" สงกรานต์ " ปี 2556 ยอดผู้เสียชีวิตยังเพิ่มไม่หยุดรวม 6 วัน เกิดอุบัติเหตุ 2,581 ครั้ง
เสียชีวิต 285 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,783 ราย โดยมีการคุมเข้ม รถโดยสาร รถตู้ ห้ามซิ่ง
วันนี้ (17 เม.ย.)ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พล.ต.ท. เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 ประจำวันที่ 17 เม.ย.56 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย.56 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรม” เกิดอุบัติเหตุ 291 ครั้ง (เท่ากันกับปี 2555 เกิด 291 ครั้ง) ผู้เสียชีวิต 30 ราย (ปี 2555 เสียชีวิต 29 ราย) เพิ่มขึ้น 1 ราย ร้อยละ 3.45 ผู้บาดเจ็บ 344 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 308 คน) เพิ่มขึ้น 36 คน ร้อยละ 11.69 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 34.71 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.05 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 75.59 รถปิกอัพ ร้อยละ 13.71
พฤติกรรมเสี่ยง ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 19.79 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.32 บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.46 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.99 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 31.96 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 54.81 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,340 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 68,883 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 688,513 มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 112,730 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 34,066 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 32,513ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครปฐม แพร่ (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดได้แก่ นนทบุรี เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี (19 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 6 วัน (วันที่ 11 – 16 เมษายน 2556) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,581 ครั้ง (ปี 2555 เกิด 2,872 ครั้ง) ลดลง 291 ครั้ง ร้อยละ 10.13 ผู้เสียชีวิตรวม 285 ราย (ปี 2555 เสียชีวิต 282 ราย) เพิ่มขึ้น 3 ราย ร้อยละ 1.06 ผู้บาดเจ็บรวม 2,783 คน (ปี 2555 บาดเจ็บ 3,059 คน ) ลดลง 276 คน ร้อยละ 9.02 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) รวม 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ตราด ปัตตานี ภูเก็ต ยะลา ระนอง และอำนาจเจริญ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (94 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (12 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (95 คน)
“กำชับจังหวัดปฏิบัติการเข้มข้นสร้างความปลอดภัยบนเส้นทางสายหลัก จังหวัดโดยรอบกรุงเทพฯ ให้เน้นเส้นทางขาเข้า กวดขันรถโดยสารสาธารณะ รถตู้โดยสารใช้ความเร็วสูง ส่วนจังหวัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เน้นดูแลเส้นทางในจังหวัด โดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และเตือนผู้ขับขี่พักผ่อนให้เพียงพอ หยุดพักรถเป็นระยะ ป้องกันอุบัติเหตุหลับใน จึงขอให้จังหวัดยังคงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการเข้มข้นบนเส้นทางภายในจังหวัด โดยเฉพาะเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ เส้นทางเชื่อมต่ออำเภอ หมู่บ้าน รวมถึงดูแลการเล่นน้ำสงกรานต์ให้อยู่ภายในพื้นที่ที่กำหนดภายใต้กรอบประเพณี ควบคู่กับการควบคุมมิให้มีการดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ”รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าว
พล.ต.ท. เรืองศักดิ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว และการขับรถโดยประมาท จึงขอให้จังหวัดเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมุ่งเน้นการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง โดยจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางหลัก เพราะประชาชนบางส่วนอยู่ในช่วงการเดินทางกลับ กวดขันผู้ใช้รถใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ควบคุมการขับรถเร็วและการดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะจังหวัดโดยรอบที่เป็นเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ให้เน้นเส้นทางขาเข้า โดยระบายการจราจรให้มีความคล่องตัว อีกทั้งกำชับจุดตรวจเข้มงวดรถโดยสารสาธารณะที่เดินทางระยะไกลและใกล้ถึงจุดหมายเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันพนักงานขับรถมีอาการอ่อนล้าและเกิดการหลับใน รวมถึงรถตู้โดยสารซึ่งผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วสูง เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น สำหรับจังหวัดที่ยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ เนื่องจากจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วัน พบว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่สูงถึง ร้อยละ 71.12
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่าจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันสุดท้ายของการเดินทางช่วงเทศกาลมักมีสาเหตุจากการง่วงแล้วขับ จึงขอฝากเตือนผู้ขับขี่ให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน หยุดพักรถทุกระยะ 150 กิโลเมตร หรือทุก 2 ชั่วโมงในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน จุดบริการ จุดพักรถริมข้างทาง เป็นต้น เพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุทางถนน สามารถแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้การช่วยเหลือด่วน.
โดยรูปสโลแกน น่ารักๆ จาก SCG ใส่ใจ ....... ปลอภัยทุกเส้นทาง ^^
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.dailynews.co.th/thailand
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที