ในการดำเนินธุรกิจสิ่งที่จะบอกถึงความสำเร็จได้คือ ผลกำไร แต่คงไม่ใช่ความสำเร็จที่สูงสุดแน่นอน แนวทางการเพิ่มกำไรมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การเพิ่มปริมาณของยอดขาย การเพิ่มราคาขายของผลิตภัณฑ์ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาด และการลดต้นทุน เป็นต้น การจะเลือกแนวทางใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละองค์การ แต่การลดต้นทุนเป็นแนวทางที่สามารถทำได้ทันที เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางอื่น หากความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากทุกคน ทุกระดับผ่านแนวคิดบนหลักของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหรือในชื่อแบบญี่ปุ่นที่รู้จักกันดีคือ ไคเซ็น ถ้าสำเร็จตามเป้าหมายได้เชื่อแน่ว่าผู้บริหารย่อมมีความพอใจที่มากยิ่ง อีกทั้งยังมีความภูมิใจกับบุคลากรของตนเองอย่างไม่ต้องสงสัย
ไคเซ็น อย่างที่ทราบกันดีในความหมายอยู่แล้ว คือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงจากระบบการตลาดแบบในวงจำกัด เป็นการตลาดแบบระบบตลาดเสรี การทำธุรกิจในสภาวะการณ์ดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีลักษณะความเป็นสากล การปฏิบัติไคเซ็นถือเป็นหน้าที่ของคนทุกคนในบริษัทที่จะต้องตระหนักไว้เสมอว่า วิธีการทำงานในวันนี้ยังไม่ใช่การทำงานที่ดีที่สุดยังมีวิธีการทำงานที่ดีกว่านี้ เราจะต้องแสวงหาอย่างต่อเนื่องจะหยุดแสวงหาไม่ได้ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องนี้ชาวญี่ปุ่นได้ถือเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตให้ฝังอยู่ในสายเลือดและให้ถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมอย่างเอาจริงเอาจัง
ในการปรับปรุงนี้จะหมายถึงการกำหนดมาตรฐานที่สูงกว่าเดิมโดยเริ่มจากมาตรฐานที่มีการคงสภาพไว้แล้วถือปฏิบัติเป็นพื้นฐานนำไปสู่มาตรฐานใหม่จนประสบความสำเร็จได้ในบริษัทที่มีเฉพาะการรักษาสภาพเดิมไว้นั้นอาจแสดงถึงการที่ไม่มีแรงผลักดันจากภายใน บริษัทเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงได้จากแรงผลักดันภายนอกอันได้แก่ภาวะการณ์ทางการตลาดและการแข่งขัน บริษัทเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีทิศทางการจัดการของตนเองเลย ไคเซ็นเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับคนทุกคนในองค์การ จุดเริ่มแรกของการปรับปรุงนั้นจะต้องรู้ถึงความจำเป็นในจุดที่จะปรับปรุงซึ่งความจำเป็นนี้จะมาจากการรับรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น การเฉยเมยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ศัตรูที่สำคัญของการดำเนินกิจกรรมไคเซ็น ฉะนั้น ไคเซ็นจึงได้ให้ความสำคัญในการตระหนักถึงปัญหาที่มีอยู่และ การสรรหาเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัญหา
ในแนวคิดและ แนวปฏิบัติไคเซ็นนั้นเป็นการปรับปรุงเล็กๆน้อยๆให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบของผู้นำเสนอผลงาน ข้อเสนอแนะในแบบไคเซ็นนั้นถ้านำไปปฏิบัติจึงจะถือได้ว่ามีคุณค่า ถึงแม้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพอใจในครั้งแรกก็ไม่ส่งผลกระทบกับงานมากเพราะเป็นการปรับปรุงเล็กๆน้อยๆนั่นเอง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รู้จักกิจกรรม รู้จักการได้มีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้นเมื่อบ่อยครั้งเข้าทำให้เกิดทักษะยิ่งๆ ขึ้นนำไปสู่การคิดค้น นวัตกรรมใหม่ หากเปรียบเทียบระหว่างไคเซ็นกับ นวัตกรรม ผลตอบแทนจากนวัตกรรมนั้นค่อนข้างสูงเชิงปริมาณ อีกทั้งคงเย้ายวนผู้บริหารที่ปรารถนาผลลัพธ์ปลายทางมากกว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของคนงาน การเริ่มให้พนักงานคิดแก้ไขปัญหาเล็กๆด้วยตัวเองส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นท้าทายความสามารถที่อยากประสบความสำเร็จอีกหน หากมีการนำเสนอการแก้ไขปัญหาที่บ่อยครั้งแล้วทักษะการแก้ปัญหายิ่งเพิ่มพูนเป็นเงาตามตัว
|
ไคเซ็น |
นวัตกรรม |
1. ผลที่ได้ |
ระยะยาวอยู่ได้นาน ไม่เร้าใจ |
ระยะสั้น เร้าใจ |
2. กรอบเวลาการทำ |
ช่วงสั้น |
ช่วงยาว |
3. การเปลี่ยนแปลง |
ค่อยเป็นค่อยไปสม่ำเสมอ |
ฉับพลัน จบเร็ว |
4. การมีส่วนร่วม |
ทุกคน |
เฉพาะผู้มีความสามารถสูง |
5. รูปแบบ |
บำรุงรักษาและปรับปรุงได้ |
ใช้แล้วทิ้ง แล้วสร้างใหม่ |
6. จุดเริ่มต้น |
ต้องอาศัยความรอบรู้และศิลปะการทำงานที่มีอยู่เดิม |
อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์และทฤษฎีใหม่ |
7. เกณฑ์การประเมิน |
กระบวนการและความพยายามเพื่อผลที่ดีขึ้น |
กำไร |
8. การใช้ทรัพยากร |
คน |
เทคโนโลยี |
9. สิ่งที่ต้องใช้ในทางปฏิบัติ |
ต้องการการลงทุนเพียงเล็กน้อย แต่ออกแรงพยายามมากเพื่อรักษาไว้มาก |
ต้องการการลงทุนมากออกแรงพยายามมากเพื่อรักษาไว้น้อย |
|
|
ตาราง :มาซากิ อิไม : 2543 |
สภาวการณ์ปัจจุบันความเข้มข้นของการแข่งขัน จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกธุรกิจจำเป็นต้องบริหารจัดการภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์การ ความได้เปรียบของบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าย่อมมีศักยภาพการแข่งขันสูง หากบริษัทขาดทุนทรัพย์ที่จะซื้อหรือสรรหาเครื่องจักรที่ทันสมัย ย่อมหนีไม่พ้นการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีเดิมให้มีความทันสมัยเป็นอัตโนมัติและสกัดกั้นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆออกจากตัวผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต สิ่งที่ขาดไม่ได้แน่นอนคือบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญในการปฏิบัติและปรับปรุงงานหากได้ดำเนินกิจกรรมไคเซ็นอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งองค์การแล้วย่อมก่อประโยชน์สูงสุดแน่นอนทั้งผู้ปฏิบัติและบริษัทด้วย
การที่ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่จะได้ต่อยอดการเรียนรู้อย่างเช่นในงาน Automation Kaizen Award ถือได้ว่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการแลกเปลี่ยน วิทยาการใหม่ๆเพื่อไปปรับปรุงกิจการของตัวเองและนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในรูปแบบไคเซ็นที่เป็นอัตโนมัติทั่วประเทศจนสามารถนำพาอุตสาหกรรมไทยหนีห่างประเทศเพื่อนบ้านที่เราวิตกกันว่าแค่เปิดประเทศรับความเสรีทางการค้าไม่กี่ปีจะแซงหน้าเราแน่นอน เหตุการณ์นี้คงไม่เกิดแน่หากองค์การได้พัฒนาบุคลากรภายในอย่างต่อเนื่องและท่านได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำมาแลกเปลี่ยนตามแนวทางที่ท่านประสบความสำเร็จถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที