ขนิษฐา

ผู้เขียน : ขนิษฐา

อัพเดท: 13 มี.ค. 2007 14.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 922258 ครั้ง

สร้างเสริมการเรียนรู้ โดย นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม ชั้นปีที่ 1


อันตรายที่อาจพบในงานก่อสร้าง

นักศึกษา นายสมศักดิ์ จรรยาศักดิ์

อันตรายที่เกิดขึ้นในการก่อสร้าง

อันตรายที่เกิดขึ้นในการก่อสร้าง หมายถึง อันตรายที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างที่เป็นอาคารใหม่ และมาจากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือซ่อมแซมอาคารสถานที่เดิม เช่น งานทาสี งานตกแต่งภายใน หรืองานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ผู้ทำการก่อสร้าง ผู้รับเหมาช่วง หรือตัวแทนเจ้าของโครงการ และวิศวกรที่ปรึกษาจะต้องตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และมุ่งเน้นให้มีการป้องกันอันตรายตลอดจนเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่คนงาน และผู้ปฏิบัติการงานภาคสนามที่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะและเสี่ยงอันตราย ให้มีสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตของผู้ปฏิบัติงานหรือผู้เกี่ยวข้อง แทนที่จะตามแก้ไขปัญหาเมื่ออุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นแล้ว เพราะผลกระทบและความเสียหายที่ตามมาจะมีมาก

ผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ และการรักษาความปลอดภัยในงานก่อสร้าง ดังนี้

1. ต้องกำหนดให้ผู้ทำการก่อสร้างเตรียมมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างและรักษาระเบียบปฏิบัติต่างๆเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

2. ต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบสภาพหน้างานตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆที่ใช้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา อีกทั้งจะต้องมอบหมายให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความปลอดภัยในงานก่อสร้างเป็นผู้รับผิดชอบควบคุม ดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานกำหนดตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง

3. ต้องจัดสรรเครื่องจักรกล เครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับการใช้งาน ตามประเภทและลักษณะงานนั้นๆ

4. ต้องฝึกอบรมช่างผู้ปฏิบัติงานให้สามารถใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆได้อย่างถูกวิธี

สาเหตุของอันตรายที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้างมีอยู่ 4 ประการ คือ

1. การปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Acts) เป็นอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงานของคนงาน

ก่อสร้างอย่างไม่คำนึงถึงความปลอดภัย อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะสาเหตุนี้ ซึ่งผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบคือ หัวหน้างานและตัวคนงานเอง เช่น การใช้เครื่องมือ เครื่องจักรทำงานโดยพลการ หรือไม่ได้รับมอบหมาย ไม่เข้าใจวิธีใช้งานเครื่องมือเครื่องจักรอย่างถูกต้อง ไม่สนใจคำเตือนต่างๆ ประมาทเลินเล่อ เล่นหรือหยอกล้อกันขณะปฏิบัติงาน เป็นต้น 2. สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Conditions) ได้แก่ เงื่อนไขต่างๆนอกจากตัวบุคคลที่อาจ

ทำให้เกิดอันตรายในการทำงาน ซึ่งสามารถแยกย่อยออกไปได้อีก 2 กรณี

3. อุบัติเหตุที่เกิดจากลักษณะของงานก่อสร้างแต่ละประเภท เช่น อาคารขนาดเล็กอาจมีปัญหาเรื่องการพลัดตกจากที่สูง นั่งร้านพัง วัสดุตกใส่คนงาน อาคารขนาดใหญ่อาจมีปัญหาดินถล่มขณะทำการก่อสร้างชั้นใต้ดิน นั่งร้านหรือค้ำยันพัง อาคารที่ก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ใช้ปั้นจั่นยก อาจมีอันตรายจากการประกอบชิ้นส่วนเป็นต้นว่า ปั้นจั่นเหวี่ยงถูกคนหรือสิ่งก่อสร้าง ลวดสลิงขาด หรือใช้ลวดสลิงไม่ถูกวิธี

4. อุบัติเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่พึงประสงค์และเป็นอันตรายก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ การทำงานในที่มีเสียงดัง มีความสั่นสะเทือนสูง มีเครื่องจักรขนาดใหญ่และเครื่องทุ่นแรงจำนวนมาก ย่อมเกิดความสั่นสะเทือน ฝุ่นและควันที่สร้างมลภาวะและความรำคาญ ก่อให้เกิดความเมื่อยล้า บั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงก่ออุบัติเหตุขึ้นได้ การทำงานในที่มีระดับเสียงดังมากๆ หรือมีแสงสว่างจ้ามากเกินไป จึงต้องใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างถูกต้องเหมาะสมกับประเภทงานนั้นๆ

5. เหตุสุดวิสัยและภัยธรรมชาติ มักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำและก่อให้เกิดอันตรายในการก่อสร้าง ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ผู้ปฏิบัติงานบาดเจ็บและเสียชีวิต ได้แก่

5.1 ฟ้าผ่า สถานที่ก่อสร้างที่มีแนวโน้มจะเกิดอันตรายจากฟ้าผ่าได้คือ สถานที่ก่อสร้างอาคารสูง หรือบริเวณโครงการก่อสร้างที่เป็นที่โล่งแจ้ง ควรจัดให้มีระบบป้องกันฟ้าผ่าชั่วคราวให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

5.2 น้ำท่วม มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก ต้องเตรียมจัดทำคันกันน้ำ หรือระบบระบายน้ำที่ดีหรือจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้รองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้

6. การทำงานในสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบาก เช่นทำงานในสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่มหรือมีความชันสูงจะต้องมีการตรวจสอบสภาพภูมิประเทศ ลักษณะและคุณสมบัติของดิน เพื่อจัดเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ในงานก่อสร้างได้ถูกต้องเหมาะสม ใช้เทคนิคการก่อสร้าง และเลือกผู้ปฏิบัติงานที่มีความชำนาญในพื้นที่

7. อันตรายที่เกิดจากความบกพร่องของแบบรูปและรายการก่อสร้าง แม่บทของโครงการก่อสร้างคือ แบบรูปและรายการประกอบแบบก่อสร้างที่ดี แบบรูปที่ผิดพลาด ไม่ชัดเจน รายการประกอบแบบที่คลุมเครือ ไม่ละเอียดเป็นปัญหาสำคัญที่นอกจากจะทำให้งานก่อสร้างชะงักงันแล้ว ยังก่ออันตรายและความไม่ปลอดภัยในการทำงานทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวมขึ้นได้

ตามปกติการออกแบบก่อสร้างจะมีขั้นตอนหลักๆที่สำคัญอยู่ 3 ขั้นตอน

1. ขั้นตอนการรับและจัดเตรียมข้อมูล ( Input Mode ) มีความสำคัญเป็นลำดับแรก ผู้ออกแบบก่อสร้างจะหารือกับวิศวกรและเจ้าของโครงอย่างใกล้ชิด เพื่อทราบวัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนความต้องการต่าง ๆ ของเจ้าของโครงการ รายละเอียดข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นข้อมูลดิบ ที่ผู้ออกแบบจะต้องนำมาวิเคราะห์ จัดระบบ เพื่อใช้ประโยชน์และป้องกันความผิดพลาดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนของแบบรูปและรายการก่อสร้าง

2. ขั้นตอนการออกแบบ ( Design Mode ) การออกแบบจะต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักทฤษฎีและปฏิบัติโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบ รอบด้าน เช่นข้อมูลที่ได้รับ การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยความปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงของอาคาร เพื่อกำหนดรายการก่อสร้างและวิธีทำงานอย่างละเอียด เพราะเมื่อถึงขั้นตอนลงมือก่อสร้างจริง กลุ่มผู้ออกแบบ วิศวกรโครงการ ตลอดจนผู้ทำการก่อสร้างจะมีบทบาทร่วมกันเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างถูกวิธีตามเทคนิคและการทำงาน ได้ผลงานที่ดี รวมทั้งความปลอดภัยขณะทำงาน

3. ขั้นตอนการนำเสนอแบบหรือผลงานและการก่อสร้าง (Output Mode and Construction) ขั้นตอนนี้จะสำคัญมาก และอาจเกิดข้อผิดพลาดได้มากเช่นกัน เป็นต้นว่าแบบที่จัดทำขึ้นไม่สามารถแสดงถึงความต้องการของผู้ออกแบบและเจ้าของโครงการ รายละเอียดของแบบไม่ชัดเจน ทำให้ตีความผิดพลาดขณะก่อสร้าง ด้วยเหตุนี้ผู้ออกแบบจึงต้องระบุรายละเอียดต่างๆที่จะส่งผลกระทบในขั้นตอนการก่อสร้างให้ชัดเจน เช่น ระบุชนิดของวัสดุที่ใช้ คุณภาพของวัสดุ ขั้นตอนการก่อสร้างและอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และการขาดประสบการณ์ในงานก่อสร้างและต่อเติมอาคารก็เป็นเหตุหนึ่งที่เกิดอันตรายได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจต่อเติมอาคารเจ้าของอาคารควรพิจารณาความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการรื้อและสร้างใหม่ โดยต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีเกิดความวิบัติของอาคารเดิม ดังนั้นควรปรึกษาวิศวกรออกแบบคนเดิมหรือศึกษารายละเอียดจากแบบก่อสร้างเดิมให้ชัดเจน ว่าสามารถต่อเติมได้โดยปลอดภัย

เจ้าของโครงการ บริษัทที่ปรึกษา ผู้ทำการก่อสร้าง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องร่วมมือกันตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารก่อสร้างต่างๆและเร่งดำเนินการกับอาคารที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย แต่ไม่ปลอดภัย เพราะออกแบบและต่อเติมอาคารอย่างไม่ถูกต้องและสั่งระงับใช้ แก้ไข หรือสั่งรื้อถอนอาคารตามแต่สภาพความไม่ปลอดภัยที่ตรวจพบ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้

 

อ้างอิง : การจัดการงานสนาม ม.สุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิทยาการจัดการ หน้า 213 - 219


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที