ครอบครัวข่าวเช้า ม.ขอนแก่น วิจัยสมุนไพรพื้นบ้านสู้มะเร็งครั้งแรกของโลก
วานนี้ 27 ก.พ. 57 ที่อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดแถลงข่าวนักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “ต้นส่องฟ้า สมุนไพรธรรมดาที่ไม่ธรรมดา” โดยมี รศ.ฉวี เย็นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของผลงานวิจัยแถลงข่าวถึงคุณสมบัติทางเคมีที่สามารถต้านมะเร็ง เบาหวาน และภาวะความจำเสื่อม
รศ.ฉวี เย็นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่อง “องค์ประกอบทางเคมีของส่องฟ้าและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพ” พบว่า ต้นส่องฟ้ามีองค์ประกอบทางเคมีเป็นคาร์บาโซลโดยส่วนใหญ่ และยังพบสารคูมารินอีกด้วย
ทั้งนี้ สารคาร์บาโซลเป็นสารที่มีอะตอมของไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก (หรือที่เรียกว่าอัลคาลอยด์) และแสดงฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีในการต้านมะเร็ง
จากการทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก และมะเร็งท่อน้ำดีซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในภาคอีสาน พบว่าองค์ประกอบทางเคมีของต้นส่องฟ้า มีสารคาร์บาโซลบางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดและมะเร็งช่องปากที่ดี สำหรับเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีชนิด KKU-OCA17 และ KKU-214 ก็สามารถถูกยับยั้งได้ด้วยสารคาร์บาโซลจากต้นส่องฟ้าเช่นกัน
นอกจากการค้นพบสารบางชนิดในต้นส่องฟ้าที่มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งต่างๆ แล้ว ยังพบสารคูมารินบางสารในต้นส่องฟ้า มีฤทธิ์ต้าน lipid per oxidation ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับภาวะผิดปรกติในร่างกาย เช่น ภาวะความจำเสื่อม มะเร็ง เบาหวาน ดังนั้น การค้นพบสารคาร์บาโซล และคูมารินในส่องฟ้าจึงเป็นสารที่สามารถลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้เช่นกัน
หลังค้นพบว่าต้นส่องฟ้ามีฤทธิ์ของสารบางชนิดในการต้นมะเร็ง และลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้แล้ว ผู้วิจัยได้เตรียมอนุพันธ์ของคาร์บาโซล อาศัยความรู้ทางเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ สารคาร์บาโซลได้ถูกดัดแปลงโครงสร้างให้เป็นอนุพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะได้สารโครงสร้างใหม่ๆ ที่อาจแสดงฤทธิ์ที่น่าสนใจ เมื่อดัดแปลงโครงสร้างของคาร์บาโซลโดยนำไปต่อกับสารบางชนิด พบว่าสามารถช่วยลดภาวะความจำเสื่อมได้เช่นกัน
กล่าวคือ สารบางชนิดจากต้นส่องฟ้ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือดอันก่อให้เกิดโรคเบาหวาน และเมื่อนำสารในต้นส่องฟ้าไปต่อกับสารบางชนิด พบว่าสามารถช่วยลดภาวะความจำเสื่อมได้อีกด้วย
ทั้งนี้ นักวิจัยเจ้าของโครงการได้ทำการวิจัยเชิงประยุกต์ โดยร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยเพื่อทำการทดสอบสารจากต้นส่องฟ้ากับสารในโรคแต่ละชนิดจนสามารถศึกษาข้อค้นพบดังกล่าวได้สำเร็จ
ด้านรศ.ดร ศจี สัตยุตม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การค้นพบองค์ประกอบทางเคมีในต้นส่องฟ้าครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่แห่งวงการนักวิจัยในการค้นพบองค์ประกอบทางเคมีจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านครั้งแรกของโลก ที่หลายคนมองข้าม คาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถพัฒนาสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มคุณประโยชน์ของสมุนไพรไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น คาดหวังว่าจะสามารถผลิตเป็นยา เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความจำเสื่อมได้ในอนาคต
สำหรับต้นส่องฟ้า เป็นสมุนไพรไทยที่พบทั่วไปในเขตร้อนชื้น และพบได้ตามป่าโปร่งทั่วภาคอีสาน มีลักษณะไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 20-25 เซนติเมตร โดยใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับใบย่อย มีรูปคล้ายไข่แกมวงรี ส่วนแผ่นใบมีจุดน้ำมันกระจาย เมื่อส่องดูจะมองเห็นจุดโปร่งแสงเล็กๆ กระจายทั่วทั้งใบ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยมีกลีบดอกสีขาวแกมเหลือง ผลสดรูปกลมรี
Refer
สนับสนุนเนื้อหา
ขอขอบคุณที่มา http://www.gotoknow.org/posts/562897
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=122
ขอบคุณ V.D.O จากยูทูบ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที