ชนิตพล

ผู้เขียน : ชนิตพล

อัพเดท: 05 พ.ย. 2013 04.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 20297 ครั้ง



ENEV-Houses (Energy saving and Environmental friendly Houses)

“Why we all need to go green!”
ความจำเป็นที่ต้องหันมาช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อเอื้อต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์

บทนำ

บทความเรื่อง ENEV มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการมีจิตสำนึก ในความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงภัย ที่เกิดจากการเสียสมดุล ของระบบนิเวศวิทยา ที่เป็นสิ่งมีชีวิตทั้ง พืช สัตว์ รวมถึง ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็น ดิน แร่ธาตุในดิน แหล่งน้ำ ทะเลที่มีพื้นน้ำกว่า 70% ของพื้นที่ผิวโลก สภาพของพื้นแผ่นดิน ผืนป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของน้ำ และสิ่งชีวิตตามธรรมชาติ ทั้งปวงเป็นต้น การเรียบเรียงเนื้อหาจะเป็นลักษณะอิงหลักของวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์เคมีเป็นหลัก เป็นการบรรยายและอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ด้วยการยกตัวอย่าง พร้อมหลักคิดเบื้องต้น โดยเฉพาะความรู้ใน รายละเอียดของหลากหลายมุมมอง ในรายละเอียดของบ้านที่เราอยู่อาศัยกันทุกวันนี้ ต่อไปนี้จะเกริ่นนำเพื่อความเข้าใจที่มาของแหล่งความร้อนที่เราได้รับกันอยู่ในขณะนี้

สภาพภูมิอากาศ ของโลกทั่วทุกภูมิภาค มีการเสียสมดุลทางนิเวศน์มากขึ้นตามลำดับ จากการลุกล้ำป่าซึ่งเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพื่อทำการเกษตร และอุตสาหกรรม พร้อมๆกับการขยายตัวของชุมชนและการพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการอย่างกว้างขวาง มีการเพิ่มขึ้นของประชากร เกิดการเจริญเติบโต ของชุมชนบ้าน และชุมชนเมืองทั่วทุกภูมิภาค การขยายตัวดังกล่าว รวมถึง การดำรงชีวิต ประจำวันและการคมนาคม ติดต่อสื่อสารไปมาหาสู่กัน กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิด มลพิษ ตามมาเป็นจำนวนมาก เช่น ขยะ ควันพิษและน้ำเสีย ของเสียส่วนใหญ่มาจากระบวนการผลิตพลังงาน ด้วยการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil) เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งมาจาก กิจกรรมทางการเกษตร การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ และบางส่วนมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างผิดวิธี สาเหตุต่างๆเหล่านี้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชั้นบรรยากาศที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในขณะนี้
คาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เป็นก๊าซที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นส่วนที่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนโดยตรง จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่า เมื่อแสงอาทิตย์ส่งผ่านชั้นบรรยากาศมากระทบผิวโลก ก็จะเกิดการดูดซับพลังงานความร้อนไว้ที่ผิวโลกทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและน้ำ พลังงานบางส่วนจะถูกสะท้อนกลับไปสู่บรรยากาศชั้น ซึ่งจะถูกดูดกลืน และบางส่วนสะท้อนกลับลงมาอีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้น สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ที่สูงจากผิวโลกขึ้นไปราว 40-60 กิโลเมตร ซึ่งชั้นบรรยากาศของก๊าซเรือนกระจกนี้มีทั้งประโยชน์และผลเสีย และมีอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะมีผลต่อสภาพความร้อนบนผิวโลกโดยตรง ซึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดในบทต่อไป


///////////////////////////

25/6/2556





1 ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) (2)

  1 ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases)  (2)

ระบบนิเวศ (Ecosystem) :  คือ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกัน และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ  เช่น ดิน  น้ำ แสงแดเด และปรากฏการณ์ธรรมชาติ   ในระบบนิเวศจะมีการถ่ายทอดพลังงานระหว่างสิ่งมีชีวิตของแต่ละกลุ่ม  และมีการหมุนเวียนสารต่างๆจากสิ่งแวดล้อมสู่สิ่งมีชีวิตและจากสิ่งมีชีวิต สู่สิ่งแวดล้อม   เป็นการใช้พลังงานและแลกเปลี่ยนสารอาหารซึ่งดำเนินไปภายใต้ความสมดุลของธรรมชาติซึ่งเป็นสมดุลของระบบนิเวศ  และผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสรรพสิ่งในระบบ  ปัจจุบันมนุษย์ส่วนใหญ่ เริ่มเห็นความสำคัญของระบบนิเวศและรู้จักการนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้ เกิดประโยชน์และรนณรงค์ช่วยกันแก้ไขปัญหา ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ

โลกจัดเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า โลกของสิ่งมีชีวิต หรือ ชีวาลัย (biosphere) ซึ่งเป็นบริเวณที่ห่อหุ้มโลกอยู่ มีขบวนการที่ซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตมากมายเกินกว่าจะคาดคิดเกิดเป็น วัฏจักรต่างๆมากมายทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ที่มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ความสำคัญของการศึกษาระบบนิเวศ (Ecosystem Study) เพื่อรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมหรือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง การเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์เหล่านี้ รวมถึงความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโครงสร้าง หน้าที่ กิจกรรมหรือกลไก ภาวะความสมดุลในระบบนิเวศ ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศกับระบบนิเวศด้วยกัน จะทำให้มนุษย์สามารถนำความรู้เหล่านี้มาเป็นเครื่องมือในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และบทบาทของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งในระบบนิเวศ   เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ระบบนิเวศทางธรรมชาติ (Natural Ecosystems) เป็นระบบที่ต้องพึ่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ เพื่อทำให้เกิด วัฏจักรต่างๆ ของทุกชีวิตที่เกิดขึ้นในบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตนั้น ต่างเกิดมาได้ เพราะมีชีวิตอื่นๆ เกื้อหนุน จะไม่มีชีวิตเกิดตามลำพังโดดเดี่ยว โดยไม่มีความสัมพันธ์ถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และภายใต้ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมนี้ เราเรียกว่า ระบบนิเวศทางธรรมชาติ

ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม (Ecosystems and Environment) หมายถึง ระบบของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มหรือหมู่ของสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ

ประเภทของระบบนิเวศ (Type of Ecosystem)  ระบบนิเวศคือโลกของสิ่งมีชีวิต หรือ biosphere มี 2 ประเภทคือ                                                                       

1. ระบบนิเวศตามธรรมชาติ ได้แก่ ระบบนิเวศบนบก เช่น ป่าไม้ ทุ่งหญ้า ทะเลทราย ระบบนิเวศแหล่งน้ำ แบ่งเป็นระบบนิเวศน้ำจืด  เช่น ทะเลสาบ  แม่น้ำ  ห้วย หนอง คลอง บึง  ระบบนิเวศน้ำเค็ม เช่น ทะเล มหาสมุทร  ระบบและระบบนิเวศน้ำกร่อย บริเวณปากแม่น้ำ
 

2. ระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ ระบบนิเวศการเกษตร ระบบนิเวศของนิคมอุตสาหกรรม และนิเวศชุมชนเมือง แม้แต่ภายในบ้านก็จัดเป็นนิเวศสนามหญ้า สวน หรือภายใน อ่างเลี้ยงปลา เป็นต้น 

ครงสร้างของระบบนิเวศ (Ecosystem structure) ระบบนิเวศแบ่งตามองค์ประกอบความสัมพันธ์พื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ได้ดังนี้

  1. องค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต (Abiotic component)  แบ่งตามประเภทของสสารและสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่มีผลกระทบได้แก่          สาร อินทรีย์ และ สารอนินทรีย์                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                       1.1 สารอินทรีย์ (Organic)  เช่น อินทรียวัตถุที่เป็น ซากพืช ซากสัตว์ สลายตัวจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ที่อยู่ในดินทำให้กลายเป็นสารประกอบอินทรีย์จำพวก กรดอะมิโน โปรตีน และอโรมาติก สร้างความอุดมสมบูรณ์กลับคืนแก่ดิน เมื่อจุลินทรีย์เหล่านั้นตายลง เกิดการทับถมกันเป็นเวลานานจน กลายเป็นฮิวมัส (humus)  เป็นต้น    
    1.2 สารอนินทรีย์ (Inorganic) เช่น น้ำ เกลือแร่และแร่ธาตุต่างๆ  เช่น โปรแตสเซียม แมงกานีส  คาร์บอน และไนโตรเจน เป็นต้น              1.3 การอยู่ร่วมกันของสารอินทรีย์ และอนินทรีย์  ในสภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical)  ซึ่งมีผลต่อ สถานะของสสารเหล่านั้นได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด  สภาพฟ้าและฝน  เสถียรภาพความคงทนต่อ กรด ด่างและเกลือ
  2. องค์ประกอบที่มีชีวิต (Biotic component) แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ พืชและสัตว์                                                                                    2.1กลุ่มพืชส่วนใหญ่เป็น ผู้ผลิต(Producer) มีความสามารถพิเศษในการผลิตสารสีเขียวที่เรียกว่า คลอโรฟีลล์ ด้วยการ นำเอา อนินทรีย์ สารมาสร้างเป็นอินทรีย์สารผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง ด้วยการใช้แสงแดด  
    2.2 กล่มสัตว์จะเป็นผู้บริโภค (Consumer) คือจำพวกกินพืชเป็นอาหาร (Herbivores) เรียกว่า  ผู้บริโภคขั้นปฐม (Primary consumers) เช่น กระรอก นก ปลา  เก้ง กวาง และกระต่าย เป็นต้น   สัตว์จำพวกที่กินสัตว์ด้วยกันเป็นอาหาร(Carnivores)  เรียกว่า ผู้บริโภคขั้นทุติย (Secondary consumers) สัตว์ที่กินสัตว์เป็นอาหาร เช่น เสือ สิงโต และจระเข้ เป็นต้น   สัตว์จำพวกที่กินทั้งพืชและสัตว์ เป็นอาหาร (Omnivores) เรียกว่า ผู้บริโภคขั้นตติย (Tertiary consumers) เช่น  มนุษย์  ไก่ นก และหมาป่า เป็นต้น นอกจากนี้  มีสัตว์ชนิดพิเศษ ที่กินซากสัตว์ (Scavenger) ด้วยกันเอง  เช่น นกแร้ง และแมลงมีปีกเช่น ด้วงขี้ควาย เป็นต้น  ส่วนสัตว์และพืช จำพวก เห็บ เหา หมัด ปลิง และต้นกาฝากที่ขึ้นบนต้นต้นไม้ เรียกว่าเป็น พาราสิต (Parasite)  สิ่งมีชีวิตที่เล็กจำพวก จุลินทรีย์ จัดเป็น ผู้ย่อยสลาย (Decomposer) จะย่อย ซากพืชและซากสัตว์ ให้เน่าเปื่อยกลายเป็นสารอาหารของสิ่งมีชีวิตจำพวกพืช เพื่อใช้ใน กระบวนการสังเคราะห์แสงต่อไป

          ระบบนิเวศที่มีการอยู่ร่วมกันของ พืชและสัตว์ ในธรรมชาติ ภายใต้สิ่งแวดล้อม เราเรียกว่า ระบบนิเวศแบบเปิด  นอกจากนี้ยังมีระบบนิเวศที่มีองค์ประกอบของทั้งพืชละสัตว์ บางส่วน ไม่ครบทั้งสามส่วน เรียกว่าระบบนิเวศแบบปิด ได้แก่ ระบบนิเวศเมือง นิเวศสวนสาธารณะ และนิเวศของแหล่งน้ำเฉพาะ เป็นต้น 

           บทสรุป ระบบนิเวศ เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการกิน การขับถ่าย  มีการหมุนเวียน ของสารอาหาร และแร่ธาตุ   มีการถ่ายเทพลังงาน ภายใต้องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต เป็นกลไกที่ควบคุมสังคมของสิ่งมีชีวิต  ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ประกอบไปด้วย  บริเวณ ขอบเขตพื้นที่   องค์ประกอบที่มีชีวิต (Biotic component)   องค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต (Abiotic component)  และ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต กับสิ่งแวดล้อมทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

 

 

//////////////////////////////////////

9/7/56

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที