โอกาสการค้าและการลงทุนในกัมพูชา
โอกาสของนักธุรกิจไทยในกัมพูชา ปัจจุบันต้องถือว่าไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ดีที่สุด และเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียนในเวลานี้
นางจีรนันท์ วงษ์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
ภาพรวมการค้าของกัมพูชาโดยส่วนใหญ่พึ่งพาสินค้านำเข้าจากทั่วโลก โดยมีนำเข้าสินค้าจากไทยปีละประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนมากเป็นสินค้าทางการเกษตร ส่วนด้านภาพลักษณ์สินค้าไทยในกัมพูชาถือว่าได้รับการยอมรับดีมาก
นางจีรนันท์ วงษ์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า การได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการค้าในขณะนี้อยู่ที่การแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่เวียดนามขายสินค้าเมื่อแปลงเป็นดอลล่าร์สหรัฐทำให้สินค้านั้นๆ ราคาถูกกว่าของไทย อย่างไรก็ดีคนกัมพูชาก็ยังมีความชื่นชอบสินค้าไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมั่นใจสินค้าไทยมีคุณภาพ
กัมพูชา ณ วันนี้นับว่าเป็นช่วงขาขึ้น เศรษฐกิจเติบโตปีละ 7% ขณะที่ไทยเติบโตเพียง 4% อย่างไรก็ดี คนกัมพูชามีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมาก โดยเฉพาะซื้อสินค้าแบรนด์เนม
สำหรับด้านการลงทุนในเวลานี้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นบุกแรงมาก สาเหตที่ญี่ปุ่นกล้าลงทุนเพราะเห็นว่าการเมืองของกัมพูชามีความมั่นคงและแน่นอน อย่างเช่น บริษัท อิออน ได้สร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ใจกลางกรุงพนมเปญ ลงทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีนักธุรกิจไทยหลายรายต่างให้ความสนใจที่จะไปเปิดสาขาที่นั่น อาทิ เมเจอร์ เอสแอนด์พี และบริษัทเอนเตอร์เทนเมนท์อื่นๆ ก็ให้ความสนใจ เมื่อเป็นเช่นนี้สินค้าอื่นๆ ก็จะกล้าตามไป แม้แต่โรงสีข้าวของไทยก็ไปตั้งโรงสี 4-5 โรงแล้ว นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมการ์เมนท์ที่ไปลงทุนที่นั่นเพื่อแสวงหาแรงงานราคาถูก
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการ์เม้นท์ที่เป็นเอสเอ็มอี ถ้าต้องการเริ่มต้นควรไปสำรวจและเช่าโรงงาน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อยู่ตรงไหนก็ได้ สำหรับเครื่องจักรก็สามารถนำเข้าโดยอาศัยการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเหมาะกับธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยมากๆ” นางจีรนันท์ กล่าว
อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น หากต้องการลงทุนในกัมพูชาควรไปที่ไหนที่เสถียรภาพในแง่ของแรงงาน การขนส่งสินค้าที่สะดวก ต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำ คุณจีรนันท์ เปิดเผยว่า แหล่งที่น่าสนใจที่ควรเข้าไปลงทุนก็คือ พนมเปญ และเมืองโดยรอบพนมเปญ โดยใช้การขนส่งจากพนมเปญไปออกท่าเรือที่เวียดนาม ซึ่งโลจิสติกส์ถูกที่สุด และโดยเฉพาะเรื่องแรงงานมีเสถียรภาพมากเพราะคนกัมพูชาชอบอยู่ในเมืองกรุง คนต่างจังหวัดก็ชอบย้ายเข้ามาทำงานในกรุง หากคิดจะลงทุนชายแดนมองว่า แรงงานไม่มั่นคง ซึ่งแรงงานชอบอยู่เมืองหลวงมากกว่า
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่กัมพูชาเปิดประเทศ ธุรกิจทุกอย่างเปิดประตูสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติ สามารถจดทะเบียนต่างชาติได้ 100% เช่าที่ดินได้มากถึง 70 ปี ซึ่งจะได้รับส่งเสริมการลงทุนเหมือนบีโอไอ
Mrs. Seang Vanna ผู้จัดการบริษัท Fuhuilai (Cambodia) หนึ่งในผู้ทำธุรกิจเทรดดิ้งด้านเครื่องสำอางในกัมพูชา เผยถึงโอกาสทางธุรกิจว่า คนกัมพูชาชอบคนไทยและสินค้าไทย สำหรับท่านที่ต้องการไปลงทุนในกัมพูชา ควรเรียนรู้อุปนิสัย ความนิยมความชอบ ระดับการใช้จ่ายของกลุ่มเป้าหมาย สินค้าของท่านอยู่ในตลาดระดับใด
บริษัท Fuhuilai (Cambodia) ทำธุรกิจเครื่องสำอางในตลาดระดับปานกลาง อาศัยการสัมผัสกับผู้ใช้โดยตรง โดยใช้การกระจายสินค้าตามตลาดต่างจังหวัดลักษณะค้าส่ง “ครั้งแรกแม่ค้าไม่รับ เพราะไม่เคยเห็น ไม่มีโฆษณา ไม่ซื้อ ใช้วิธีการตีป่าล้อมเมือง เข้าพื้นที่แจกโบรชัวร์ ทดสอบสภาพผิวหน้า ให้คำปรึกษา ซึ่งประสบความสำเร็จดีมาก วันหนึ่งรับลูกค้าได้ 400-500 คนต่อวัน และมีการบอกต่อยิ่งกว่าโฆษณา ได้ใจผู้ใช้และผู้แทนสินค้า” Mrs. Seang Vanna กล่าว
การลงทุนในกัมพูชาต้องหาพาร์ทเนอร์ หรือเป็นตัวแทนน่าเป็นทางเดินที่สั้นที่สุด เริ่มต้นแบบลุยเดี่ยวไม่ควรทำ วงการธุรกิจในกัมพูชาเป็นวงการที่แคบ ผู้ประกอบการในแวดวงส่วนมากจะรู้จักกันหมด ดังนั้นจึงควรต้องเริ่มต้นในการทำธุรกิจด้วยความจริงใจ
ดร.อิสิวุฒิ ตั้งเกียรติ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ผู้มีประสบการณ์ยาวนานในการทำธุรกิจในกัมพูชา มองว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดในแถบอาเซียนในเวลานี้ ปัจจุบันการทำธุรกิจในกัมพูชาเป็นระบบทั้งหมด การขอใบอนุญาติ ภาษีชัดเจน ซึ่งต้องยอมรับว่ามีระเบียบการลงทุนที่ชัดเจนซึ่งต่างจากเมื่อก่อนมาก
วันนี้ถนนทุกเส้นในกัมพูชาเป็นถนนเศรษฐกิจทั้งหมด เนื่องจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนเรื่องโลจิสติกส์ให้กัมพูชาเกือบทั้งหมด เพราะจีนมองกัมพูชาเป็นหัวเจาะหัวหนึ่งที่เจาะไปยังเวียดนามทางโฮจิมินห์
การลงทุนปัจจุบันบริเวณแนวชายแดนที่จีนเข้ามาสร้างระบบขนส่ง การลงทุนด้านการแปรรูปพลังงานและภาคเกษตรทั้งจากจีน เกาหลี และญี่ปุ่น มีการเติบโตสูง การปรับเปลี่ยนต่างๆ เป็นไปตามความเจริญ
“สมัยก่อนต้องตั้งโรงงานแล้วจึงเอาวัตถุดิบเข้าไป แต่วันนี้ต้องลากโรงงานเข้าไปตั้งในบริเวณที่มีวัตถุดิบและกลางดงแรงงาน”
“ในวันนี้สำหรับท่านที่ต้องการไปลงทุนที่พม่า อาจยังไม่ต้องคุยกันเพราะความเจริญยังไปไม่ได้ ลาวความเป็นธรรมชาติเยอะการลงทุนยังไม่เท่าไร เวียดนามยังเป็นระบบสังคมสูงเกินไป ฉะนั้นวันนี้ใน CLMV กัมพูชาน่าลงทุนมากที่สุด” ดร.อิสิวุฒิ กล่าว
ทุกวันนี้การลงทุนล้วนมุ่งหน้าเข้าไปในเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ดร. อิสิวุฒิ แนะว่า ท่านจะต้องมีบริษัทกัมพูชาที่ไว้วางใจ เอาคนไทยรวมหุ้นแล้วให้คนไทยมีหุ้นมากกว่า โดยให้คนไทยเข้าไปบริหาร ส่วนการนำเข้าส่งออกในกัมพูชา ระบบศุลกากรที่กัมพูชามีชิปปิ้งให้บริการจัดการให้หมด เตือนสำคัญอย่างยิ่งคือ เรื่องการค้าด้วยเงินสดสำคัญมากหรือควรโอนเงินเข้าธนาคาร
ทั้งนี้ หากที่ใดมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมก็ควรหาข้อมูลให้ดี ที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยไปลงทุนมากมาย เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะในบางพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยและเป็นเขตอุตสาหกรรมไม่ได้ ท่าเรือก็ไม่ได้ พื้นที่ระยะก็ไม่ได้ เป็นเรื่องที่เสียหายอย่างมาก
กัมพูชาวันนี้ในบริบทการมั่นคงทางการเมืองมีสูง และรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เป็นระบบค่อนข้างสูง แม้ว่าวันนี้กัมพูชาเป็นประเทศที่น่าลงทุน แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญในการเข้าไปลงทุนที่นั่นคือ เราต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่าเรามีวัฒนธรรมการค้าร่วมกัน
http://logisticsviews.blogspot.com/
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : โอกาสการค้าและการลงทุนในกัมพูชา