ธรรมาภิวัฒน์
หัวหน้า และลูกน้อง บางองค์กรอาจจะเป็น "คู่หู" บางองค์กรอาจจะเป็น "คู่ปรับ" ทั้งนี้ขึ้นกับว่า ทั้วสองฝ่ายมีความเข้าอกเข้าใจมากน้อยเพียงใด คำว่า "หัวหน้า" สิ่งที่หัวหน้าต้องการโดยส่วนใหญ่คือ อยากได้ลูกน้องที่เก่งและรู้ใจ งานหนักเอางานเบาสู้ เพราะถ้าผลงานที่ออกมาดีก็ต้องชมคนที่เป็น "หัว" และเขาก็จะได้ "หน้า" ในทำนองเดียวกัน ลูกน้องก็อยากได้หัวหน้าที่ดูแลลูกน้องเหมือน "ลูก" เหมือน "น้อง" คอยสั่งสอน ส่งให้เรียนมีการศึกษา ไม่ใช้ใช้แต่งานปล่อยให้โง่ดักดาน กลัวว่าจะมาวัดรอยเท้าตนเอง มีคำคมเปรียบเทียบไว้ว่า
คนที่ฉลาด และขยัน อาชีพคือ เจ้าคน นายคน
คนที่ฉลาด และขยันบ้างขี้เกียจบ้าง อาชีพคือ ที่ปรึกษา
คนที่โง่ และขี้เกียจ อาชีพคือ คนใช้ (ต้องมีคนมาคอยใช้งานจึงจะทำ และต้องสั่งละเอียด)
คนที่โง่ และขยัน ตามตำราต้อง "ฆ่า" ทิ้ง เพราะว่าเราจะต้องคอยไปแก้ปัญหาตลอด
ดังนั้น ถ้าเรามีลูก มีน้อง เราก็ต้องหวังให้เขาฉลาด เป็นที่พึ่งได้ วิธีการคือต้องส่งเข้าโรงเรียน อบรมสั่งสอน และเราเองก็ต้องคอยควบคุมดูแลความประพฤติให้ดี แต่ถ้าเราไม่ส่งเขาเรียน ปล่อยให้เขาโง่ และถ้าขยันอีกก็ยิ่งจะปวดหัวกันใหญ่ เพราะสินค้าและบริการอยู่ในมือเขาแทบทั้งสิ้น ของดีหรือของเสียก็ขึ้นกับเขาทั้งสิ้น สิ่งที่จะสร้างให้เกิดสภาพสมดุลย์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง ก็คือ ต่างฝ่ายสามารถประสานประโยชน์ให้กันและกันอย่างลงตัว ซึ่งเป็นทางสายกลางนั่นเอง
ในแนวคิดปัจจุบันเป็นแนวคิดประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้คือประชาธิปไตย ความหมายที่ถูกต้องของประชาธิปไตยคือ การเคารพกฎกติกา เมื่อคนอยู่กันจำนวนมากแล้วก็ต้องมีการกำหนดกฎกติกาขึ้นมา ซึ่งเป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ เมื่อกำหนดแล้วทุกคนจะต้องมีวินัยในการปฏิบัติตามอย่างนี้จึงเรียกว่าประชาธิปไตย ความคิดแบบเจ้าขุนมูลนายในสมัยโบราณไม่มีแล้ว บทบาทของหัวหน้าเป็นเพียงผู้ที่จะต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าลูกน้องเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกน้องจะต้องทำอย่างเดียว หัวหน้าคอยแต่สั่ง ทุกคนมีความสำคัญทั้งนั้น ต้องทำงานเป็นทีม (Team) มีผู้นำ (Leader) ไม่ใช่ผู้สั่ง (Commander) ดังนั้น หัวหน้าจะต้องมีภาวะผู้นำ (Leadership) ลูกน้องต้องเป็นสมาชิกทีมที่ดี (Workmanship) ต้องเคารพกติกา มีส่วนร่วมในการทำงาน ต้องศรัทธาและเชื่อมั่นในผู้นำ จึงจะทำให้เป็นทีมกันได้ แต่สิ่งหนึ่งแต่แตกต่างระหว่าแนวคิดประชาธิปไตยกับโลกของธุรกิจคือ โลกของธุรกิจจะต้องยึดหลักของ PQCDSMEE เสมอ ไม่ใช่ใช้การลงคะแนนเสีย ข้างใดคะแนนเสียงมากกว่าชนะ
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีบริหารแบบใดก็ตาม "ความมีส่วนร่วม" (Participation) เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของระบบร่วมกันรักษา แต่ถ้าเรามีผู้บริหารแบบ "คุณ-นะ-ทำ" สูง สั่งให้ลูกน้องทำ แล้วตัวเองไม่ร่วมด้วย ประชุมก็ไม่เคยเข้าร่วม เวลาสัมมนาก็มาเปิดแล้วก็หายไป แล้วละก็ ผมคิดว่าลูกน้องเห็นตัวอย่างแบบนี้เวลาเจ้านายหาย ลูกน้องก็หายบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้นถนนมุ่งสู่ดวงดาวคงจะคดเคี้ยวและทุรกันดารอีกมาก เพราะไม่มีใครช่วยถากถางให้ทางเรียบ เปรียบเสมือนรถที่ขาดคนขับ เรือที่ขาดหางเสือ ต่างคนต่างวิ่ง ขาดทิศทาง มีแต่โทษกัน แต่คู่แข่งเขาไม่รอเรานะครับ...
ด้วยความเคารพ
อนุวรรตน์ ศิลาเรืองอำไพ
ผู้จัดการฝ่ายการศึกษาและฝึกอบรม
anuwat@tpa.or.th
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที