โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA 2000 1x หรือ เรียกเต็มๆ คือ CDMA 2000 1x EV-DO (First Evolution Data Optimized) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาจากเทคโนโลยี CDMA 2000 และเป็นเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานการสื่อสารไร้สายยุค 3G จากการอนุมัติของสมาพันธ์โทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่มีการส่งผ่านข้อมูลแบบ packet switching ด้วยประสิทธิภาพและความเร็วสูง ประกอบกับต้นทุนต่ำ จึงนับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ เนื่องจากสามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงถึง 2.4 Mbps ต่อวินาที พร้อมทั้งรองรับกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้หลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น โทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ค และพีดีเอ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีข้อดีในการที่เป็นระบบการทำงานเครือข่ายแบบ Always On ซึ่งทำให้สามารถโรมมิ่งสัญญาณได้ตลอดเวลา และช่วยให้เกิดการส่งผ่านข้อมูลผ่านระบบไร้สายเพิ่มมากขึ้น สามารถทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ยอดนิยมต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ผู้ใช้สามารถรับ-ส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ตภายในองค์กรได้แบบไร้สายในทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ
สัญญาณคลื่นความถี่และความเร็วในการรับส่งข้อมูล
CDMA 2000 1x EV-DO ใช้ช่องสัญญาณคลื่นความถี่ 1.25 MHz ที่แยกจากกันเพื่อรับ-ส่งสัญญาณเสียงและข้อมูลแบบแพคเก็จ (packet) ซึ่งจะส่งผลให้ระบบมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น ทำให้การดูแลระบบทำได้ง่าย ลดความยุ่งยากในการปรับสมดุลในการกระจายการทำงาน (load balancing) ผสมผสานการสื่อสารทางเสียงและข้อมูลให้ทำงานอย่างราบรื่นบนระบบเดียว ทำให้อุปกรณ์สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งทางเสียงและข้อมูล รวมทั้งผนวกการทำงานของระบบ CDMA 2000 และ CDMA 1x EV-DO ไว้ในอุปกรณ์เดียว
หลายคนมักสับสนระหว่างคำว่าอัตราความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล และอัตราความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูล ซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างคำ 2 คำนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากจะสามารถบ่งถึงข้อดี และข้อด้อยของเทคโนโลยีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คำว่า อัตราความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูล หรือ Peak rate คือ ความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูลภายใต้สภาวการณ์ที่เหมาะสม ส่วนอัตราความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล (Throughput) คือ ค่าเฉลี่ยในการรับ-ส่งข้อมูลของทั้งระบบที่สามารถรองรับการให้บริการผู้ใช้หลายๆ รายภายในเซลล์ (Cell sector) โดยอัตราความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูล จะมีผลต่อการใช้งานของแต่ละบุคคล ในขณะที่ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลจะมีผลกับต้นทุนในการให้บริการและการใช้งานของผู้ใช้
ความเร็วการรับ-ส่งข้อมูลของเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย
|
CDMA2000 1x EVO-DO |
CDMA 2000 1x |
GPRS |
EDGE |
WI-FI |
Average Speed |
355-600 kbps |
50-90 kbps |
10-35 kbps |
40-50 kbps |
2-4 Mbps |
Peak speed |
2.4 Mbps |
153.6 kbps |
171.2 kbps |
384 kbps |
11 Mbps |
อุปกรณ์สื่อสารไร้สายระบบ Dual Mode ที่รองรับการสื่อสารระบบ CDMA 2000 จะสามารถให้บริการได้ทั้งเสียงและการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง โดยระบบ บบ CDMA2000 1x EVO-DO จะให้บริการได้ทั้งเสียงและข้อมูลในเวลาเดียวกัน ขณะที่ระบบ CDMA2000 1x จะสามารถให้บริการข้อมูลเพียงอย่างเดียว อุปกรณ์สื่อสารไร้สายจะทำการค้นหาสัญญาณบริการรับส่งข้อมูลในระบบ CDMA 2000 ที่เร็วที่สุดที่สามารถให้บริการได้ในบริเวณนั้นๆ โดยอัตโนมัติ กล่าวคือ หากมีสายเรียกเข้าในขณะที่กำลังใช้งานส่งข้อมูล ระบบการทำงานแบบ synchronized จะแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่ากำลังมีสายเรียกเข้าอยู่แต่จะมีอัตราความเร็วลดลง ด้วยเหตุนี้ผู้ใช้จะไม่พลาดการติดต่อสื่อสารในขณะที่รับ-ส่งข้อมูลทั้งยังสามารถใช้บริการข้อมูลและเสียงได้อย่างราบรื่นในเวลาเดียวกัน
CDMA 2000 1x EVO-DO สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผู้ให้บริการสามารถขยายฐานลูกค้ามากขึ้น นอกจากนั้นยังมีความเร็วในการรับ-ส่งสัญญาณเทียบเท่ากับการเชื่อมโยงแบบมีสาย จึงทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการและแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่มากมายผ่านอุปกรณ์สื่อสารไร้สายชนิดต่างๆ ที่ทำงานด้วยระบบปฏิบัติงานเมนสตรีมที่รองรับมาตรฐาน IP ได้รวดเร็วและง่ายดาย และทำงานได้ทันที (plug and play) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการทุกคนได้สัมผัสกับการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ ในปัจจุบันมีแอพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นบนเครือข่าย IP รวมถึงอุปกรณ์การสื่อสารไร้สายที่มีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งเป็นแรงผลักดันและกระตุ้นให้มีการใช้งานเครือข่ายไร้สายมากยิ่งขึ้น เช่น แอพพลิเคชั่นทางด้านการสื่อสาร ธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (M-commerce) ระบบข้อมูล การค้นหาตำแหน่ง และความบันเทิงแบบมัลติมีเดีย
ปัจจุบันโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA 2000 1x ในส่วนภูมิภาค เป็นโครงการภายใต้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนในส่วนภูมิภาค เพื่อให้มีระบบการสื่อสารที่ทันสมัยทัดเทียมกับกรุงเทพฯ และส่วนกลาง โดยโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ โดยใช้เงินลงทุนจากเงินรายได้ของบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รวม 13,430 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถรองรับการใช้งานของผู้รับบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 40 ของประเทศในส่วนภูมิภาค โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะจัดซื้อชุมสายวิทยุเซลลูลาร์ขนาดไม่ต่ำกว่า 2,300,000 เลขหมาย และสถานีวิทยุเครือข่ายระบบ CDMA พร้อมทั้งอัพเกรด และขยายสถานีวิทยุเครือข่ายพร้อมอุปกรณ์ประกอบที่จำเป็น สำหรับแผนธุรกิจของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ ซีดีเอ็มเอในส่วนภูมิภาคของ กสท.ที่นำเสนอต่อ ครม.นั้นได้คาดการณ์ตัวเลขผู้ใช้บริการไว้ด้วยว่าจะสามารถมีฐานลูกค้าถึง 1 ล้านรายได้ในปี 2551 และมีรายได้รวมจากการให้บริการในปี 2548 จำนวน 600 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6 พันล้านบาทในปี 2551 สำหรับจุดแข็งของระบบซีดีเอ็มเอ คือ ประสิทธิภาพในการรองรับบริการด้านมัลติมีเดียรูปแบบต่างๆ ที่เหนือกว่าระบบอื่นในตลาดปัจจุบัน ซึ่งกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของ กสท. คือ การประสานความร่วมมือกับบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ตัวแทนทางการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ ภายใต้แบรนด์ "ฮัทช์" อย่างใกล้ชิดทั้งด้านการตลาด, เครือข่าย, การพัฒนาบริการ และการใช้ตราสินค้าร่วมกัน เป็นต้น
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที