การปฏิวัติการจัดการด้วย ERP
เมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน ERP จาก ERP Forum ประเทศญี่ปุ่น มาบรรยายในการสัมมนาเรื่อง จะอิมพลีเมนต์ ERP ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งเป็นการสัมมนาที่ใช้เวลาถึง 3 วัน แต่ก็ได้รับความสนใจจากสมาชิกและบุคคลทั่วไปอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าร่วมสัมมนาเต็มห้องราว 180 คน นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟแวร์ ERP ทั้งที่พัฒนาภายในประเทศและนำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศให้ความสนใจมาร่วมออกบูธสาธิตตัวอย่างการใช้งาน ERP ถึง 6-7 บริษัท
ERP คืออะไร ทำไมมีคนยอมเสียเงิน เสียเวลา มาร่วมสัมมนามากมายถึงเพียงนี้
ในยุคไอทีในปัจจุบันนี้ บางท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า SCM (Supply Chain Management) และ CRM (Customer Relationship Management ) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการห่วงโซ่อุปทานและจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า ความจริงแล้ว ERP หรือ Enterprise Resource Planning ก็เป็นพื้นฐานสำคัญและจำเป็นสำหรับทั้ง SCM และ CRM
เรามาดูกันว่า ERP คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญถึงปานนั้น
ERP Forum ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม(METI) ของญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ ERP ตลอดจนให้คำปรึกษาแก่ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในการนำ ERP ไปใช้ ได้ให้คำจำกัดความ ERP ได้ดังนี้คือ
ERP คือแนวความคิดในการบริหารเพื่อวางแผนและจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั่วทั้งบริษัท โดยการเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อ การผลิต การขาย ลอจิสติกส์ บัญชี การเงินและงานบุคคล เป็นต้น เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบเพื่อมุ่งไปสู่ผลกำไรสูงสุดของบริษัท
นอกจากนี้ ERP ยังมีความหมายในแง่ของระบบERP และโปรแกรมสำเร็จรูปERP อีกดังนี้
ระบบ ERP หมายถึงระบบสารสนเทศ ในการบริหารวิสาหกิจ ที่ทำให้แนวความคิดในการบริหารแบบERPเป็นจริงขึ้นมา โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้
โปรแกรมสำเร็จรูป ERP คือ ซอฟแวร์ประยุกต์มาตรฐานที่จำหน่ายทั่วไปซึ่งนำมาใช้งานเพื่อให้ระบบ ERP สามารถได้รับการอิมพลีเมนต์และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง ERP ก็มักจะหมายรวมทั้งแนวความคิด ระบบ และโปรแกรมเข้าไว้ด้วยกัน
เดิมทีในประเทศญี่ปุ่นนั้น บริษัทส่วนใหญ่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้กันภายในบริษัทเอง ทำได้ไม่มีความเป็นมาตรฐานอันหนึ่งอันเดียวกัน ทาง METI ได้พยายามส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs ให้มีการนำแนวความคิด ระบบ และโปรแกรมสำเร็จรูป ERP เข้าไปใช้ โดยการให้การสนับสนุน ERP Forum, Japan เข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการต่างๆ
ประวัติความเป็นมาของแนวคิด ERP
แนวคิด ERP เริ่มในยุคปี ค.ศ. 1990 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จุดกำเนิดเริ่มแรกของ ERP มาจากแนวคิดของการพัฒนาระบบการบริหารการผลิตรวม (Material Requirement Planning/Manufacturing Resource Planning, MRP System) ของอุตสาหกรรมการผลิตในอเมริกา โดยคำว่า ERP และแนวคิดของ ERP นั้นก็พัฒนามาจาก MRP นั่นเอง
แนวคิด MRP เกิดขึ้นครั้งแรกที่อเมริกาในยุคต้นของทศวรรษ 1960 ในช่วงแรก MRP ย่อมาจาก Material Requirement Planning (การวางแผนความต้องการวัสดุ) เป็นวิธีการในการหาชนิดและจำนวนวัสดุที่ต้องใช้ในการผลิตตามตารางเวลาและจำนวนสินค้าที่ได้วางแผนโดย MPS (Master Production Schedule)
วิธี MRP เป็นเทคนิคในการจัดการที่สามารถหารายการวัสดุที่ต้องใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปตามแผนการผลิตหลักที่ได้วางไว้ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย สามารถสร้างใบรายการวัสดุ (Bill of Material) ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถบอกชนิดของวัสดุ จำนวนที่ต้องการ และเวลาที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ
แต่วิธี MRP นี้ไม่มีความสามารถในการตรวจสอบหาข้อแตกต่างระหว่างแผนการผลิตกับสภาพการผลิตจริงที่ shop floor เนื่องจากไม่มีฟังก์ชันเกี่ยวกับการป้อนกลับข้อมูลกลับมาปรับแผนใหม่
ย่างเข้ายุคปี ค.ศ. 1970 MRP ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการป้อนกลับข้อมูลสภาพการผลิตจริงใน shop floor นอกจากนั้นยังเพิ่มแนวคิดเรื่อง การวางแผนความต้องการกำลังการผลิต (Capacity Requirement Planning)
ระบบ MRP ที่ได้วิวัฒนาการโดยรวมเอาความสามารถรับ feed back จากฝ่ายการผลิต และ CRP เข้าไปนี้ ต่อมาถูกเรียกว่า MRP แบบวงปิด (Closed Loop MRP) ในขั้นตอนนี้ของวิวัฒนาการเราจะเห็นว่ามีการรวมเอางานการวางแผนการผลิตและการบริหารการผลิตเข้าเชื่อมโยงกัน จากที่ก่อนหน้านั้นทำงานแยกกัน
Closed Loop MRP นี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในอุตสาหกรรมการผลิต ในปัจจุบัน MRP ที่ใช้ในทุกธุรกิจการผลิตก็คือ Closed Loop MRP นี้เอง
จากความสำเร็จของ Closed Loop MRP ก็เกิดการพัฒนาต่อยอดขึ้นเป็น MRP II ในยุคปี ค.ศ. 1980 (โดย MRP ใหม่นี้ย่อมาจาก Manufacturing Resource Planning) ซึ่งได้รวมการวางแผนและบริหารทรัพยากรการผลิตอื่น ๆ นอกจากการวางแผนและควบคุมกำลังการผลิตและวัตถุดิบการผลิต เข้าไปในระบบด้วย
MRP II ได้วิวัฒนาการถึงขั้นที่รวมหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย การวางแผนงบการจัดซื้อวัตถุดิบ การวางแผนต้นทุนสินค้าคงคลังของระบบบริหารสินค้าคงคลัง การวางแผนกำลังคนที่สัมพันธ์กับกำลังการผลิต ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของการผลิต เข้าอยู่ในระบบ MRP II
ด้วยความสามารถนี้ทำให้ MRP II เป็นระบบที่สามารถส่งข้อมูลทุกชนิดที่ระบบบัญชีต้องการให้แก่ระบบบัญชีได้ นั่นก็คือ MRP II เป็นระบบที่รวมเอา Closed Loop MRP , ระบบัญชี และระบบซิมูเลชัน เข้าด้วยกัน เป็นการขยายขอบเขตของสิ่งที่สามารถวางแผนและบริหารให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้นกว่าเดิม
โดยการใช้ระบบ MRP II ธุรกิจการผลิตสามารถที่จะวางแผนและบริหารระบบงานต่าง ๆ คือ การขาย บัญชี บุคคล การผลิต และ สินค้าคงคลัง เข้าด้วยกันได้อย่างบูรณาการ ด้วยความสามารถนี้ทำให้ MRP II เริ่มถูกเรียกว่า BRP (=Business Resource Planning) และเริ่มเป็นแนวคิดหลักของระบบ CIM (=Computer Integrated Manufacturing)
โดยการใช้ระบบ MRP II ธุรกิจการผลิตสามารถที่จะวางแผนและบริหารระบบงานต่าง ๆ คือ การขาย บัญชี บุคคล การผลิต และ สินค้าคงคลัง เข้าด้วยกันได้อย่างบูรณาการ ด้วยความสามารถนี้ทำให้ MRP
MRP II เป็นแนวคิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ERPได้ขยายแนวคิดของ MRP II ให้สามารถใช้ได้ทั้งองค์กรของธุรกิจที่หลากหลาย โดยการรวมกระบวนการธุรกิจทุกอย่างในองค์กรเข้ามาเป็นระบบเดียวกัน
นั่นคือ ERP เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะสามารถตัดสินใจด้านธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและแบบเรียลไทม์ โดยอาศัยข้อมูลทุกชนิดจากทุกกระบวนการธุรกิจในองค์กรที่ระบบนำมาบันทึกเก็บไว้ในฐานข้อมูลรวมเดียวกัน แนวคิด ERP เกิดจากการขยาย MRP II ซึ่งเป็นระบบที่ optimize ในส่วนการผลิต ให้เป็นระบบที่ optimize ทั้งบริษัท ในปัจจุบันมีการพัฒนา E-Business อย่างรวดเร็ว และทำให้ขอบเขตของการ optimize ต้องมองให้กว้างมากขึ้นไปกว่าเดิม เป็น global optimization นั่นหมายความว่า ERP ก็จะมีวิวัฒนาการต่อไปอีก
การนำ ERP มาใช้ และการเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมการปฏิรูปองค์กร
การนำ ERP มาใช้นั้น จะต้องเริ่มจากการปฏิรูปจิตสำนึกให้เห็นความจำเป็นของการปฏิรูปองค์กร และเมื่อจิตสำนึกดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในองค์กร การนำเอา ERP มาใช้ก็จะเป็นขั้นตอนของการทำให้เกิดกิจกรรมการปฏิรูปองค์กร ซึ่งก็คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในด้านต่าง ๆ คือ
(1) ความสามารถในการรับรู้สภาพการณ์โดยรวมของการบริหารได้แบบเรียลไทม์
(2) ความสามารถในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้องค์กรโดยรวมมีประสิทธิภาพสูงสุด
(3) ความสามารถในการตัดสินใจให้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
5 ขั้นตอนของการนำ ERP มาใช้
การนำ ERP มาใช้นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนใหญ่
(1) ขั้นตอนการวางแนวคิด
(2) ขั้นตอนการวางแผน
(3) ขั้นตอนการพัฒนา
(4) ขั้นตอนการใช้งานจริงและทำให้คุ้นเคย
(5) ขั้นตอนพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
ดังภาพประกอบดังนี้
รูปที่ 3.1.2 ขั้นตอนการวางแนวคิด ( รูปให้สำเนาจากหนังสือ สู่การเป็นผู้นำในการใช้ ERP ของ สสท.)
รูปที่ 3.1.3 ขั้นตอนการวางแผน ( รูปให้สำเนาจากหนังสือ สู่การเป็นผู้นำในการใช้ ERP ของ สสท.)
รูปที่ 3.1.4 ขั้นตอนการพัฒนา ( รูปให้สำเนาจากหนังสือ สู่การเป็นผู้นำในการใช้ ERP ของ สสท.)
รูปที่ 3.1.5 ขั้นตอนการใช้งานและทำให้คุ้นเคย( รูปให้สำเนาจากหนังสือ สู่การเป็นผู้นำในการใช้ ERP ของ สสท.)
รูปที่ 3.1.6 ขั้นตอนพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ( รูปให้สำเนาจากหนังสือ สู่การเป็นผู้นำในการใช้ ERP ของ สสท.)
บทสรุป
ERP เป็นทั้งแนวความคิดในการบริหาร ระบบสารสนเทศ และโปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อวางแผนและจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั่วทั้งบริษัท โดยการเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อ การผลิต การขาย ลอจิสติกส์ บัญชี การเงินและงานบุคคล เป็นต้น เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบเพื่อมุ่งไปสู่ผลกำไรสูงสุดของบริษัท
ERP เหมาะสำหรับนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง สำหรับธุรกิจขนาดย่อมหรือเล็กนั้น อาจจะต้องเลือกใช้โปรแกรมขนาดเล็กลงมาหรือเลือกใช้เฉพาะบางโมดูลตามความจำเป็น จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการชุบชีวิตธุรกิจไทยโดยให้บริการที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที พบว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ในบ้านเราส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องของการไม่รู้ต้นทุนสินค้าที่ถูกต้อง การควบคุมสินค้าคงคลัง และการวางแผนและการควบคุมการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนมากนัก สามารถนำไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและความถูกต้องได้โดยง่าย หากได้รับคำแนะนำและนำระบบ ERP เข้าไปใช้อย่างเหมาะสม
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง ERP นั้น ท่านผู้สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ สู่การเป็นผู้นำในการใช้ ERP จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ สสท. หรือ ขอคำปรึกษาแนะนำได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) ถ.พัฒนาการ ซอย 18 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2717-3000
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : การปฏิวัติการจัดการด้วย ERP