ISD-Training

ผู้เขียน : ISD-Training

อัพเดท: 08 ธ.ค. 2015 17.22 น. บทความนี้มีผู้ชม: 41477 ครั้ง

อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับคลังสินค้า สินค้าคงคลัง ขนส่งในประเทศ ต่างประเทศ ที่นี่ มีคำตอบ

ลอจิสติกส์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่เก่า ตราบใดที่ ในตลาดยังมีสินค้าขาย ตราบนั้น คุณมีต้นทุนด้านลอจิกติกส์ในสิค้าของคุณทั้งสิ้น

หากไม่ต้องการให้มีเงินจมไปกับสินค้าที่สั่งมาเตรียมขาย
หากไม่ต้องการส่งของให้ลูกค้าช้า
หากว่าไม่อยากมีของล้นสต๊อค

คุณต้องจัดการระบบลอจิสติกส์ให้ดี

แล้วคุณจะมีเงินเพิ่มขึ้นอีกมาก


5 ส. <=== อย่าทำ !!!

เป็นไปได้ยังไง ที่จะไม่ให้ทำ 5 ส. ในเมื่อทุกครั้งที่แนะนำในเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการคลังสินค้า 1 ในนั้น ก็คือการทำ 5 ส. แต่เหตุไฉนวันนี้ ถึงบอกไม่ให้ทำ...
****
ทุกท่านเข้าใจถูกแล้วค่ะ ว่า ในการทำให้คลังสินค้าเราดีขึ้นกว่าเดิมนั้น สิ่งที่ห้ามพลาดคือการจัดทำ 5 ส. แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ทำ 5 ส. ด้วย

ซึ่ง 5 ส. ที่ไม่ควรทำมีอะไรบ้าง
*****

1. ส.สะสม (ตรงข้ามกับสะสาง) – เก็บทุกอย่างไว้ในคลังสินค้า ไม่ว่าจะขายไม่ได้แล้ว หรือ ขายไม่หมด หรือ ผลิตมาเกิน หรือ แผนกนั้นเอามาฝากเก็บ หรือของส่วนตัวผู้บริหารเอาเก็บไว้เพราะไม่อยากให้รกบ้าน หรือ ฯลฯ ทำทุกอย่าง แต่ที่ไม่ทำ คือไม่หาทางระบายสิ่งเหล่านี้ออกจากคลัง ด้วยสาเหตุต้น ๆ แค่คำว่า “เสียดาย” กลัวว่ากำจัดมันแล้ว พอถึงเวลาใช้ หรือลูกค้าดันเกิดอยากได้ (ฝันกลางวัน) แล้วจะไม่มีขายให้ มันก็เลยกลายเป็นของสะสมที่ไม่เกิดมูลค่าใด ๆ กับธุรกิจ และที่สำคัญ เป็นขยะในทางบัญชีด้วย เนื่องจาก ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเก็บของพวกนี้ แทนที่จะทำให้เงินงอกเงย กลับกลายเป็น เงินที่ต้องจมลงไปกับขยะสะสม

====================
ส. ที่ถุกต้องคือการ “สะสาง” อะไรที่ไม่ได้ใช้ อะไรที่ไม่เกิดประโยชน์ กำจัดมันออกไป ทิ้งไว้กลางทางน่ะ เข้าใจรึป่าว แบกไว้ก็หนัก ปลดปล่อยภาระซะบ้าง จะเป็นไร
====================

2. ส.สะดุด (ตรงข้ามกับ สะดวก) – เรียกว่าเกิดจากความมักง่าย เอาตัวเองสะดวกเข้าว่า ตรงไหนมีที่ว่าง ตรงไหนทำงานไม่ลำบาก ตรงไหนง่ายและเร็วสำหรับตัวเอง ก็วางของมันตรงนั้น ไม่ได้สนใจว่าจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับคนอื่นหรือเปล่า แม้แต่ตัวเอง บางครั้งรีบ ๆ ก็สะดุดเอากับของที่ตัวเองวางไว้นั่นแหละ สินค้าไม่มีการจัดแบ่งประเภทให้หาง่าย กว่าจะหาเจอ ต้องค้น คุ้ย รื้อ จนทำให้งานสะดุด เพราะเสียเวลาหาของอยู่ พบเจอบ่อยสุด ๆ ก็ประเภท กล่องเปล่า เศษกระดาษ พลาสติก รถ handlift บันได ไม้กวาด สินค้าที่เพิ่งเข้ามาและยังไม่มีเวลาเก็บ สินค้าที่เกินช่องเก็บของมันและยังไม่หาที่วางเพิ่มเลยวางปะปนกับสินค้าตัวอื่นที่ว่าง ๆ ไปก่อน สาเหตุสำคัญคือคำว่า "เดี๋ยวเก็บ" เพราะมันไม่เคยได้เก็บสักที ฯลฯ ลองเข้าไปเดินดูในคลังสินค้าหรือสโตร์ดูสิ แล้วจะพบว่า เออ จริงว่ะ

====================
ส. ที่ถูกต้อง คือสะดวก นั่นหมายถึง ทุกคนทำงานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย (ไม่ใช่เอาตัวเองสะดวก) หยิบจับได้ง่าย แยกสินค้าเป็นประเภทให้ชัดเจน หาง่าย (ไม่ต้องรื้อ ไม่ต้องค้น) ประหยัดเวลา แถมงานที่ได้ ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก
====================

3. ส.สกปรก (ตรงข้ามกับสะอาด) – ส.นี้ชัดเจนมาก เมื่อเกิดการสะสมของ ไม่จัดระเบียบ จนการทำงานต้องสะดุด ฝุ่นตามของที่สะสม พื้นที่เต็มไปด้วยเศษขยะ ก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพคนทำงาน ส.นี้คงไม่ต้องอธิบายมาก รู้ ๆ ถึงผลของการทำสกปรกกันดีอยู่แล้ว

====================
ส. ที่ถูกต้องคือ สะอาด หมั่นทำความสะอาดโดยการปัด กวาด เช็ดถูสถานที่ อุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องจักรให้สะอาดน่าดูอยู่ตลอดเวลา ดีกับสุขภาพคนทำงานที่สุด
====================

4. ส.สองมาตรฐาน (ตรงข้ามกับ สุขลักษณะ) เมื่อมีการทำ 3 ส.ที่ถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการ สะสาง สะดวก และสะอาด ก็ควรมีการรักษาและปฏิบัติให้ตลอดไป ทว่า ในความเป็นจริง เมื่อไม่มีความเข้มงวดและติดตามการทำ 5 ส. อย่างใกล้ชิด ก็จะเกิดการทำงานสองมาตรฐาน คือบางคนทำได้ บางคนทำไม่ได้, บางแผนกทำได้ บางแผนกห้ามทำ, บางเวลาทำได้ บางเวลาทำไม่ได้ (โดยเฉพาะช่วงที่จะตรวจ 5ส. ตรงตามมาตรฐานทุกอย่าง แต่พอตรวจเสร็จ ก็กลับมาแย่เหมือนเดิม คุ้น ๆ มั้ยครับท่าน) การทำงานที่กำหนดออกมาไม่เป็นมาตรฐาน ทำให้แต่ละคนเกิดความสับสน ว่าอะไรที่ต้องทำกันแน่ งงสิงานนี้

====================
ส. ที่ถูกต้องคือ ส. สุขลักษณะ เมื่อมีการแบ่งความรับผิดชอบของแต่ละแผนกแล้ว ก็ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ ทุกแผนก ทุกคน ต้องยึดถือมาตรฐานเดียวกัน รักษามาตรฐานและปรับปรุงให้ดีขึ้น สร้างความจริงใจและตั้งใจในการร่วมกิจกรรม 5 ส. แก่ทุกคน
====================

5. ส. เสียนิสัย (ตรงข้ามกับ ส. สร้างนิสัย) ต่างคนต่างไม่สนใจเมื่อไม่มีมาตรฐาน ต่างคนต่างทิ้ง ต่างคนต่างสะสม ต่างคนต่างละเลย ที่จะร่วมกันทำ 5 ส. เมื่อสิ่งที่ทำมา ไม่ได้เกิดการตระหนักถึงผลที่ดีอย่างไรต่อคนที่ทำ 5 ส.ที่ถูกต้อง นาน ๆ เข้า ก็เกิดการเสียนิสัย ทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำ หรือง่ายกับตัวเองเท่านั้น จากมาตรฐานที่ถูกต้อง กลับเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานที่ตัวเองอยากให้เป็นหรือมาจรฐานที่เกิดจากความเคยชินมองสิ่งที่ผิดกลายเป็นถูกต้อง จนทำให้เกิดปัญหาเดิม ๆ และต้องกลับไปเริ่มนับ 1 ใหม่กันทุกครั้งไป วนอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นสุด

====================
ส. ที่ถูกต้องคือ ส. สร้างนิสัย รักษาวินัยในการทำงานตามมาตรฐาน หมั่นตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบ กฏเกณฑ์ ข้อบังคับในการทำงาน ทบทวน สร้างความตระหนัก และทัศนคติที่ดีต่อการทำ 5 ส. 
====================

จำไว้ว่า นิสัยไม่สามารถสร้างได้ใน 1 วัน แต่ต้องทำต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า

รู้อย่างนี้แล้ว ลงมือทำ 5 ส.ที่ถูกต้อง และ อย่าทำ 5 ส. ที่ผิด ๆ

====================
สะสาง ไม่ใช่ สะสม
สะดวก ไม่ใช่ สะดุด
สะอาด ไม่ใช่ สกปรก
สุขลักษณะ ไม่ใช่ สองมาตรฐาน
สร้างนิสัย ไม่ใช่ เสียนิสัย

====================

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที