1 ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) (1)
1.1 ความหมายของศัพท์ที่ใช้ในบทความเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของโลก :
Infrared (IR) : รังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อน มีแหล่งกำเนิดมาจากดวงอาทิตย์ แหล่งที่กำเนิด ความร้อน หลอดอินฟราเรด เป็นต้น ลักษณะของคลื่นอินฟราเรดเป็น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 10⁻³- 10⁻⁶ เมตร(m) ความถี่อยู่ ในช่วง 10¹¹– 10¹⁴ เฮิร์ตซ์ (Hz) อินฟราเรดเป็นคลื่นแสงที่มนุษย์มองไม่เห็น อยู่ในแถบสีใต้สีแดง นิยมใช้ทำเป็นกล้องส่องในที่มืดหรือเวลากลางคืน เช่นในกล้อง CCTV (closed circuit television) และใช้ช่วงคลื่นในการควบคุม ระยะไกล ใช้เป็น รีโมทคอนโทรล ควบคุมการทำงานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ พัดลม วิทยุ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
Ultraviolet (UV) : รังสีอัลตราไวโอเลต เป็นรังสีอยู่ในแถบเหนือม่วง มี ความถี่ช่วง 10¹⁵– 10¹⁸ เฮิร์ตซ์ (Hz) ความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 100-400 นาโนเมตร(nm) ( UV-C =100-280 nm , UV-B = 280- 315 nm , UV-A = 315-400 nm ) เป็นรังสีที่มีตามธรรมชาติจาก การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้เกิดประจุ ไอออน อิสระจำนวนมาก ในบรรยากาศ ชั้น เทอร์โมสเฟียร์(Thermosphere) โอโซนในชั้นบรรยากาศ สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) เป็นตัวสกัดรังสีนี้ไว้ ไม่ให้ลงสู่พื้นมากจนเป็นอันตรายแก่มนุษย์ แต่ในปัจจุบันพบว่ามีรูรั่วของโอโซนในชั้นบรรยากาศ อันเนื่องมาจากการใช้ สารสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) หรือฟรีออน เป็นสารประกอบของคาร์บอนฟลูออไรด์ คลอรีนคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (CCl4) คลอโรฟอร์ม (CHCL3) และเมธิลคลอโรฟอร์ม (CHCl3)
Ozone (O3) : โอโซนคือก๊าซออกซิเจนที่มีพลัง (Active Oxygen) เกิดจากการแตกตัวของออกซิเจนสองอะตอมไปจับกับก๊าซออกซิเจนปกติ เกิดเป็นก๊าซออกซิเจนสามอะตอม ก๊าซโอโซนเกิดจากปฏิกิริยาไฟฟ้าแรงสูง จากฟ้าผ่าในอากาศตามธรรมชาติ และแสงจากดวงอาทิตย์ ที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต เปลี่ยนโครงสร้างก๊าซออกซิเจนจาก O₂ ให้เป็น O₃ ก๊าซโอโซนสามารถทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidation action) กับสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ ทั้งในน้ำและในอากาศ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่รุนแรงและ เร็วกว่าคลอรีนถึง 3,125 เท่า โอโซนจะเข้าไปจับโมเลกุลของสารปนเปื้อน และ ทำการแยกย่อยสลาย โดยการเปลี่ยนโครงสร้างของสารนั้น แล้วโอโซนจะแปรสภาพกลับเป็นก๊าซออกซิเจน (O₂) ดังเดิม ที่สำคัญโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ สตราโตสเฟียร์ ทำหน้าที่ดูดซับรังสีความร้อนทุกชนิดที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ไว้ มิให้ส่องไปยังโลกมากจนทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะ UV-B
Visible Light : คือแสงที่ ประสาทตาของมนุษย์ สามารถรับได้ ตามสเปคตรัมของคลื่นช่วงความถี่ 10¹⁴Hz หรือ ความยาวคลื่น 4x10⁻⁷- 7x10⁻⁷ เมตร เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แบ่งตามความยาวคลื่นได้ 7 สีหรือสีรุ้ง ได้แก่ - สีม่วง = 380-450 nm , สีน้ำเงิน 450-500 nm , สีเขียว 500-570 nm , สีเหลือง 570-590 nm , สีแสด 590-610 nm และ สีแดง 610-760 nm
รูปที่2 แสดงรังสีที่ตาของมนุษย์สามารถมองเห็นได้ตามสเปคตรัมของแสงหรือสีรุ้ง
Global Warming : ภาวะโลกร้อน เกิดจาก การเพิ่มขึ้นของก๊าซที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลก โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกซึ่ง ทำให้อุณหภูมิภายในโลกสูงขึ้นและ ภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลง (Climate Change) จนเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในขณะนี้ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล คือคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนที่เกิดจากการหมักและย่อยสลายสารอินทรีย์ ต่างๆจากกิจกรรมของมนุษย์ เรียกว่าเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน จะเก็บกักความร้อนบางส่วนไว้ในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด เพื่อรักษาความอบอุ่นของผิวโลกไว้ แต่ตรงกันข้ามกันถ้ายิ่งมีก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ชั้นบรรยากาศกักเก็บรังสีความร้อนได้มากขึ้นจนทำให้โลกร้อนขึ้นตามมาด้วย
//////////////////////////////////////
30/6/56
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที