khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 22 ม.ค. 2017 06.32 น. บทความนี้มีผู้ชม: 54570 ครั้ง

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จอยู่ที่ไหน ค้นหาคำตอบดีๆได้ที่นี่

Website เจ้าของผลงาน www.2b2train.com
Facebook: https://www.facebook.com/ebook4ookbee/
Storylog: https://storylog.co/khwanjai/book/581a5bfd9d526ab1781f27ba


เป้าหมายไว้พุ่งชน

        หลายคนอาจจะมีคำถามในใจว่าควรจะตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้กี่ด้านดี Tina Seelig ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชานวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง “What I Wish I Knew When I Was 20” และ “inGenius”   ได้บอกว่าเป้าหมายในชีวิตของเราไม่ควรเกิน 3 อย่าง เพราะถ้าเกิน 3 อย่างเราอาจจะเดินทางไปถึงเป้าหมายช้า หรือไม่ก็เดินทางไม่ถึงเป้าหมายเลย การมีเป้าหมายหลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่ผิด เมื่อเปรียบเทียบเป้าหมายกับการยิงของลูกธนู การยิงลูกธนูด้วยดอกเพียงดอกเดียวพลังทั้งหมดของผู้ยิงจะถูกรวบรวมไว้ที่ปลายธนูเพื่อยิงออกไป แต่ถ้ายิงธนูเพื่อให้เข้าเป้าด้วยลูกธนู 2 ดอกเพียงครั้งเดียว พลังที่ใช้จะถูกแบ่งครึ่งไปยังลูกธนูแต่ละดอก โอกาสที่ลูกธนูเข้าเป้าทั้ง 2 แบบ สามารถเป็นไปได้ 100% และ 0% เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น และการฝึกฝนของผู้ยิง ครั้งหนึ่งคุณ บัณฑิต อึ้งรังสี ได้เล่าให้ฟังว่า “วันหนึ่งผมเดินหลงทางในนิวยอร์ค ผมจะไป คาร์เนกี้ ฮอล์ก็เลยไปถามคนที่เดินผ่านมาว่า ผมจะไปได้อย่างไร เขาก็ตอบผมมาว่า คุณก็ต้องซ้อม ซ้อม และซ้อม!”

        ดังนั้น   การเดินทางไปสู่เป้าหมายไม่มีทางลัด ถ้าต้องการหาทางลัดของความสำเร็จ มีวิธีเดียวคือการศึกษาการเรียนรู้เพื่อหาเส้นทางที่หลากหลาย และเลือกเส้นทางเดินที่สั้นที่สุด เมื่อหาทางเดินได้แล้ว คุณก็เพียงแค่ทำมันอย่างต่อเนื่องจนกว่าสำเร็จ.....คนที่สำเร็จไม่เคยล้มเลิก คนที่ล้มเลิกคือคนล้มเหลว

       ถ้าเปรียบเทียบเป้าหมายของชีวิตกับการขึ้นบันได 60 ขั้น ในช่วงชีวิต 60 ปี เมื่อคุณเดินขึ้นไปถึงบันได้ขั้นที่ 60 คุณจะได้พักอย่างสุขสบาย หลายคนตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อครบอายุ 60 ปี จะปลดเกษียณตัวเองจากการทำงาน และเสพสุขกับชีวิตสักที แต่เมื่อถึงอายุ 60 สิ่งที่หวังไว้ก่อนหน้านี้กลับมลายหายสิ้นไป ไม่ได้เสพสุขอย่างที่หวังแถมมีความทุกข์มากขึ้นไปอีก บางคน 60 ปีแล้วต้องดิ้นรนหาเงินทองเพื่อให้พอเลี้ยงชีพ ในแต่ละวัน

       การขึ้นบันไดเพื่อไปสู่เป้าหมายของชีวิตที่ 60 ปี ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป บางคนตั้งใจจะเก็บเงินให้ได้ 1,000,000 บาท แรก ตอนอายุครบ 35 ปี แต่จนแล้วจนรอด พออายุครบ 30 ยังเป็นหนี้อีก 1 ล้าน พออายุ 35 ปี มีหนี้เพิ่มเป็น 2 ล้าน ต้องลงบันไดกลับลงไปเริ่มต้นใหม่ที่บันไดขั้นที่ 0 หรือเดินทางยังไม่ถึงบันไดขั้นที่ 1 เพราะเงินติดลบ  บางคนอายุ 40 ปี แล้วยังไม่มีเงินเก็บเลย มีแต่หนี้สะสม ได้แต่นั่งคิดว่าตัวเองคงเริ่มต้นสายเกินไปแล้ว แก่แล้วต้องมานั่งเริ่มต้นเก็บเงินหรือผ่อนหนี้อีก

        ชีวิตของคนเราเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ไม่จำเป็นหรอกว่าต้องเริ่มต้นเก็บเงินตั้งแต่เด็กเพื่อให้สามารถมีเงินเป็นล้านได้ตอนอายุเพิ่มขึ้น มันขึ้นอยู่กับจังหวะ เวลา โอกาส ความสามารถ การฝึกฝน และความอดทนหรือทนอึดเป็นหลัก ดูอย่างการแข่งขันฟุตบอลทีมคู่แข่งของเราอาจแตะนำ 2-0 ในครึ่งเวลาแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะแพ้ในเกมนี้ เพราะยังไม่ได้ตีระฆังบอกเวลาหมดยก ไม่แน่เราอาจจะตีนำเป็น 2-5 ในครึ่งเวลาหลังก็ได้ ถ้าทุกคนมีระฆังบอกเวลาหมดยกตอนอายุ 60 ปี เท่ากันทุกคน และนี่คือตัวอย่างเป้าหมายของการเก็บเงินในแต่ละคน ซึ่งเส้นทางเดินที่แตกต่างกัน

คนที่ 1 เริ่มต้นเก็บเงินตั้งแต่เด็กสามารถมีเงิน 1 ล้านตอนอายุ 25 ปี

คนที่ 2 เริ่มต้นเก็บเงินทำงานตอนอายุ 25 ปี เพราะเพิ่งจบเริ่มมีงานทำ สามารถมีเงิน 1 ล้านตอนอายุ 35 ปี

คนที่ 3 จบมาไม่มีงานทำ ต้องทำธุรกิจตัวเองประสบความล้มเหลวตลอดช่วงอายุ 40 ปี ไม่มีเงินเก็บเลย เริ่มชีวิตติดลบเดินทางไม่ถึงบันไดขั้นที่ 1 ตอนอายุ 40 ปี พออายุ 41 ปี เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำธุรกิจใหม่ปิดจุดอ่อนที่เคยทำมา สามารถมีเงิน 100 ล้านได้ตอนอายุ 45 ปี

คนที่ 4  ชีวิตติดลบตอนอายุ 60 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเลย เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการขายไก่ทอด จนประสบความสำเร็จมีเงินหลายพันล้านหลังอายุ 60 ปี  เขาคือ      ฮาร์แลนด์ แซนเดอส์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ผู้พันแซนเดอส์” ผู้ให้กำเนิด ไก่ทอดเคนทักกี (Kentucky Fried Chicken) หรือ KFC ที่เด็กๆชอบทาน

       ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องมาคู่กันกับการเริ่มต้นใหม่คือความมุ่งมั่นทำมันจนสำเร็จ เป้าหมายที่สำเร็จไม่ได้เดินทางมาหาเราง่ายๆ มันต้องผ่านการฝึกฝนมานับครั้งไม่ถ้วน พร้อมกับแบบฝึกหัดที่มาเป็นบททดสอบความสามารถของเรา

       ตัวอย่างบททดสอบที่สาหัสที่สุดในชีวิตหนึ่งลูกผู้ชาย คือ การฝึกหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือที่เรารู้จักกันในนามหน่วย SEAL การฝึกอย่างหนึ่งที่สาหัสที่สุดอย่างหนึ่งคือ การฝึกจนเกือบหมดสติ

       โฮเวิร์ด วาสดิน ผู้เขียนหนังสือ “SEAL TEAM SIX” ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับวิธีการฝึกการทำลายใต้น้ำ วิธีหนึ่งคือ การลงไปดำน้ำและผูกเงื่อนใต้น้ำจำนวนห้าเงื่อนที่ระดับความลึก 15 ฟุต ผู้ฝึกจะใช้วิธีไหนก็ได้ คือ 1) ผูกทีละเงื่อนหรือหลายเงื่อนแล้วขึ้นมาหายใจบนน้ำในแต่ละครั้ง หรือ 2) ผูกทั้ง 5 เงื่อนให้เสร็จแล้วค่อยขึ้นมาหายใจ โฮเวิร์ด วาสดิน ใช้วิธีการผูก 3 เงื่อนในครั้งแรก และครั้งที่ 2 ผูกอีก 2 เงื่อน ซึ่งถ้าผูกไม่หมด ครูฝึกจะไม่ยอมให้ขึ้นจากน้ำเป็นอันขาด ผลลัพธ์ของการฝึกคือ เขาจวนเจียนจะหมดสติในช่วงสุดท้ายของการผูกเงื่อนกันสุดท้ายในครั้งที่ 2 ซึ่งในใจของเขาคิดว่า “ถ้าไม่เสร็จภารกิจ ก็จะไม่ยอมขึ้นสู่ผิวน้ำ ครูฝึกต้องเป็นคนที่ลากร่างหมดสติของผมขึ้นไปเอง”

         คริส ไคล์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง American Sniper ได้เล่าให้ฟังว่า หน่วย SEAL ต้องผ่านบทสอบอย่างหนึ่งก่อนคือการฝึกจากการถูกโดนรัดคอจนสลบ แล้วฟื้นขึ้นมาใหม่

คติประจำใจของผู้ฝึกหน่วย SEAL ของทุกคนคือ “ยิ่งเสียเหงื่อมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเสียชีวิตยิ่งน้อยลงเท่านั้น”

            คนธรรมดาๆอย่างเราๆ คงไม่ต้องฝึกเพื่อไปถึงเป้าหมายจนสลบก็ได้ ถ้าจะสลบเมื่อไหร่เอาแต่นอนพักก็พอ แล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ เป็นการขอเวลานอกชั่วคราว นอกจากความมุ่งมั่นเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ยังมีบทสอบอีกบทหนึ่งที่เรียกว่า ความอดทน ใครทนได้มากกว่ากันคนนั้นเป็นผู้คว้าชัยไปครอง  


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที