หมูน้อย

ผู้เขียน : หมูน้อย

อัพเดท: 02 เม.ย. 2014 11.42 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8419 ครั้ง

ผลกระทบของการขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% ที่ญี่ปุ่น และมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้น 10% ในอีกไม่ช้า


ผลกระทบของการขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% ที่ญี่ปุ่น


          การปรับขึ้นภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% ซึ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของญี่ปุ่น และทางรัฐบาลก็มีการวางแผนที่จะขึ้นภาษีให้ถึง 10% ในอีกไม่นานนัก

          คาดว่า การขึ้นภาษี ผู้บริโภคน่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในภาคบริการอื่นๆ

          จากรายงานข่าว ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของญี่ปุ่นเตรียมปรับราคาสินค้าและบริการแล้ว เช่น บริษัทผลิตไฟฟ้า TEPCO เตรียมปรับขึ้นค่าไฟอีกเฉลี่ยร้อยละ 3 JR East กับ JR West ผู้ให้บริการรถไฟเตรียมปรับเพิ่มราคาค่าตั๋วระหว่าง 10-90เยนต่อเที่ยว และธนาคารเตรียมปรับอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ตู้ ATM เพิ่มอีก 3 เยนต่อครั้งจาก 105 เป็น 108 เยน

          เพื่อลดความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวจากการขึ้นอัตราภาษีดังกล่าว ตลอดจนเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศว่า จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวม 6 ล้านล้านเยน (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท)  อาทิ การให้เงินสดเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำ 10,000-15,000 เยนต่อคน การให้เงินสดเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2020 และการดำเนินโครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

          นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การเพิ่มภาษีผู้บริโภคอีกร้อยละ 3 จะช่วยให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5.1 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2557 แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจส่งผลให้พรรค LDP พรรคเสียงข้างมากในรัฐบาลสูญเสียฐานเสียงไปบางส่วน

          อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีครั้งนี้ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2012 พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะนำพาแดนปลาดิบให้หลุดพ้นจากวงจรราคาสินค้าตกต่ำและเศรษฐกิจที่ซบเซา ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับการขนานนามว่า “อาเบะโนมิกส์”

         “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาเบะ เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทเอกชนมากกว่าที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของภาษีผู้บริโภคในครั้งนี้” นักวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์

          การปรับขึ้นภาษีเมื่อปี 1997 หรือ 17 ปีที่แล้ว โดยเป็นการปรับเพิ่มจาก 3% เป็น 5% ทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาเงินฝืดเรื้อรัง และเศรษฐกิจที่เติบโตช้าต่อเนื่องนานหลายปี

          แล้วตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัยนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ญี่ปุ่นจะต้องปรับเพิ่มภาษีผู้บริโภคอีกครั้ง จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในเดือนตุลาคม 2558

          “ซึ่งหลังวันที่ 1 เมษายน 2557 ไปแล้ว รัฐบาลจะขอพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า จะปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลโนดะหรือไม่ โดยจะต้องคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นประกอบด้วย” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบันให้ความเห็น

 

ในด้านการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติอย่างชาวไทยที่นิยมไปเที่ยวญี่ปุ่น

         นายเอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น (แอตต้า) เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากเดิม 5% เป็น 8% มีผลวันที่ 1 เม.ย.นี้ และในเดือน ต.ค. 2558 มีแผนจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10% นั้น หากเป็นการขึ้นเพียง 8% ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นมากนัก เพราะยังเป็นอัตราการปรับเพิ่มที่ยังสามารถรับได้อยู่

         ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศญี่ปุ่นก็มีราคาใกล้เคียงกับของประเทศไทย ซึ่งในส่วนของราคาอาหารจะตกมื้อละ 1,000-1,200 เยน (320-400 บาท) แต่ถ้าเป็นในช่วงของเวลากลางคืน ก็จะมีราคาแพงขึ้นมาเล็กน้อย โดยตกอยู่ที่มื้อละ 1,500-2,500 เยน (480-800 บาท)

         ในส่วนของโรงแรมหรือที่พักจะตกประมาณคืนละ 8,000 เยน (2,500 บาท) แต่การเช่าห้องพักของประเทศญี่ปุ่นจะแตกต่างจากประเทศไทย คือ ห้องพักของประเทศญี่ปุ่นจะคิดค่าเข้าอยู่ต่อหัว เช่น ห้องละ 8,000 เยน หากพัก 1 คน ก็คิดราคา 8,000 เยน แต่ถ้าพัก 2 คน ก็จะคิดเพิ่มต่อคนอีก 8,000 เยน เท่ากับ พักสองคนจะต้องจ่ายเงินทั้งหมด 16,000 เยน จึงแตกต่างกับประเทศไทย เพราะประเทศไทย คิดเป็นห้อง ห้องละ 2,500 บาท สามารถอยู่ได้เลย 2 คน

         ดังนั้น หากเพิ่มขึ้นมา 8% ก็คงจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ มากนัก เพราะราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็คงจะขึ้นมาไม่มากนัก และนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงมีกำลังจ่ายได้ แต่ถ้าเพิ่มขึ้นเป็น 10% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมาอีก 1 เท่าตัว อาจจะกระทบต่อการตัดสินใจในการวางแผนเลือกประเทศในการท่องเที่ยวก็เป็นได้ เพราะนักท่องเที่ยวต้องมาคำนวณเรื่องต่างๆ เช่น การเดินทางไปที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 บาท แต่ถ้าไปเกาหลีใต้เสียค่าใช้จ่ายแค่ประมาณครึ่งนึงคือ 20,000-25,000 บาท ถ้าไปจีนเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 28,000-30,000 บาท ไปบาหลีจ่ายเพียง 20,000 บาท ดังนั้น จึงมีแนวโน้มสูงที่อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลือกเดินทางไปประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น เพราะมีการเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า

         อย่างไรก็ตาม ทางภาคเอกชนก็จะต้องจับตาดูสถานการณ์นี้ต่อไป เพื่อประเมินถึงภาพรวมต่างๆ อย่างรอบคอบ และค่อยปรับแผนการดำเนินงานหรือกลยุทธ์ต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง แต่จะยังไม่ปรับเพิ่มค่าแพ็กเกจท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด


ขอบคุณข้อมูลจาก :

http://www.mfa.go.th/business/th/articles/

http://www.thairath.co.th/content/eco/403400


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที