร้างความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง และทันต่อแนวโน้มความนิยมของผู้บริโภค รวมถึงให้ความสำคัญในการสร้างตราสินค้าเป็นของตนเอง เพื่อทำให้ลูกค้าจดจำและเกิดความภักดีในสินค้าของแบรนด์อันนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว อีกทั้งพยายามสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงใจและรวดเร็ว โดยกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือ การตลาดแบบดิจิตอล (Digital Marketing) ซึ่งเริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญในวงการธุรกิจไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากกระแสความนิยมในการใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ (เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูบ เป็นต้น) ในการติดต่อสื่อสาร หาความบันเทิง และซื้อขายสินค้าเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ นอกจากผู้ประกอบการจะต้องรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับคู่ค้าเดิมแล้วก็ควรแสวงหา โอกาสเพิ่มมูลค่าส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนตลาดคู่ค้าเดิมที่อาจมีกำลังซื้อลดน้อยลงหรือมีคู่แข่งในตลาดที่สูงขึ้น รวมทั้งไม่ควรมองข้ามการทำประกัน
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) ซึ่งหนทางเหล่านี้ย่อมส่งผลให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2558


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที