ขณะนี้นักลงทุนญี่ปุ่นยังไม่คิดเปลี่ยนฐานการผลิตจากไทยไปยังประเทศอื่น เนื่องจากหลังจากผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ประ เทศไทยและญี่ปุ่นได้ช่วยกันฟื้นประเทศ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวมากขึ้นในปี 2555 และนักลงทุนญี่ปุ่นยังมองว่ายังต้องการใช้ไทยเป็นฐานทางธุรกิจเพื่อเชื่อมต่อและขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ตามแนวทางการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอา เซียน (เออีซี) ปลายปี 2558
นายเซ็ทซึโอะ อิอุจิ ประธานคณะสำรวจเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทยขณะนี้ที่มีการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองขณะนี้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้ออกแถลงการณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศไทยมาช้านาน อยากให้สถานการณ์นี้สิ้นสุดและเข้าสู่ความสงบโดยเร็วที่สุด สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว ให้สัญญาว่าจะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจตลอดไปและจะดำเนินธุรกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจหรือเพิ่มธุรกิจในประเทศไทย และที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ก็จะไม่พิจารณาประกอบเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ประเทศอื่นๆ โดยแต่ละบริษัทจะจับตามองสถานการณ์การเมืองว่าจะยืดเยื้อหรือสงบลงอย่างไรต่อไป ซึ่งในฐานะบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย หวังจะให้สถานการณ์ ณ ปัจจุบันสิ้นสุดโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยและญี่ปุ่นร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทยต่อไป
นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จะพิจารณาปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมการลงทุน เช่น การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคเป็นหลักมากกว่า แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการพิจารณาในเรื่องการเมืองในประเทศที่จะเข้าไปลงทุนมากขึ้นด้วย
"บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับไทยตลอดไป ดังนั้นบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย ยังคงดำเนินธุรกิจในไทยต่อไป แต่บริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจ หรือบริษัทใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย คงพิจารณาเรื่องสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้นๆ เพิ่มเติมด้วย" นายเซ็ทซึโอะ กล่าว
นายอิอุจิ ระบุด้วยว่า สถานการณ์ทางการเมืองในไทยยังส่งผลต่อการเดินทางเข้าติดต่อธุรกิจในไทยให้ลดลง กระทบกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมโรงแรมจึงได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม การติดต่อประสานงานกับภาครัฐด้านพิธีการศุลกากรและอื่นๆ กับรัฐบาลไทยยังคงติดต่อได้ตามปกติ ดังนั้น ผลกระทบจึงอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะกระทบการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งกระทบทางจิตวิทยา และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในที่สุด ณ ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่ปรับเปลี่ยนทัศนะต่อประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิต แต่หากเหตุการณ์ยืดเยื้ออาจมีการปรับเปลี่ยนไปได้
นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นมองประเทศเป้าหมายที่น่าเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตอันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย รองลงมาเวียด นามและเมียนมาร์ ตามลำดับ
นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวย การศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยอมรับว่า ปัญหา การเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะต้องแข่งขันกับประเทศในอาเซียนถึง 30%
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบมากขึ้น เพราะคู่ค้าจะขาดความเชื่อมั่นที่จะทำการค้ากับไทย และมีปัญหาด้านการลงนามการค้ากับประเทศในอาเซียน และจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 3% ขณะที่การส่งออกจะขยายตัว 3.8% โดยสถานการณ์การเมืองจะต้องจบภายในไตรมาส 1 ปีนี้ แต่หากยืดเยื้อถึงไตรมาส 2 เศรษฐกิจอาจจะต่ำกว่า 3% และการส่งออกจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้.
ผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีแรก 2557 ซึ่งสำรวจในช่วงที่มีการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส. พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ร้อยละ 73 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 46 ต้องการให้พัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีศุลกากร ขณะที่ร้อยละ 44 เรียกร้องให้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนร้อยละ 36 ต้องการให้ดำเนินการป้องกันอุทกภัยอย่างจริงจัง
ส่วนมุมมองต่อสภาพการดำเนินธุรกิจ ในช่วงครึ่งปีแรก 2557 พบว่า ส่วนใหญ่มองว่า สภาพธุรกิจจะดีขึ้น โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่ใช้ในการขนส่ง ส่วนในอุตสาหกรรมขนส่งที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิต นักธุรกิจญี่ปุ่นมองว่า จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการค้าและค้าปลีก ทั้งนี้ บริษัทร้อยละ 62 คาดการณ์ว่า ยอดขายรวมจะเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 86 คิดว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษี ส่วนบริษัทที่ขาดทุนจะขาดทุนลดลง และจะเปลี่ยนเป็นรายรับ-รายจ่ายสมดุลกัน โดยด้านการลงทุนโรงงานและเครื่องจักร ยังคงมีการเดินหน้าลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิต
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ร้อยละ 41 เชื่อว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยตลาดที่มีอนาคตสดใสคือ อินโดนีเซีย รองลงมาเป็นเวียดนามและพม่า ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การผลิต ตลาดที่มีอนาคตสดใส คือ กัมพูชาและลาว
ส่วนด้านการพัฒนาและขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ภายใต้แนวคิด Thailand Plus One ผู้ประกอบการร้อยละ 54 ระบุว่า ยังไม่มีแผนดำเนินการ ส่วนร้อยละ 28 ได้ดำเนินการไปแล้ว ขณะที่ร้อยละ 19 มีแผนดำเนินการ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณา โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายในการขยายธุรกิจออกไปในอนาคต คือ อินโดนีเซีย รองลงมาเป็นเวียดนามและพม่า
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในการกำหนดแผนธุรกิจส่วนใหญ่ อยู่ในช่วง 31.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินเยนต่อเงินบาท ใช้ที่ 3.1-3.2 เยน/บาท ด้านการจัดหาชิ้นส่วนและวัตถุดิบ ส่วนใหญ่หาภายในไทยและอาเซียน และลดการนำเข้าจากญี่ปุ่นลง
สำหรับปัญหาและความท้าทายในการบริหาร คือ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 52 ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยร้อยละ 64 ขาดระดับผู้จัดการ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้มาตรการเพิ่มเงินเดือนค่าจ้าง และจัดสรรสวัสดิการอย่างทั่วถึง. - สำนักข่าวไทย
ขอขอบคุณที่มาข่าว
By สำนักข่าวไทย TNA News | 28 ม.ค. 2557 17:09
http://www.mcot.net/site/content?id=52e781e0be047025178b4569
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1323318274
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที