ชัยสิทธิ์

ผู้เขียน : ชัยสิทธิ์

อัพเดท: 22 มี.ค. 2013 09.46 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4441 ครั้ง

ปัจจุบันสังคมออนไลน์นั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายโดยถูกใช้งานในด้านต่างๆ เช่น การติดต่อสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ การขายสินค้า การโฆษณาสินค้า และการโปรโมทผลงานของศิลปิน โดยผู้ใช้มีตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงานจนถึงผู้สูงอายุโดยรวมนั้นมีจำนวนมาก จึงมีกลุ่มคนที่หาผลประโยชน์บนสังคมออนไลน์โดยผิดศีลธรรมและผิดกฏหมายในหลายรูปแบบ ดังนั้นเราควรใช้วิจารณญาณไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพ


กดLike กดShare ได้ช่วยบริจาค จริงหรือ ?

 

กดLike กดShare เพื่อช่วยให้เด็กเป็นโรคร้ายได้รับเงินบริจาค จริงหรือไม่ ?

           ช่วงนี้ในสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข่าวทำนองว่า ช่วยๆ กันแชร์หน่อย เด็กน้อยคนนี้เป็นโรคร้าย คุณสามารถช่วยได้โดยการ กดไลค์ = 1 เซนต์ กดแชร์ = 3 เซนต์ พร้อมกับภาพเด็กน้อยที่มีแผลและผื่นแดงบนร่างกาย ที่ดูแล้วน่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าแปลกใจ ไม่ค่อยจะมีใครสงสัยถามถึงที่มาที่ไปของข้อความดังกล่าวเลย ทั้งที่มีจุดน่าข้องใจมากมาย เช่น ข้อความไม่ได้บอกว่าเด็กน้อยนั้นเป็นใคร? มาจากไหน? แล้วจะจ่ายเงินให้กับใคร? และเมื่อมีการกดแชร์จะนับและจ่ายเงินกันอย่างไร? ทั้งๆ ที่นโยบายการให้บริการของ Facebook นั้นไม่เคยมีนโยบายในการจ่ายเงินตามจำนวนการแชร์เลย หรือพูดง่ายๆ คือ Facebook แทบไม่เคยจ่ายให้ผู้ใช้ มีแต่เก็บเงินจากการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ต่างๆ

 

 

ผลเสียที่เกิดจากการกดLike และ กดShare

           บางคนอาจคิดว่า แค่กดไลค์ กดแชร์ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เผื่อว่าเป็นเรื่องจริงก็ถือว่าได้ช่วยเด็กน้อยคนนั้นด้วย แต่ในความเป็นจริง คือ มันเกิดความเสียหายต่อใครสักคนด้วย ลองคิดว่า หากคุณเป็นเด็กในภาพ และยังมีชีวิตอยู่เมื่อเติบโตขึ้นจะรู้สึกอย่างไร ที่ถูกนำภาพในวัยเด็กมาใช้หาผลประโยชน์ในสังคมออนไลน์ หรือ ผลเสียหายที่เป็นรูปธรรมเช่น เคยมีกรณีที่มีคนนำภาพอาการเจ็บป่วยของเด็กมาเป็นข้ออ้างขอรับเงินบริจาค โดยใส่ลิงค์นำคนไปยังหน้าสำหรับกรอกรหัสบัตรเครดิต หรือ Paypal เพื่อส่งเงินเข้าบัญชีส่วนตัว เป็นการหาผลประโยชน์โดยอาศัยความสงสารของคน

ฉะนั้น จะกดไลค์ กดแชร์ ก็ควรคำนึงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล ความเป็นไปได้ของข้อมูล และความน่าเชื่อถือของข้อมูล จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่แสวงหาผลประโยชน์จากความสงสารของคนในสังคม

ข้อมูล: http://th-th.facrbook.com/motes/ทีมงาน-วิชาการคอม/เรียนรู้จากเรื่องลวง-กรณีกดแชร์เพื่อช่วยเด็กเป็นมะเร็งได้รับเงินบริจาค/10150581231468584


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที