อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศที่ต่างชาติเข้าไปลงทุนโดยตรงมากเป็นสถิติในปีที่แล้ว 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์ ครองอันดับหนึ่งเป้าหมายการลงทุนต่างชาติของกลุ่มอาเซียน ซึ่งประเทศที่เข้าไปลงทุนอันดับหนึ่งยังคงเป็นสิงคโปร์ ตามด้วยญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหรัฐ
สำหรับการขยายการลงทุนในอาเซียน น่าจะวิเคราะห์แยกเป็นอาเซียนเดิม 6 ประเทศ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย กับอาเซียนใหม่คือ CLMV หรือกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม
โดยเฉพาะตลาดอาหารฮาลาลในโลกมีมูลค่าประมาณ 150,000–200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาหารฮาลาลจึงน่าจะมีโอกาสขยายตัวสูง ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นผู้ผลิตอาหารฮาลาลส่งออกที่สำคัญของโลก ผู้ประกอบการจึงควรยกระดับเรื่องมาตรฐานฮาลาลให้เข้าข่ายในแต่ละประเทศและทำการสร้างแบรนด์เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาส
สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ หรือ CLMV โดยมากจะให้ความสนใจสินค้าประเภทอุปโภค บริโภคจากไทย หากแต่การขนส่งสินค้ายังทำในลักษณะกองทัพมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ผู้ผลิตสินค้าของไทยไปลงทุนในประเทศเหล่านี้มากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยเช่นเดียวกัน
ดร. เนตรปรียา ชุมไชโย รองผูอำนวยการสำนักธุรกิจบริการและโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองว่า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยส่วนมากยังมีจุดอ่อนเรื่องการทำมาร์เก็ตติ้ง และควรจะปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้
นอกจากนี้ยังมองว่า การรุกคืบของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติ จะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยอย่างแน่นอน การถ่ายทอดระบบบริหารขนส่งระหว่างกันน่าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการและสร้างความเชื่อมโยงกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้มากที่สุด รวมถึงการออกไปขยายบริการโลจิสติกส์ในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศ CLMV ควรทำในลักษณะเป็นพาร์ทเนอร์ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้การบริหารจัดการ ระบบไอที เพื่อร่วมกันยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้า
ปัญหาประการสำคัญคือเรื่องของข้อมูลแต่ละประเทศในอาเซียน ซึ่งแม้แต่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็อาจจะยังให้ความกระจ่างในเวลานี้ไม่ได้
ถ้าถามว่า เออีซีคืออะไร คาดว่า 90% ของผู้ประกอบการไทยในภาพรวมคงทราบดีแล้ว แต่ไม่มีใครตอบได้ว่า จะเข้าไปอย่างไร ช่องทางไหน สิทธิประโยชน์ กฎระเบียบต่างๆ พิธีการศุลกากร วัฒนธรรมในองค์กร บุคลากร แต่ละแห่งเป็นอย่างไร
ประเทศไทยจึงน่าจะมีหน่วยงานที่ศึกษาข้อมูลในเชิงลึกคล้ายกับ Jetro ของญี่ปุ่นในไทย ที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวนี้ได้
http://logisticsviews.blogspot.com/
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที