นักแสวงหา

ผู้เขียน : นักแสวงหา

อัพเดท: 31 มี.ค. 2014 14.03 น. บทความนี้มีผู้ชม: 9848 ครั้ง

ทางศูนย์บริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนของประเทศต่างๆไว้ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการน้อยใหญ่ที่อยากจะเข้าไปลงทุนใน ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา


เจาะลึกธุรกิจน่าลงทุนในอาเซียน

นับถอยหลังใกล้เข้ามาทุกที สำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  ทางศูนย์บริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจในส่วนของประเทศต่างๆไว้ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการน้อยใหญ่ที่อยากจะเข้าไปลงทุนใน ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา

 

แนะผลิตสินค้าฮาลาลในมาเลย์

 

          เริ่มกันที่มาเลเซีย ซึ่งทางศูนย์มองว่าเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่ให้ความ สำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศ การวิจัยและพัฒนา เพื่อการเป็นสังคมแห่งความรู้

        ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเปลี่ยนจากประเทศที่ผลิตและส่งออกพืชผลทางการเกษตรและสินค้าขั้นปฐมภูมิ มาเป็นการผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้ เนื่องจากมาเลเซียมีแรงงานที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ทันสมัย และรัฐบาลส่งเสริมบรรยากาศในการลงทุน โดยมีการตั้งเป้าหมายให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ภายในปี ค.ศ. 2020

 

          ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซียในปัจจุบันมีแนวโน้มจะขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง แรงงานส่วนมากมีทักษะสูง พูดภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี ระบบสาธารณูปโภคมีความทันสมัย สถานการณ์ทางการเมืองก็มีเสถียรภาพมั่นคง ทำให้ปัจจัยเหล่านี้เอื้อหนุนต่อการเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย

 

          ด้านปัจจัยลบคือ การขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ ความสามารถด้านการตลาดในหลายสาขาธุรกิจ รวมถึงด้านความปลอดภัยโดยทั่วไปในมาเลเซียยังไม่ดีมากนัก เนื่องด้วยประชากรที่มีจำนวนน้อยทำให้แรงงานที่เข้ามาทำงานมีหลากหลาย อาทิ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เนปาล

 

          ที่ผ่านมา การลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่าสูงขึ้น อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย หรืออุตสาหกรรมที่ควรส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ มี 3 อุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต และธุรกิจการบริการ

 

          อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย ได้แก่ การแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล เพราะประชากรมาเลเซียเป็นชาวมุสลิมมากที่สุด

         ปัญหาของนักลงทุนไทยในมาเลเซีย ได้แก่ แรงงานไร้ฝีมือในมาเลเซียค่อนข้างหายาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า หรือบังกลา เทศ ด้วยเหตุที่มาเลเซียประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน มีฝีมือและความตั้งใจในการเรียนรู้งานแตกต่างกันมาก

         

         นอกจากนี้ กฎหมายของมาเลเซียค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้แรงงานในประเทศ การบริหารงานบุคคลจึงเป็นสิ่งท้าทาย ต้องเข้าใจกฎหมายแรงงานอย่างดี ดังนั้น การศึกษากฎหมาย การคัดเลือกผู้ร่วมทุนที่ดี และการเดินทางไปสำรวจลู่ทางการลงทุนด้วยตนเอง จึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการลงทุน ไม่เพียงเฉพาะในมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลงทุนในต่างประเทศอื่นๆ ด้วย

              

อินโดฯ อุตสาหกรรมก่อสร้างโต

         

          ในส่วนของอินโดนีเซีย เป็นตลาดใหญ่ของบ้านเราทีเดียว โดยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในอาเซียน และอันดับ 5 ของไทยในโลก ทางศูนย์วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมในประเทศนี้เปิดกว้างและมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ดีบุก อุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งอินโดนีเซียต้องการการลงทุนจากต่างประเทศอีกมาก เนื่องจากยังขาดแคลนเงินทุนที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศของตนได้อย่าง เต็มที่

          อุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก อุตสาหกรรมการก่อสร้างก็กำลังเติบโต เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเพื่อรอง รับการรวมตัวเป็น AEC อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอินโดนีเซียที่เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีชาวมุสลิมมากกว่า 220 ล้านคน จึงเป็นโอกาสหนึ่งสำหรับนักลงทุนชาวไทยในการพัฒนาตลาดอาหารฮาลาลในต่าง ประเทศ

 

          แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกอาหารฮาลาลค่อนข้างน้อย แต่ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่มี คุณภาพ อีกทั้งมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตร การพัฒนาธุรกิจอาหารฮาลาลจึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถของคนไทย

       

 สิงคโปร์นิยมสินค้าเกษตรอินทรีย์

         อีกประเทศหนึ่งในอาเซียนที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์ ซึ่งแม้จะมีจำนวนประชากร 5 ล้านกว่าคน แต่มีจุดเด่นด้านศักยภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนในสิงคโปร์สูงถึง 60,500 ดอลลาร์สหรัฐ จัดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และสูงกว่าไทยประมาณถึง 6 เท่า

          สิงคโปร์นั้นมีความพร้อมทางด้านเงินทุนสูงและยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่ สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ของสิงคโปร์ที่มีการทำการเกษตรนั้นมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด จึงใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการเช่าพื้นที่เพื่อทำการเกษตรในต่างประเทศโดย เฉพาะในกัมพูชาและพม่า

 

          ทั้งนี้ ศูนย์ระบุว่า แนวโน้มของตลาดนี้ ผู้นำเข้ามีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบแช่แข็งมากขึ้น และคาดหวังว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าและสร้างความมั่นใจให้แก่ ผู้บริโภคได้ รวมถึงพัฒนาด้านการขนส่งสินค้าเพื่อให้ต้นทุนราคาสินค้าต่ำลง เอื้อประโยชน์ต่อผู้ส่งออกของไทยและผู้นำเข้าในสิงคโปร์เพื่อสามารถขยายตลาด เกษตรอินทรีย์ได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตเพื่อความก้าวหน้าไปอีกขั้น ระหว่างการค้าของไทยและสิงคโปร์

ชี้เขมรเหมาะเป็นฐานการผลิต

        

          สำหรับกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตแดนติดกับไทย ทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก คือที่จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด นับเป็นระยะทางยาวถึง 725 กิโลเมตร ซึ่งทำให้สะดวกในการคมนาคมขนส่งและค้าขาย

 

          ทางศูนย์ให้ข้อมูลว่า กัมพูชามีจุดแข็งที่ค่อนข้างโดดเด่นหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงมีอยู่มากในประเทศ อันได้แก่ ป่าไม้ สินแร่ต่างๆ เช่น ทอง ทองแดง เหล็ก รวมไปถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ ทรัพยากรเหล่านี้ในการผลิต

 

          อีกทั้งค่าแรงที่ต่ำกว่า เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศกัมพูชา เนื่องจากการที่กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) จากประเทศต่างๆ ในฐานะความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา เป็นข้อได้เปรียบที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับการลงทุนในกัมพูชา

 

          อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่สำคัญมากคือ ความไม่พร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เช่น ถนนในประเทศยังเป็นถนนลูกรังจำนวนมาก ไม่สะดวกในการคมนาคมขนส่ง ระบบไฟฟ้าไม่มีประสิทธิภาพ แรงงานในกัมพูชาถึงจะมีปริมาณมากแต่ก็เป็นแรงงานไม่มีฝีมือ และกัมพูชายังมีภาคการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคในประเทศที่ไม่เข้มแข็งทำให้ ต้องนำเข้าเครื่องอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ เช่น ไทย จีน เวียดนาม

 

         จุดแข็งที่กัมพูชานั้นมีค่าแรงต่ำและมีสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลง ทุนค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรับการลงทุนจากประเทศไทย

 

          ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการในกัมพูชา เป็นอีกภาคธุรกิจหนึ่งที่มีความน่าสนใจ จากการสร้างสนามบินใหม่ที่จังหวัดเสียมราฐเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดิน ทางเข้ามาท่องเที่ยวยังนครวัด นครธม ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกปี

 

          ธุรกิจโรงแรมและการบริการในเสียมราฐ จึงนับว่าน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่มีความชำนาญ สำหรับธุรกิจในภาคการบริการ การที่กัมพูชานั้นมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและปัจจัยพื้นฐานในประเทศ ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงต้องการที่จะมีการสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่จะเข้าไปลงทุนในโครงสร้าง พื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา

 

ขอบอบคุณที่มา: ประชาช่าติธุรกิจ

http://www.sentangsedtee.com/news_detail.php?rich_id=T1RJMA==&section=TWpJPQ==&column_id=TlRRPQ==

ขอขอบคุณที่มาของรูป

http://www.rsunews.net/index.php/news/detail/8659

http://www.himayah.net/v2/node/277

http://www.ftawatch.org/all/news/33934

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที