ผมเชื่อว่าหัวหน้างานที่เคยไปเข้ารับการอบรมหลักสูตรพัฒนาทักษะการจัดการคนทำงานหลักสูตรยอดนิยมในบ้านเราเช่น หลักสูตร Supervisory Development Program เป็นต้น คงจะคุ้นเคยกับที่วิทยากรเอ่ยถึงเหตุผลหนึ่งที่ลูกน้องลาออกจากองค์กรนั้นเพราะหนีหัวหน้า มากกว่าที่จะหนีองค์กรและหนีงานที่เค้าทำ (people leave their manager, not company) ข้อมูลที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งเราคุ้นเคยเพราะเป็นรายงานของ HR หลังจากที่สัมภาษณ์คนออกจากงาน (Exit Interview) ซี่งค่อนข้างเป็นไปในทำนองเดียวกับที่กูรูหลายท่านบอกมา ซึ่งในส่วนตัวนั้น ผมก็เห็นว่าเรื่องแบบนี้สอดรับกับความจริงที่ผมมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อย
แต่อะไรหรือคือสาเหตุพื้นฐาน (common reasons) ที่พนักงานที่ลาออกไปสะท้อนออกมาว่าเค้าไม่ค่อยปลื้มกับหัวหน้า พอทราบมั๊ยครับ ?
จากประสบการณ์ ผมพบว่า มี 3 เรื่องหลักที่หัวหน้ามักทำให้ลูกน้องไม่ปลื้มกระทั่งทนไม่ไหวลาออกไปจากองค์กรดีกว่า
เรื่องแรก ไม่สานสร้างสัมพันธ์
หัวหน้าหลายคนพออยู่ที่สูงก็ลืมเบื้องล่าง ลืมว่าตัวเองทำงานและได้งานโดยอาศัยผลจาก “ขีดความสามารถ + ความทุ่มเท + ความอุทิศตนกับการทำงาน” ของลูกน้อง จนลืมที่จะสื่อสารพูกคุยกับลูกน้องบ่อย ๆ และลืมใส่ใจกับการทำให้ลูกน้องรู้สึกผูกพันกับการทำงานเป็นรายวัน (day-to-day engaging people -> ไม่ใช่ให้ลูกน้องทำงานรายวันหรือวันต่อวันนะครับ)
ไม่ควรที่หัวหน้าจะนั่งแต่วางแผน นั้งคิดกลยุทธ์ จนไม่สนใจจะแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในแต่ละวันเพื่อกระตุ้นจูงใจ แก้ไขปัญหาให้ลูกน้องในทีม ไม่นั่งหน้าคร่ำเคร่งแบบใครก็เข้าไม่ติด และควรต้องรู้จักชื่มชมลูกน้องสักเล็กน้อยด้วยถ้อยคำเช่น “ทำดีมากเลย” “ตั้งใจทำงานนะ” หรือ “มีปัญหาเรียกพี่เลย”
ในทางหนึ่ง ลูกน้องอาจจะอยากให้ท่านเป็นตัวอย่าง และทำหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมโยงเขาเข้ากับองค์กร เพราะหลายกรณีแม้พนักงานเขาก็ทำอะไรเพื่อองค์การมามาก แต่ก็ขาดข้อต่อที่จะคอบส่งผ่านความรู้สึกแบบนี้ไปสู่องค์กรในภาพกว้าง ภาพความรู้สึกของการเป็นพนักงานและเป็นทีมในองค์กรก็ชักเบลอ หัวหน้างานนี่ล่ะครับ ที่จะเป็นคอยคอยเชื่อมและขยายให้ผู้ใหญ่เห็นภาพว่าลูกน้องของท่านผูกพันกับองค์กร
หัวหน้ายังควรหาโอกาสพูดคุยกับลูกน้องเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องงาน แต่ไม่ใช่เรื่องไร้สาระบ้าง เช่น คุยเรื่องครอบครัว ลูกหลานของเขา ปัญหารถติด เศรษฐกิจบ้านเรา การศึกษา แต่เว้นเรื่องการมุ้ง เรื่องดาราขาโจ๋ และเรื่องการเมืองหลากสีสักนิด เพราะคนคิดไม่เหมือนกัน ซ้ำยังไม่ได้เป็นอะไรที่ประเทืองปัญญาสักหน่อยเลยครับ
เมื่อลูกน้องขาดความเชื่อมโยงกับหัวหน้างาน ก็หลายเป็นว่าเขาขาดความรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กร เมื่อไม่มีสายใยเชื่อมถึงกันแล้ว ก็ไม่มีอะไรผูกรั้งให้ต้องทำงานด้วยกันต่อไป ท่านผุ้อ่านมองเรื่องนี้อย่างไรครับ ?
เรื่องที่สอง ไม่สื่อสารเป้าหมายงาน
หัวหน้างานจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยสื่อสารเรื่องขององค์กรที่ลูกน้องอาจจะเข้าไม่ถึง เพราะพูดกันเฉพาะในที่ประชุมฝ่ายจัดการ เช่น Management Meeting เท่านั้น ซ้ำร้าย หัวหน้าหลายคนยังไม่บอกให้ลูกน้องรู้ถึงคาดหวังเป้าหมายอย่างไร ทึกทักเอาเองว่าลูกน้องจะบรรลุธรรมในการทำงานตาม Job Description ด้วยตัวของเขาเอง แถมยังไม่เอาใจใส่ให้การสอนแนะ และให้คำปรึกษาที่จำเป็น ซึ่งลูกน้องก็จะไม่รู้เลยว่าเขาควรจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุความคาดหวังที่องค์กรและหัวหน้าต้องการอย่างชัดเจน
วิธีคิดที่ผิดแบบนี้ล่ะครับที่ลูกน้อง “ถอยดีกว่า !” เพราะทำไปก็ไม่มีทางถูกใจหัวหน้าที่ไม่บอกทั้งเป้าหมายและวิธีการให้รู้เลย
เรื่องที่สาม ปล่อยให้คุณค่าองค์กรมัวหมอง
ลูกน้องแทบจะทุกคน ต่างอยากให้หัวหน้า support และยืนอยู่เคียงข้างเขาเพื่อคอยให้คำแนะนำแก้ไขสารพัดปัญหาที่ลำบากใจทั้งนั้น แต่เมื่อหัวหน้าไม่ทำหน้าที่ และเกิดอะไรแปลก ๆ ตามมาเช่น วิพากษ์วิจารณ์ผลงานของลูกน้องต่อเพื่อนร่วมทีมให้ได้อายกันไปข้างนึง ผลที่ตามมาก็คือผลิตภาพ ความสุขและความพึงพอใจในงานตกฮวบลง
สภาพแวดล้อมการทำงานแบบนี้หรือครับที่ท่านคิดว่าจะดึงดูดให้คนทำงานต่อไป ?
ในฐานะที่เป็นหัวหน้า อย่างน้อยที่สุด ท่านก็ต้องเดินตามคุณค่าหรือวัฒนธรรมที่องค์กรยึดถือ และควรที่จะกำหนดตัวอย่างพฤติกรรมการทำงานทีท่านและลูกน้องต้องแสดงออกเหมือนกัน หากหัวหน้าช่างจ้อ ปากไว ใจร้อน บริการใครไม่เป็น แต่องค์กรยึดถือค่านิยมการให้บริการที่เป็นเลิศ และความเอาใจใส่พนักงาน ก็เปรียบได้ว่าหัวหน้าที่มีพฤติกรรมแบบนี้ล่ะที่ทำให้คุณค่าพื้นฐานขอองค์กรต้องมัวหมอง และหากจะให้ลูกน้องเดินตามรอยท่าน องค์กรไหนจะยอมล่ะครับ
หัวหน้าที่ตั้งใจส่งเสริมผลิตภาพการทำงานให้กับองค์กรอย่างน่าชื่นชมนั้น มักจะเกื้อกูลให้เกิดการทำงานเชิงบวก มีความไว้วางใจระหว่างคนทำงานด้วยการ เป็นหัวหน้าที่พึ่งพิงได้ และกระตุ้นจูงใจด้วยการให้ลูกน้องปลดปล่อยพลังและศักยภาพออกมากับงานอย่างเต็มที่
ติดตามบทความความรู้เรื่องอื่น และข่าวสารการฝึกอบรมของบริษัท โปรเฟสชั่นแนล เทรนนิ่ง แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ได้ที่
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที