1. การทอผ้าไหมยกทองบ้านท่าสว่าง บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์
กลุ่มจันทร์โสมา อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ ประมาณ 10กิโลเมตรเป็นกลุ่มอนุรักษ์และพื้นฟูการทอผ้ายกทอง
ชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณผสมผสานเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน โดยมีอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นแกนนำ รู้จักกันดีในนาม “หมู่บ้านทอผ้าเอเปก”
ความพิเศษโดดเด่นของผ้าไหมยกทองกลุ่มจันทร์โสมา คือ การเลือกเส้นไหมที่เล็กและบางเบามาผ่านกรรมวิธีฟอก ต้ม แล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลักสามสี คือ สีแดง จากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแล และสีครามจากต้นคราม สอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทองหรือไหมเงินที่ทำจากทองแท้และเงินแท้มารีดเป็นเส้นเล็กๆ
ปั่นควบกับเส้นด้ายใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษที่ทำให้เกิดลายจำนวนมากกว่าร้อยตะกอจนถึง 1,500 ตะกอ ใช้คนทอ 4-5 คน กับความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอ จะได้ผลงานเพียงวันละ 6-7 เซนติเมตร เท่านั้น
2. “มาลัยไม้ไผ่”หัตถกรรมวิจิตรเพื่อพุทธบูชา ศรัทธาแห่งชนผู้ไทยกุดหว้า จ. กาฬสินธุ์
“มาลัยไม้ไผ่” เป็นหัตถกรรมภูมิปัญญาชาวผู้ไทยบ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ. กาฬสินธุ์ ซึ่งบรรจงประดิษฐ์ด้วยความละเอียดประณีตเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในงานบุญพวงมาลัย ที่จัดขึ้นในเดือนเก้าและเดือนสิบ ในช่วงบุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก ตามวิถีฮีต 12 อันเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวอีสาน โดยมาลัยไม้ไผ่จะเป็นเครื่องผูกร้อยพืชพรรณธัญญาหารตามฤดูกาลหรือสิ่งของอุปโภคบริโภค พร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อนำไปประกอบพิธีแห่มาลัยไม้ไผ่รอบโบสถ์ก่อนจะนำมาแขวนรวมกันเป็นพุ่มขนาดใหญ่แล้วถวายเป็นพุทธบูชา
มาลัยไม้ไผ่แต่ละดอก ทำจากไม้ไผ่ซึ่งตัดทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน แล้วนำมาตัดเป็นท่อน ผ่าซีกเหลาให้บาง ความกว้างและความยาวขึ้นอยู่กับขนาดของดอก โดย 1 ดอก ใช้ไม้ไผ่ที่เหลาแล้วจำนวน 6 ชิ้น นำมาหักพับสลับฟันปลาโดยแบ่งระยะให้สวยงาม พร้อมผ่าหน้ากว้างออกเป็นซี่เล็กๆโดยเว้นส่วนปลายทั้ง 2 ด้าน และบริเวณตรงกลาง จากนั้นนำแต่ละชิ้นมาประกบเข้าคู่โดยคลี่ซี่ไม้ไผ่ที่คู่ครบ 3 คู่ แล้วจึงเจาะรูตรงกลางเพื่อใช้ก้านไม้ไผ่ร้อยเป็นดอก ผูกยึดด้วยเชือกเส้นเล็กหรือยาวแล้วใช้แขวนในการทำพิธีบุญพวงมาลัย
นอกจากมาลัยไม้ไผ่ที่ใช้ในการประกอบพิธีบุญพวงมาลัยแล้ว ชาวไทยกุดหว้า ยังมีการประดิษฐ์มาลัยวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นมาลัยที่นำเทคนิคการทำมาลัยไม้ไผ่มาประยุกต์และประกอบให้เป็นมาลัยสวยงาม ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งและจัดประกวดในโอกาสต่างๆ อีกด้วย มาลัยไม้ไผ่จึงเป็นเอกลักษณ์งานหัตถกรรมของชาวไทยกุดหว้าที่สะท้อนถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและคุณค่าของภูมิปัญญาอีสานได้เป็นอย่างดี
3. ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ช่วงเวลาการจัดงาน: ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก นิยมจัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
หรือก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน (ประมาณเดือน ก.พ. หรือ มี.ค.ของทุกปี)
ความสำคัญ: มาลัยข้าวตอก เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำเอาข้าวเปลือกข้าวเหนียวที่ดีที่สุด
มาคั่วในหม้อดิน ให้เม็ดข้าวแตกเป็นดอกแล้วนำมาร้อยเป็นสายยาวและประดิษฐ์ให้มีความสวยงาม
เพื่อสื่อถึง “ดอกมณฑารพ” อันเป็นดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์ แล้วจัดเป็นขบวนแห่ไปถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา
นอกจากนี้ยังแฝงแนวคิดเพื่อให้ชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
4. “แพรวา” ราชินีแห่งผ้าไหม
ผ้าไหมบ้านแพรวาบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
“ ผ้าไหมแพรวา” เอกลักษณ์เด่นของชาวผู้ไทยบ้านโพน อ. คำม่วง จ. กาฬสินธุ์ เป็นภูมิปัญญาซึ่งได้รับการสืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน เป็นผ้าไหมที่มีความวิจิตรงดงามจนได้รับขนานนามว่า “แพรวา ราชินีแห่งผ้าไหม” ด้วยลักษณะเด่นของลวดลายทรงเรขาคณิตจำนวนมากในผืนเดียวกัน ใช้เส้นไหมหลากสีสอดสลับกันในลวดลายมีความหลากหลายกว่า 1,000 ลายเช่น ลายนาค 4 หัว ลายพันมหา ลายดกขจรย้อย ลายดอกกระบวนหัวขวาง ลายใบบุ่น ลายดอกช่อต้นสน เป็นต้น เอกลักษณ์ดั้งเดิมมีสีโทนแดงพื้น และมีความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน ดังชื่อ “แพรวา” ซึ่ง “แพร” หมายถึง ผ้า และ “วา” หมายถึง ความยาว 1 วา
สมัยก่อนการทอผ้าไหมแพรวาเป็นเพียงวิถีชีวิตของชาวผู้ไทยบ้านโพนที่ถ่ายทอดกันมาผ่านแต่ละยุคสมัย
จนกระทั่งในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ทอดพระเนตรเห็นผ้าไหมแพรวา ทรงสนพระทัยและทรงให้
คำแนะนำเพื่อส่งเสริมพัฒนาผ้าไหมแพรวาที่ชาวบ้านทออยู่ให้สามารถใช้ตัดเสื้อได้ จนปัจจุบันผ้าไหมแพรวาได้รับการสืบสานต่อยอด พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงรับผ้าไหมแพรวาไว้ในโครงการศิลปาชีพ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในการส่งเสริมให้ชาวบ้านโพนรักและดูแลสืบทอดภูมิปัญญานี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป
5. “ฮูปแต้ม” สื่อเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านสิมอีสาน
“วัดไชยศรี” บ้านสาวะดี ต.สาวะดี อ.เมือง จ. ขอนแก่น
“ฮูปแต้ม” หรือจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ “สิม” หรือโบสถ์ อีสานซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาวิถีชีวิต วัฒนธรรมอีสาน รวมทั้งเรื่องราววรรณกรรมต่างๆที่ได้รับความนิยม ฮูปแต้มจึงเป็นศิลปะที่สะท้อนถึงวิถีวัฒนธรรม ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวอีสานรวมทั้งเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของสังคมอีสานในอดีตได้เป็นอย่างดี
“การคัดลอกฮูปแต้มอีสาน” เป็นการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมผ่านสิมีสานซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเลือกใช้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการเรียนการสอนศิลปศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาแนวคิดและวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะ
ฮูปแต้มของช่างแต้มอีสานในสมัยโบราณ โดยมีวัดชัยศรีเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในการคัดลอกฮูปแต้ม
นอกจากจะเป็นที่ตั้งของสิมอีสานเก่าแก่อันทรงคุณค่า ซึ่งมีฮูปแต้มเรื่องราววรรณกรรมสินไช มหากาพย์ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มน้ำโขงแล้ว วัดแห่งนี้ ยังเป็นศูนย์รวมจิตของชาวบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ อนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลปะการแสดงหมอลำพื้นบ้านการถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการในการอนุรักษ์สิมอีสานโดยความร่วมมือของชุมชนการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะอีสานของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และการจัดงานประเพณีตามวิถีฮีต 12 โดยยังคงเอกลักษณ์ ความเป็นพื้นถิ่นไว้อย่างมั่นคงเป็นต้น
6. การเขียนลายเครื่องปั้นดินเผา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
กลุ่มสาธิตการเขียนสีลายบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานีเป็นการสาธิตการ
สร้างสรรค์ลวดลายเขียนสีบนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ที่มีลักษณ์เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศและเป็นมรดกทางงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ควรค่าแก่การเผยแพร่และสืบสานองค์ความรู้โบราณจากรุ่นสู่รุ่น
ลักษณะเด่นของลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง คือลวดลายเขียนสีแดงที่เขียนด้วยเส้นโค้งเป็น
องค์ประกอบหลัก มีความอ่อนช้อยและมีระเบียบของการจัดจังหวะลายซึ่งพบว่า ลายก้นหอยเป็นลายสัญลักษณ์ของศิลปะบ้านเชียง เนื่องจากเป็นลายพื้นฐานที่เขียนง่าย และเป็นลายที่นิยมใช้ ตกแต่งบนพื้นผิวภาชนะดินเผาในสมัยโบราณอีกด้วย
ปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง นอกจากจะเป็นสินค้าที่เป็นทั้งของฝากและของที่ระลึกของผู้มาเยือนแล้วยังเป็นสินค้า OTOP ประจำท้องถิ่นของชุมชนบ้านเชียง นอกจากนี้ยังมีการหยิบเอาคุณลักษณะเด่นของเครื่องปั้นดินเผาทั้งรูปทรงและลวดลายมาพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ในงานออกแบบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า รวมไปถึงการสื่อสารเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของประเทศชาติอีกด้วย
7. ตุ้มนกตุ้มหนู
ไทดำบ้านนาป่าหนาด อพยพมาจากเมืองแดง หรือเดียนเบียนฟู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนามในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว ยังคงยึดถือพิธีกรรมวัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้ยังมีภาษาพูดและภาษาเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
ตุ้มนกตุ้มหนู เป็นเครื่องรางของขลังของชาวไทดำ ช่วยปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีสิ่งชั่วร้ายออกไปจากบ้าน หรือ
หมู่บ้าน เพื่อให้ชาวไทดำอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังใช้สำหรับพิธีแชปาง แชปาง คือการฟ้อนรำของหมอมด หมอมนต์ หรือหมอที่มีเวทมนต์คาถาซึ่งช่วยรักษาคนป่วยให้หายป่วย ต้มนกตุ้มหนู จะนำมาใช้ประดับต้นปาง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องบรรณาการ สำหรับผีที่ดีที่มาช่วยรักษาคนป่วย เมื่อคนป่วยหายแล้ว จะจัดพิธีแชปางขึ้นเพื่อ
เป็นการตอบแทนบุญคุณของผี และทำให้หมอมด หมอมนต์ มีเวทมนต์คาถาที่ขลังขึ้นด้วย
8. การทอผ้าของชาวไทยดำ
ชาวไทยดำมีการทอผ้าที่เป็นลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ของศิลปหัตถกรรมของตนเองซึ่งได้ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ในอดีตทุกครอบครัวของชาวไทยดำจะปลูกฝ้ายหรือเลี้ยงไหมเอง เพื่อนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้กับสมาชิกในครอบครัว หรือเป็นของฝากให้กับคนสำคัญในโอกาสต่างๆ มีการย้อมสีผ้าจากธรรมชาติ ตัดเย็บด้วยเครื่องมือแต่งกายของชาวไทดำทั้งหญิงและชายหลายรูปแบบ
ผลิตภัณฑ์จากผ้าของชาวไทดำ ได้แก่ ผ้าเปียวเบาะหรือผ้าโพกศีรษะสตรี ผ้าฝ้ายทอมือ ผ้านุ่งนางหาน ผ้าถุงลายแตงโม เสื้อวาด เสื้อชอน เสื้อฮี หรือเสื้อยาว ผ้าฮ้างนม ย่ามลายขิด ม่าน ผ้าห่ม และผ้าอุ้มเด็ก นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ อาทิ ผ้ารองจาน ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋าผ้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ฯลฯ ส่วนเครื่องประดับของไทดำ มักทำด้วยเงิน เช่น เข็มขัด กำไรข้อมือ กำไรข้อเท้า ต่างหูและปิ่นปักผม
กรรมวิธีการทอผ้า มีกระบวนการต่างกันทำให้เกิดลวดลายที่ไม่เหมือนกัน ลวดลายบนผืนผ้ามีทั้งซับซ้อน
และไม่ซับซ้อน โดยทั่วไปเกิดขึ้นจากการทอผ้า 3 วิธีด้วยกัน คือ
9. การปั่นฝ้าย สายบุญ ทอผ้า ประเพณีจุลกฐิน
จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น คือคำเรียก กฐิน ที่ต้องทำด้วยการรีบด่วนโดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว มีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่พิธีบวชชีพราหมณ์
เพื่อความบริสุทธิ์ของดอกฝ้าย พิธีเก็บดอกฝ้ายโดยสาวพรหมจารีก่อนนำดอกฝ้ายค้นหูก สืบหูก จนถึงขั้นตอนการทอให้เป็นผืนผ้าให้เสร็จทันภายในเช้าวันรุ่งขึ้น และทอดถวายแก่พระสงฆ์กราบกฐิน ซึ่งมูลเหตุของการทำจุลกฐินนี้ เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องทอดกฐินให้สำเร็จทันตามกำหนดเวลาคือ ในวันสิ้นสุดเขตกฐิน
จึงต้องรีบเร่งจัดหาผ้ากฐินเพื่อให้เสร็จตามกำหนดเวลาพระวินัยบัญญัติถือเป็นประเพณีโบราณที่เชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์มาก มีความเป็นสิริมงคลในชีวิตและครอบครัว เพราะต้องใช้ความอุตสาหพยายามกว่ากฐินแบบธรรมดาเพื่อให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาอันจำกัด
งานประเพณีจุลกฐิน จังหวัดมุกดาหาร กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงทำบุญทอดกฐินหลังวันออกพรรษา (ระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 )
10. ประเพณีบุญแห่กระธูป อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
วันออกพรรษาเป็นอีกเทศกาลงานบุญครั้งใหญ่ ที่ชาวพุทธจะถวายสักการะองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ทำให้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีประเพณีบุญต่างๆประจำท้องถิ่น ซึ่งบางประเพณีบุญมีความเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์อยู่ในตัวแต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักอย่างประเพณีบุญแห่กระธูปของชาวอำเภอหนองบัวแดง
จังหวัดชัยภูมิ ที่ร่วมรักษาและสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุ ประเพณีแห่กระธูปจัดขึ้นทุกปีในประเพณีบุญออกพรรษาของ ต.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ในอดีตชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกระธูป
โดยชาวบ้านจะออกไปรวมตัวกันในจุดนัดหมายเพื่อไปพันกระธูป ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนจนมาเป็นกระธูป
รูปร่างสวยงามต้องใช้เวลามากพอสมควร เพราะวัสดุที่ใช้ไม่ใช่ธูปที่ว่างขายตามท้องตลาด แต่เกิดจากการขยี้เอามาจากกาบมะพร้าวจนร่วงออกมาเป็นผง แล้วฟันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ จากนั้นหุ้มอีกทีด้วยกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีสัน ก่อนที่จะนำไปมัดเข้ากับดาวก้านตาล(สานจากใบตาลหรือใบลาน)จากนั้นจึงนำไปมัดห้อยกับก้านธูปที่เป็นเสมือนคันเบ็ด ทำไว้เป็นจำนวนมากเสร็จแล้วจึงนำเข้าไปเสียบตามรูรอบปล้องไม้ไผ่ ทำเป็นชั้นขึ้นไปเหมือนฉัตร ประดำตกแต่งอย่างงดงาม ก่อนที่จะนำออกไปจุดในวันเวียนเทียนออกพรรษา
ถ้าพูดถึงขั้นตอนการทำกระธูปอย่างละเอียด นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจและมีคุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างมากเพราะเกิดจากวัสดุภายในท้องถิ่นทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น ขุยมะพร้าว ใบอ้ม ใบเนียม โดยนำใบไม้ทั้ง 2 ชนิด มานึ่งแล้วนำไปตากแดดให้แห้งจากนั้นนำมาบดอีกครั้งจะได้ฝุ่นไม้ที่มีกลิ่นหอมแล้วจึงนำไปผสมกับขุยมะพร้าวห่อด้วยกระดาษให้ได้รูปทรงยาวเหมือนรูปนำกระดาษสีมาประดับตกแต่งลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมเป็นลายไทย เช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำธูปที่มัดมาติดกับดาวซึ่งทำจากใบลานมามัดติดกับคันไม้ไผ่ลักษณะคล้ายคันเบ็ด แล้วนำไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้
ความสูงประมาณ 3-5 เมตรรูปทรงคล้ายฉัตรก่อนนำไปแห่และจุดบุชา พร้อมนำรูปดุมภาพลักษณะคล้าย
ส้มแต่มีเปลือกมาผ่าเป็น 2 ซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วควั้นด้ายเป็นรูปตีนกาเพื่อจุดไฟให้แสงสว่างในต้นกระธูป
11. ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ อำเภอนาแห้วจังหวัดเลย
ประเพณีสงกรานต์และงานแห่ดอกไม้ วัดศรีโพธิ์ชัย บ้านแสงภา ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย เป็นเวลา
กว่า 400 ปี ที่ชาวบ้านตำบลแสงภา ร่วมกันสืบสานประเพณีบุญใหญ่ เรียกว่า ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ งานบุญที่เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวไทยเลย แสดงถึงวิธีชีวิตชุมชนที่ยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลเพื่อให้ชุมชนอยู่ดีมีสุ ข้าวกล้าในภูมินาอุดมสมบูรณ์ ซึ่งปีหนึ่งจะจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์
การแห่ต้นดอกไม้ตำบลแสงภาจะเริ่มวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ ถึงวันที่ 16 เมษายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่ หรือวันขึ้นศักราชใหม่ โดยจัดขึ้น เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงค์ ซึ่งในแต่ละคุ้มบ้านชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นไม้ไผ่มาผูกและสานให้เป็น โครงรูปทรงปราสาทพื้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โครงสร้างจะประกอบด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ชาวบ้านจะไม่ใช้ไม้ลวด ตะปู มาผูกหรือตอกแต่อย่างใด
โดยต้นดอกไม้จะมีความสูงประมาณ 2 เมตรขึ้นไปจนถึง 20 เมตร และชาวบ้านจำนำดอกไม้ที่หาได้ในชุมชน เช่นดอกคูณ ดอกหางนกยูง ดอกจำปา หรือดอกลั่นทมซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงนี้มาประดับบนโครงไม้ไผ่ที่ทำขึ้น และภายในโครงไม้ไผ่นั้นยังมีเทียนหรือหลอดไฟ เพื่อจุดให้ความสว่างไสวในยามค่ำคืนอีกด้วย เพราะการแห่ต้นดอกไม้ของอำเภอนาแห้ว จะนิยมแห่ในช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้หลายๆครอบครัวยังช่วยกันประดิษฐ์ ต้นดอกไม้ขนาดเล็กลงมาจนถึงขนาดที่เด็กๆสามารถถือได้
เพื่อให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการสืบทอดประเพณีอันงดงามนี้มิให้เลือนหายไปกับกาลเวลา ซึ่งพอถึงเวลากลางคืน เวลาประมาณ 1 ทุ่ม ชาวบ้านจะช่วยกันหาบต้นดอกไม้แห่วนรอบโบสถ์ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปีถึง 3 รอบ ความหมายคือ รอบที่ 1 บูชาพระพุทธ รอบที่ 2 บูชาพระธรรม และรอบที่ 3 บูชาพระสงค์ ครบ 3 รอบ แล้วตั้งต้นดอกไม้บูชาไว้ในวัด 1 คืน แห่ให้ครบ 3 วัน และจะมีการแห่ทุกวันพระจนสิ้นเดือน เมษายน ของทุกปี
ซึ่งผู้ที่จะหาบต้นดอกไม้ต้องมีร่างกายที่แข็งแรง เพราะต้องหาบและโยกต้นดอกไม้ไปตามจังหวะดนตรีท้องถิ่นที่สนุกสนาน เสียงโห่ร้องให้กำลังใจจากผู้ร่วมขบวนแห่ที่ร่วมร่ายรำ อย่างสนุกสนานไปพร้อมๆ กัน
นับเป็นเสน่ห์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่หาดูได้ยากในสังคมในปัจจุบัน และมีหนึ่งเดียวในประเทศไทยจริงๆ ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีที่ควรคู่แก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง กิจกรรมที่หน้าสนใจในงานประเพณีสงกรานต์ งานแห่ต้นดอกไม้ของอำเภอนาแห้ว ได้แก่กิจกรรมกีฬาพื้นบ้าน พิธีสรงน้ำ ตั้งต้นก้อน ประกวดนางสงกรานต์
พิธีแห่ต้นดอกไม้ ประกวดต้นดอกไม้ พิธีแห่รุง พิธียกกรุง และพิธีอาราธนาพระไตรสรณคม
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที