เปิดดูข่าวในทีวีหลายช่องช่วงนี้พบข่าวคราวของหลายมหาวิทยาลัย จัดพิธีพระราชทานหรือประสาทปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตที่จบการศึกษามาจากชีวิตนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หลังจากนี้ ชีวิตของน้อง ๆ ก็เริ่มก้าวเข้าสู่ชีวิตของการทำงาน ซึ่งก็คือส่วนใหญ่ในเวลาที่เป็นชีวิตจริงที่ยังเหลือของมนุษย์ทั่วไปอย่างท่านและผม แต่บัณฑิตจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งเรียนจบ ภายหลังจากชื่นมื่นกับการรับปริญญาที่นำความสุขอกสุขใจมาสู่ตัวเองและครอบครัว แต่หลังจากนี้ไม่นาน บัณฑิตที่ทางบ้านไม่ได้มีฐานะพอที่จะเลี้ยงดูได้โดยไม่ต้องทำอะไร หรือสนับสนุนทางการเงินให้เรียนต่อ ก็จะเริ่มเครียดกับการตั้งต้นค้นหางานทำ แม้จะดูเหมือนตลาดแรงงานต้องการคนทำงานอีกมาก แต่หากเจาะลึกแล้ว คงมีการว่างงานจริง แต่ในสาขาการผลิต หรือ Real Sector ที่ดูจะต้องการแรงงานฝีมือระดับ ปวช. ปวส.และปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมศาสตร์ มากกว่าสายสังคมศาสตร์ที่น้อง ๆ ส่วนใหญ่เลือกที่จะเรียน
พอเข้าสู่สังเวียนของการหางานทำ เรื่องแรกทีน้อง ๆ บัณฑิตใหม่ทั้งหลายจะพลาดไม่ได้คือ การเตรียมตัวสมัครงานและสัมภาษณ์ ซึ่งหลายบทความที่ผมเคยนำเสนอไปก่อนหน้าได้ให้คำแนะนำไปบ้างแล้ว วันนี้ ถือโอกาสนำมาทบทวนในบางเรื่อง โดยขอสะท้อนในประเด็นว่า อะไรหรือที่สะท้อนให้เห็นว่าน้อง ๆ ยังไม่พร้อมกับการสัมภาษณ์งาน
เรียนรู้และใส่ใจจำไว้สักนิด จะได้ไม่ผิดพลาดแบบง่าย ๆ และสร้างความมั่นใจเมื่อต้องไปสัมภาษณ์งาน
ไปถึงสถานที่นัดสัมภาษณ์ไม่ตรงเวลา
การเข้าสัมภาษณ์สาย หากไม่ใช่อุบัติเหตุร้ายแรงแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะอ้างเป็นเหตุผลในการมาสัมภาษณ์งานสาย ด้วยเพราะผู้สมัครงานก็รู้ตัวล่วงหน้าจากการนัดหมายอยู่แล้วว่าต้องไปสัมภาษณ์งานที่ไหน เริ่มเวลาเท่าไร รวมทั้งจะต้องเตรียมอะไรมาบ้าง ในแง่นี้ น้อง ๆ ควรใช้เวลาสักนิด ศึกษาเส้นทาง และเผื่อเวลาออกจากบ้านเร็วขึ้น ไม่ใช่เผื่อทดเวลาบาดเจ็บเหมือนแข่งฟุตบอลในสนามนะครับ อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยป้องกันเหตุการณ์ที่เราอาจจะไม่สามารถควบคุมได้ เช่น รถติด แท๊กซี่ไม่รู้ทาง หรือขับรถหลงทาง รวมไปถึงติดขบวน ม๊อบปิดถนน เป็นต้น นอกจากนี้ การไปถึงสถานที่นัดหมายก่อนเวลา ก็ยังคงเหลือเวลาอีกเล็กน้อยให้น้อง ๆ ได้พักเหนื่อย สงบจิตสงบใจ สำรวจเสื้อผ้าหน้าผมให้พร้อมร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งาน
แต่งกายไม่เหมาะสม
ไม่ว่าน้อง ๆ จะเป็นคนเจนวาย หรือ hip-hop เพียงใด การสัมภาษณ์งานก็ยังคงมีธรรมเนียมที่ผู้สมัครงานจะต้องแต่งกายอย่างสุภาพ เหมาะสมตามกาละเทศะ สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่ทรงผม จนจดถึงปลายเท้า อีกอย่างหนึ่ง แม้น้อง ๆ จะจบใหม่ ยังไม่ลืมคราบของนักศึกษาที่คุ้นเคยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องไม่เผลอไผลไปใส่ชุดนักศึกษาไปสัมภาษณ์งาน โดยอ้างว่าไม่ได้ซื้อชุดแต่งกายแบบหนุ่มสาวออฟิศมาสวมใส่ เพราะจะทำให้ดูเป็นเด็กและไม่พร้อมสำหรับการทำงานเลย
ไร้ข้อมูลตำแหน่งงาน
หลายครั้งที่ผมสัมภาษณ์ ผู้สมัครงานยังตอบไม่ถูกว่าตำแหน่งงานที่สมัครและมาสัมภาษณ์นั้นมีอะไรบ้างที่ต้องทำ ซักไปซักมาก็จำได้เพียงแต่พี่ที่นัดบอกว่าลักษณะงานประมาณนี้ จริงเท็จอย่างไรไม่รู้เพราะไม่ได้เข้าไปดูคุณสมบัติในประกาศรับสมัครงานทางเวบ เชื่อมั๊ยครับว่า บางองค์กรก็ไม่ลงข้อมูลรายยละเอียดงานที่ต้องทำ ด้วยเพราะคาดหมายที่จะให้ผู้สมัครงานโทรมาสอบถาม หรือจะเก็บข้อมูลเอาไว้พูดคุยกับผู้สมัครงานในตอนสัมภาษณ์เบื้องต้นทางโทรศัพท์ หากน้อง ๆ ได้รับการโทรติดต่อเพื่อสัมภาษณ์งาน ก็ไม่เสียหายอะไรหรอกนะครับที่จะถามพี่พี่รีครูทที่โทรนัดหมายว่า ตำแหน่งงานนี้มีขอบข่ายงานอย่างไร ? นี่ยังไม่พูดถึงคำถามที่อาจจะต้องเตรียมตอบอีกมาก เช่น “ทำไมคุณถึงเลือกสมัครงานตำแหน่งนี้” หรือคำถามสุดโหดหินที่อาจจะถามว่า “ทำไมเรา (องค์กร) ต้องเลือกคุณ โดยไม่เลือกผู้สมัครคนอื่น” หากไม่หาข้อมูลตำแหน่งงานและฝึกฝนตอบคำถามที่อาจจะเจออีก แล้ว น้อง ๆ จะผ่านสัมภาษณ์หรือเปล่าล่ะครับ
ลืมถามหรือหาข้อมูลองค์กร
เรื่องหนึ่งในการสัมภาษณ์งานที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้จากผู้สมัครงาน นอกเหนือจากขอบข่ายหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบตามตำแหน่งงานก็คือเรื่องขององค์กร น้อง ๆ อาจะได้รับคำถามว่า “รู้จักบริษัทนี้หรือไม่ ?” ซึ่งก็เป็นการถามทั่วไปเพื่อประเมินว่าผู้สมัครงานใส่ใจที่จะรู้ และเตรียมความพร้อมรองรับอย่างไร และก็น่าเสียดายที่น้อง ๆ หลายคนไม่รู้ข้อมูลนี้เลย ตอบหน้าตาเฉยว่า “ไม่รู้จัก !”ไม่รู้เลยว่า องค์กรทำธุรกิจอะไร หรือไม่เคยเข้าเว็บไซต์ไปหาข้อมูล ไม่เคยสนใจต้นหาข่าวสารขององค์กรที่หาได้ไม่ยากทาง internet การมีข้อมูลเหล่านี้ บอกได้เลยว่า จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพูดคุยสัมภาษณ์งานกับองค์กร และสะท้อนความสนใจที่ดี มีคะแนนพิเศษทดให้ในใจผู้สัมภาษณ์งานอีกไม่น้อย นอกจากนี้ ผู้รู้หลายท่านเคยแนะนำไว้ด้วยว่า ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ น้อง ๆ อาจจะถามเกี่ยวกับบริษัทเพื่อให้รู้จักดียิ่งขึ้น ซึ่งบอกให้เห็นถึงความกระตือรือร้นอยากเข้าทำงานของน้อง ๆ ได้
ประหม่าตอนสัมภาษณ์
ผู้สมัครงานจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยสัมภาษณ์งานมาก่อน แม้จะเคยฝึกฝนการสัมภาษณ์จากอาจารย์นิเทศหรืออาจารย์ที่ปรึกษาที่เตรียมตัวให้เป็นอย่างดี แต่พอเอาเข้าจริง ก็มักจะตื่นเต้น เกิดอาการหลุด คุมคำตอบของตนเองไม่อยู่ทั้งที่ก็เตรียมตัวมาดี อ่านหนังสือแนะนำสัมภาษณ์งานมาก็หลายเล่ม ยิ่งมาเจอผู้สัมภาษณ์งานที่ถามคำถามแบบไม่ค่อยมีโครงสร้าง ประมาณว่านึกอยากถามอะไรก็ถาม ก็กลายเป็นว่า ลำดับคำตอบไม่ถูก และไม่รู้จะตอบอย่างไร และหลุดความสนใจจากคำถามที่ถาม จึงตอบคำถามไม่ตรงประเด็น หรือตอบเลี่ยง ๆ กว้าง ๆ ไม่เจาะจงหรือไม่ยกตัวอย่างมาอธิบายให้ชัดเจน (ซ้ำร้ายบางทีก็ยังยกตัวอย่างสถานการณ์มาตอบไม่ตรงกับสิ่งที่ถูกถาม) พอเป็นแบบนี้ ความประทับใจจากการสัมภาษณ์งานก็ไม่เกิดขึ้น โอกาสจะได้งานก็ลดลงไปอีกมากโข
อ่านและฝึกฝนเท่านั้นนะครับที่พอช่วยได้ แปลกอะไรกับการฝึกตอบคำถามสัมภาษณ์หน้ากระจก เพราะไม่มีใครมองนอกจากเราเอง ลองทำเพื่อให้เห็นข้อบกพร่องของตนเอง ไม่ว่าจะท่วงทีการพูดจา และบุคลิกภาพ ฝึกฝนบ่อยเข้า ความมั้นใจจะตามมาเอง
น้อง ๆ คิดอย่างไรกันบ้างกับเรื่องนี้ !
ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต
Professional Human Resources-PHR
ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล
บจก.กรุงไทยธุรกิจบริการ
E-Mail : chatchawal.dha@gmail.com
Blog : http://chatchawal-ora.blogspot.com/
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที