ถ้าการใช้เงินไปกับการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2557 นี้มีมูลค่าเฉียด 6 พันล้านบาท ตามการคาดการณ์ของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (เพิ่มขึ้น 38%จากปีที่แล้ว) เชื่อว่าธุรกิจออนไลน์คงคึกคักไม่เบา ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้จะสดใสนัก "ออนไลน์" นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะสะดวก ประหยัด (กว่า) และเข้ากับยุคสมัยชนเผ่าหัวก้ม (นิยามเด็กติดสมาร์ทโฟน)
"ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์" ผู้อำนวยการธุรกิจกลุ่มอินเทอร์เน็ต บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พฤติกรรมการซื้อสื่อออนไลน์ของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันลูกค้าเริ่มถามหาวิธีวัดผลการทำตลาดแบบดิจิทัล เช่น ดูจำนวนคนคลิกโฆษณา เป็นต้น รวมถึงให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของโฆษณามากกว่าการเน้นให้แบนเนอร์โฆษณาโดดเด่นสุด
และเปลี่ยนจากการลงโฆษณาในออนไลน์แบบพื้นฐานมาเป็นการนำสื่อออนไลน์ไปต่อยอดกับสื่ออื่น ๆ เช่น การคลิกที่แบนเนอร์แล้วเชื่อมไปที่หน้าแฟนเพจ, การตั้งข้อแม้ให้ลูกค้าแชร์ภาพก่อนจึงจะสามารถร่วมสนุกกับกิจกรรม เป็นต้น เรียกว่าเป็นการต่อยอดจากแบนเนอร์ไปสู่แฟนเพจ, จำนวนยอดไลก์, กิจกรรมการตลาด, และโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่น ๆ ของแบรนด์นั้น ๆ อย่างเต็มรูปแบบ
"พฤติกรรมการรับสื่อโฆษณาของผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไป บางคนที่มีความรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตอาจนำโปรแกรมบล็อกโฆษณาเข้ามาใช้งาน หรือหากผู้ใช้เว็บไซต์จำได้ว่าตำแหน่งใดเป็นพื้นที่โฆษณาก็จะไม่อ่านเนื้อหาส่วนนั้น ลูกค้าที่มาลงโฆษณาจะเน้นให้โฆษณาเชื่อมกับเนื้อหาในเว็บ หรือเนียนไปกับเว็บทำให้เอเยนซี่โฆษณา และเว็บไซต์ทำงานยากขึ้น เว็บต้องใช้ความโดดเด่นของตัวเองดึงดูดลูกค้า เช่น คนอ่านข่าวในเอ็มไทยจะรู้ว่าข่าวเราเป็นสไตล์จิกกัด การโฆษณาก็ต้องให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน"
"ปฐมพงศ์" เชื่อว่าตลาดโฆษณาดิจิทัลประเทศไทยปีนี้ยังเติบโตจากการที่บริษัทเอกชนเริ่มให้ความสนใจกับการใช้สื่อออนไลน์ในการทำตลาดมากขึ้น มีการจัดสรรงบประมาณให้อย่างชัดเจน เนื่องจากวัดผลได้ และติดตามพฤติกรรมของลูกค้าได้ จึงเปลี่ยนจากการใช้เงินไปกับสื่อโฆษณาทั่วไปมาลงเว็บไซต์ หรือนำสื่อออนไลน์ไปเชื่อมโยงกับกิจกรรมการตลาดในสื่ออื่น ๆ
"ปัจจัยลบคงเป็นเรื่องกำลังซื้อที่ลดลงและสถานการณ์การเมืองทำให้ธุรกิจชะลอการทำตลาด แต่ช่วงนี้ของปีการใช้เงินกับการโฆษณาจะค่อนข้างน้อย เมื่อมีสถานการณ์การเมืองยิ่งเห็นชัด หากไม่มีอะไรรุนแรงไปกว่านี้ เม็ดเงินโฆษณาคงกลับมาได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์"
สำหรับการเปลี่ยนผ่านของระบบโทรทัศน์จากแอนะล็อกไปยังดิจิทัล "บิ๊กบอสโมโน" มองว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต่างต้องสร้างจุดเด่นของตัวเองเพื่อให้คนจดจำได้ จึงเป็นไปได้ที่จะแบ่งงบประมาณการตลาดบางส่วนมาใช้กับสื่อโฆษณาดิจิทัล รวมถึงใช้กลยุทธ์ใช้สื่อที่มีในมือทุกสื่อเชื่อมเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์, นิตยสาร และออนไลน์
ด้าน "อภิศิลป์ ตรุงกานนท์" ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ เว็บไซต์ พันทิปดอทคอม มองว่า การเติบโตของตลาดโฆษณาดิจิทัลปีนี้น่าจะมาจากการที่งบประมาณการตลาดในอุตสาหกรรมสื่อประเภทอื่นมีการแบ่งมายังสื่อออนไลน์มากขึ้น
"กูเกิลและเฟซบุ๊กเป็นสื่อโฆษณาดิจิทัลที่นักโฆษณานิยมใช้ โดยกูเกิลเน้นเพื่อเพิ่มยอดขาย ขณะที่เฟซบุ๊กเน้นเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้า ส่วนโฆษณาแบบดิสเพลย์แอดใช้เพื่อสร้างความรับรู้ให้แบรนด์ ปีนี้คาดว่าองค์กรต่าง ๆ จะทุ่มงบไปกับการสร้างคอนเทนต์สำหรับการทำตลาดมากขึ้น เพราะโฆษณาที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ว่าโดนใจคนทั่วไปหรือไม่ เกาะกระแสหรือเปล่า ที่สำคัญคือต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย หากคอนเทนต์น่าสนใจ คนก็จะบอกต่อไปกันเอง"
สำหรับพฤติกรรมการรับสื่อโฆษณาในเว็บ "พันทิปดอทคอม" ผู้ใช้งานคลิกเข้าไปดูโฆษณาจากป้ายดิสเพลย์แอดเพียง 0.06% เว็บจึงต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มพื้นที่โฆษณาตำแหน่งใหม่ ให้อยู่ระหว่างพื้นที่แนะนำหัวข้อกระทู้หน้าแรกของเว็บไซต์ ส่งผลให้ผู้ใช้เว็บไซต์พันทิปคลิกเข้าไปดูโฆษณาในตำแหน่งนี้มากขึ้น เพราะมีที่อยู่ในตำแหน่งที่ผู้ใช้อยากคลิก และทำให้เป็นโฆษณาเชิงกิจกรรมที่มีเนื้อหาหรือรูปบางส่วนเชื่อมโยงกับเนื้อหาของกระทู้ในพันทิป
ขอขอบคุณที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
ที่มาของรูปภาพ http://www.promoterestaurant.in.th/
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที