GT200 เครื่องตรวจระเบิดระเบิดลวงโลก
นักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ นายเจมส์ แม็คคอร์มิค ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง เนื่องจากขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมให้แก่ประเทศต่างๆ อาทิ อิรัก จอร์เจีย และไทย โดยที่ทราบว่าเครื่องไม่มีประสิทธิภาพและขาดการอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนายเจมส์ แม็คคอร์มิค 56 ปี มีรายได้กว่า 50 ล้านปอนด์ จากการขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าว
นายแมคคอร์มิคอ้างว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยต่างๆที่ถูกซุกซ่อน อาทิ ยาเสพติด ระเบิด หรือแม้กระทั่งคน และยังอ้างว่าสามารถใช้ได้ในน้ำ และในอากาศ และสามารถตรวจจับวัตถุได้ลึกถึง 1 กม. ใต้พื้นดิน และกว่า 3 ไมล์ในอากาศ โดยอ้างว่าภายในเครื่องมีการ์ดที่ถูกตั้งโปรแกรมเพื่อตรวจสอบวัตถุได้หลายประเภท ตั้งแต่ งาช้าง ไปจนถึงธนบัตร
อย่างไรก็ดี ตามความจริงแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวมีกลไกการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องตรวจหาลูกกอล์ฟ มูลค่า 20 ดอลลาร์ ซึ่งเขาซื้อมาจากสหรัฐฯ และไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ
ตำรวจกล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านายแมคคอร์มิคมีการกระทำที่ขาดความเอาใจใส่ต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ที่กวังว่าว่าอุปกรณ์จะช่วยป้องกันความปลอดภัยได้ อย่างไรก็ดี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีหลักฐานว่านายแมคคอร์มิคพยายามขายอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่กระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ศาลมีกำหนดอ่านคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้ ในวันที่ 2 พ.ค.
ในส่วนของประเทศไทย เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่เป็นข่าวคือ จีที200 (GT200)
จีที200 (GT200) คืออุปกรณ์ตรวจสอบวัตถุระเบิดที่ยังเป็นที่สงสัยถึงความสามารถในการตรวจจับ โดยบริษัท โกลบอลเทคนิค จำกัด ผู้ผลิตในสหราชอาณาจักรอ้างอิงถึงความสามารถในการตรวจจับวัตถุระเบิดและยาเสพติดของเครื่อง โดยมีราคาจำหน่ายในแต่ละประเทศสูงกว่า 22,000 ปอนด์ (หรือประมาณ 1,145,000 บาท) ต่อเครื่อง หากแต่เครื่องนี้ได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ต่างอะไรไปจาก "ไม้ล้างป่าช้า" ปราศจากซึ่งหลักการคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในการทำงาน
ในประเทศไทยได้มีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดประเภทนี้ โดยเริ่มจากสังคมออนไลน์ โดยมีผศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้นำในการทดสอบ โดยมีการใช้การทดลองแบบ double blind เพื่อหาสถิติประสิทธิภาพการทำงาน อย่างไรก็ตาม ในการทดลองครั้งนี้ไม่ยอมให้ผ่าพิสูจน์เครื่อง โดยคณะกรรมการทดสอบฯ ให้เหตุว่าเป็นครุภัณฑ์ที่มีราคาสูง
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 หลังจากนั้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 คณะกรรมการได้จัดการตรวจสอบประสิทธิภาพการของเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยใช้การตรวจสอบแบบตาบอดสองทาง (Double Blind Test) ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงผลการตรวจสอบประสิทธิภาพของจีที200 ว่าตรวจหาวัตถุระเบิดซีโฟร์ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง จาก 20 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีตัวเลือก 4 กล่อง ซึ่งไม่มีนัยทางสถิติ รัฐบาลจึงยกเลิกการจัดซื้อเพิ่มเติม และให้หน่วยงานที่ใช้อยู่ทบทวนเรื่องการใช้งานเครื่องตรวจสอบระเบิดจีที200 ต่อ
24 เมษายน 2556 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที 200 ได้ถูกสั่งระงับการใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปนานแล้ว หลังเกิดความสงสัยในเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องมือดังกล่าว ว่าสามารถตรวจจับวัตถุระเบิดได้จริงหรือไม่ จนกระทั่งผลตรวจสอบระบุว่าไม่สามารถใช้การได้จริง จึงได้สั่งระงับและนำเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดไฟโดมาใช้ทดแทนในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อมูลจาก:
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที