ในการสัมภาษณ์งานนั้น ว่าไปแล้วไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากการนำเสนอตัวเองให้ดี ให้น่าประทับใจ และตรงกับคุณสมบัติหรือบรรดาเงื่อนไขที่องค์กรที่รับสมัครงานต้องการ ในพื้นฐานแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สมัครงานจะต้องมีทัศนคติที่ดี (can do and good attitude) มีความเชื่อมั่นและมารยาทที่เหมาะสม (self confident and good manner) ตามกาลเทศะ ประกอบไปกับการตอบคำถามสัมภาษณ์ให้ได้อย่างตรงประเด็นและครอบคลุม ผมเชื่ออยู่เสมอว่า เรื่องของจิตใจพื้นฐานนั้น กำหนดพฤติกรรมการแสดงออกอยู่แล้ว และแม้จะประเมินสัมภาษณ์ตามเงื่อนไขที่องค์กรกำหนดไว้เช่นใด นอกจากจะไม่ยาอกที่จะรับมือกับคำถามที่ถูกซักไซ้ไล่เรียง แต่ยังสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ในทางหนึ่งอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เทคนิควิธีการสัมภาษณ์ของหลากหลายองค์กรที่มุ้งค้นหาและเลือกสรรคนที่มีคุณสมบัติอย่างที่อยากได้นั้น ไม่เคยหยุดนิ่งเช่นที่ผมว่าไปแล้วในหลายบทความก่อนหน้า เราจึงพบว่ามีเทคนิควิธีในการตั้งคำถามสัมภาษณ์แบบอิงสมรรถนะ คำถามแบบกดดัน คำถามแบบค้นหาและประเมินจุดแข็ง และคำถามอีกหลายลักษณะที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร ควบคู่ไปกับการใช้แบบทดสอบหรือประเมินทางจิตวิทยาเพื่อให้มั่นใจว่าจะเลือกสรร “คนที่ใช่” ได้อย่างรอบคอบรัดกุม ในสภาพที่ต้องรับมือกับการสัมภาษณ์ที่มีเทคนิค “ขั้นเทพ” เช่นนี้ ผู้สมัครงานทั้งหลายจะรับมืออย่างไร ?
ต่อไปนี้ คือ tip ที่ผมเลือกนำมาเสนอให้ผู้สมัครงานได้ลองใช้ตรวจสอบประเมินและเป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการสัมภาษณ์ แม้จะไม่ใช่ tip เด็ดอะไร แต่ก็น่ารู้ที่จะเอาไปลองคิดลองทำตามแน่นอนครับ
Tip 1 รู้จักตัวเองก่อน – ผู้สมัครงานหลายคน ตกม้าตายกับการเตรียมตัวง่าย ๆ แค่การรู้จักตัวเองอย่างที่ผมว่า เนื่องจากขาดประสบการณ์และคิดไตร่ตรองตนเองให้รอบคอบ ผมแนะนำให้ลองนั่งคิดทบทวนสิครับว่า เราผ่านงานอะไรมาบ้าง ได้รับประสบการณ์ในเรื่องใด เคยได้รับคำชมจากหัวหน้างานมั๊ย มีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานอย่างไรเกิดขึ้น แก้ไขมันไปได้ลุล่วงหรือเปล่า ใช้วิธีการใด เป็นต้น คำถามเหล่านี้ เป็นการทบทวนตัวเองก่อนที่จะไปทำความเข้าใจและคาดการณ์คำถามที่อาจจะพบเจอในสังเวียนการสัมภาษณ์ต่อไป หากน้อง ๆ บัณฑิตใหม่ เพิ่งจบการศึกษามาหมาด ๆ ก็ยังไม่ต้องคิดอะไรมากครับ การทบทวนตนเองคือทำความเข้าใจว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งแค่ไหน ผ่านประสบการณ์ใช้ชีวิตที่มีประโยชน์เพื่อคนอื่นนอกจากตัวเองมาบ้างหรือไม่ เช่น เคยมีกิจกรรมเข้าค่ายใดที่ไปร่วมบ้างหรือเปล่า ได้ประสบการณ์อะไรกับมา ลองนึกใคร่ครวญดูให้ดี อาจจะพบคุณค่าศักยภาพของตนเองที่มีและที่อาจจะต้องพัฒนาอีกหลายเรื่องเลยทีเดียวนะครับ
Tip 2 ค้นหางาน และนายจ้างที่ใฝ่ฝัน – ไม่ว่าท่านหรือผมต่างก็มีนายจ้างที่ใฝ่ฝันอยากทำงานด้วยทั้งนั้นล่ะครับ สมัยที่อายุยังน้อย ผมเองกก็เหมือนหลายท่านที่อยากเข้าทำงานในรัฐวิสาหกิจเพราะมองแล้วมั่นคงต่อชีวิตและครอบครัวในภายหน้า เรียกว่า “ฝากผีฝากไข้” ได้ แต่ก็จนใจด้วยผมเองก็ทำงานด้วย เรียนไปด้วย จะเอาผลการเรียนจากสถาบันชั้นนำที่ผ่านการ entrance มาคงหมดสิทธิ์แม้แต่จะคิด ทำงานอะไรหาประสบการณ์ บ่มเพาะฝีมือตนเองไปก่อนก็คงจะเป็นทางเลือกของชีวิตที่ดีได้ทางหนึ่ง แต่สมัยนี้ ก็ไม่เหมือนสมัยผม น้อง ๆ หลายคนมีครอบครัวพ่อแม่ที่มั่นคง มีโอกาสได้ศึกษาต่อในสถาบันทีมีชื่อเสียง โอกาสเลือกงานก็ไม่ยากเท่าใดนัก แต่ที่ว่าไปนี้ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดหรอกนะครับ ไม่งั้นองค์กรทั้งหลายก็คงมีแต่ลูกท่านหลานเธอนั่งเต็มสำนักงานกันไปหมด ยังคงมีพื้นที่อีกไม่น้อยสำหรับคนที่ขาดโอกาสแต่ตั้งใจและใฝ่ฝึกฝนให้ได้ก้าวหน้าในอาชีพ จะเป็นอย่างนี้ได้ คงต้องเริ่มต้นด้วยการวางแผนให้ดีครับ องค์กรที่เราใฝ่ฝันอาจจะเข้ายากในช่วงวุฒิปริญญาตรี แต่ก็ไม่แน่ว่าหากทำงานเก็บประสบการณ์ ผ่านการทำงานในบริษัทที่ดี จบการศึกษาสูงขึ้น หนทางที่คาดไว้จะได้ร่วมงานกับบริษัทที่โด่งดัง ก็ไม่ไกลกว่าที่คิด นี่คือการวางแผนสายอาชีพนั่นเองครับ และที่สำคัญก็นำมันมาเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้ทำงานหักเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้ภายหน้า ผู้รู้ท่านถึงว่า “อนาคตนั้น สวยเลือกได้” ครับ ส่วนการค้นหางานที่อยากทำนั้น เป็นเรื่องของการประเมินตนเองให้เหมาะกับงาน หากจะให้ดี คงต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ประเมินทักษะความเหมาะสมกับงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้มีโอกาสเลือกเรียนในสิ่งที่ตรงกับความถนัด และรักกับมัน เพราะนั่นคือสิ่งที่การันตีความสุขและความสำเร็จในการทำงาน
Tip 3 กำหนดโครงสร้างคำตอบสัมภาษณ์ไว้สัก 3-4 เรื่อง – ผมแนะนำให้ผู้สมัครงานเตรียมคำตอบโดยนึกเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่เคยทำ สิ่งที่คุณทำ ปัญหาและอุปสรรคที่มี การแก้ไขปัญหาและผลที่เกิดขึ้นไว้ (รวมแล้ว 3-4 เรื่อง) เวลาที่ตอบคำถามในเรื่องที่หยิบยกมาสัมภาษณ์ ก็ว่ากันไปตามลำดับหรือโครงสร้างคำตอบของคุณเลย และในความเป็นจริงนั้น คุณจะถูกซักถามหลากหลาย ทำให้ต้องเตรียมโครงสร้างของสิ่งที่จะตอบให้แตกต่างกันไปบ้าง ไม่ใช่สถานการณ์เดียวกันตอบคำถามทุกข้อ
Tip 4 เน้นจุดที่อยากตอบให้ชัด – เมื่อคุณวางโครงสร้างสิ่งที่จะตอบแล้ว จุดใดที่ต้องการเน้นเพราะมีความสำคัญก็ว่ากันให้ชัดเจน อย่าทึกทักเอาว่าผู้สัมภาษณ์จะนึกและคิดตามเรื่องราวที่คุณหยิบมาพูดถึงได้ดีกว่าคุณ เพราะมันเป็นไปไม่ได้หรอก และที่แท้จริงนั้น หน้าที่ของเค้าคือสังเกตว่าคุณลำดับเรื่องนำเสนอได้สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือหรือไม่ ตามนัยยะหน้าที่นี้ คุณอาจจะถูกถามแบบไต่สวน (Probing Question) เพื่อลงลึกรายละเอียดในเรื่องนั้นเป็นพิเศษ หากเตรียมตัวไม่ดี จะทำให้ตอบได้ไม่มีประสิทธิภาพนะครับ ผมขอลองยกตัวอย่างการเน้นคำตอบดังนี้ครับ
Tip 5 เตรียมข้อมูลสนับสนุนจุดเด่นที่อยากเน้น – เมื่อคุณจะหยิบยกเอาจุดเน้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดมากล่าวถึงในการสัมภาษณ์แล้ว คุณจะต้องเตรียมต่อไปว่า จะเล่าถึงสถานการณ์หรืองานใดเพื่อสนับสนุนจุดเด่นที่อยากเน้นนั้น เพราะการพูดขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่มีเรื่องที่เป็นตัวอย่าง ผู้สัมภาษณ์จะมองไม่เห็นภาพ และอาจจะมองว่าคุณรู้แต่ทฤษฎีแต่ไม่เคยทำงานนั้นให้สำเร็จมาก่อน ผมแนะนำเพิ่มเติมว่า หากจะยกตัวอย่างสถานการณ์หรืองานใดมานำเสนอนั้น คุณต้องเคยทำมันมาจริง ๆ ไม่ใช่เคยเห็นแล้วนึกเอาว่าคุณก็จะทำอย่างนั้น เพราะหากโดนซักถามลงลึกแล้ว อาจจะหาทางออกไม่ได้ ยิ่งตอบยิ่งงง ลงเอยไม่ได้ แบบนี้ “เสียหาย” ผู้สมัครงานเองนะครับ
Tip 6 หลีกเลี่ยงโครงสร้างคำตอบที่คุณไม่มั่นใจ – เมื่อคุณจะต้องสัมภาษณ์ ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกว่า คุณจะนำเสนอคำตอบในโครงสร้างอย่างไร ผมเชื่อว่า ผู้สัมภาษณ์คงต้องอยากฟังอะไรก็ได้ที่คุณจะพูด คุณอาจจะบอกว่า “มีองค์ประกอบที่สำคัญคุณต้องหาจุดเหมาะสมที่แสดงให้เห็นว่าคุณมั่นใจที่จะตอบ หลายเรื่องที่ส่งผลให้ผมมีประสบการณ์ทำงานในเชิงลึก ยกตัวอย่างในการทำงานขายของผม เมื่อต้องจัดการกับลูกค้าที่........ผมมีเทคนิค.....ที่ใช้จัดการกับลูกค้า และมีทักษะในการสื่อสาร เช่น.........” แต่การที่จะตอบคำถามให้มีประสิทธิภาพได้นั้น คุณจะต้องเตรียมคำตอบไว้เป็นอย่างดี หรือมีโครงสร้างการตอบ มีลำดับก่อนหลัง หากคุณไม่ได้เตรียมไว้หรือไม่มั่นใจแล้วนึกมาตอบทันที อาจจะมีปัญหานำเสนอเรื่องราวตอบคำถามสัมภาษณ์อย่างสับสน คนสัมภาษณ์ก็งง ผู้สมัครงานเล่าเองก็อาจจะงง ไปกันใหญ่เลยนะครับ แต่ในทางหนึ่งนั้น การตอบคำถามแบบที่เตรียมโครงสร้างไว้ล่วงหน้า จะทำให้คุณไม่ยืดหยุ่น หากโดนถามคำถามที่แตกต่างไปจากโครงสร้างที่คิดไว้ อาจจะเสี่ยงตกม้าตายได้เลยนะครับ
Tip 7 ใช้คำกริยาและคำที่มีความหมายเพื่ออธิบายตัวเอง – หากต้องการให้คำตอบสัมภาษณ์หนักแน่นมากขึ้น คุณก็มีใช้คำว่า “ผมเคยได้รับเชิญเข้าร่วมการวางแผน.....” แต่ตอบตรง ๆ ว่า “ผมมีประสบการณ์วางแผน.....” เพื่อสะท้อนสถานการณ์นั้นได้ชัดเจนมากกว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ที่คุณมีบทบาทเรื่องนี้มากกว่ากระทำกิจกรรมอะไรบางอย่างในสถานการณ์นั้น เพราะการเล่าข้างต้น อาจจะมองได้ว่าคุณอาจจะเข้าร่วมแต่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรในการวางแผนมากมายนัก หรือไม่ได้มีบทบาทหลักในการทำกิจกรรมนั้นเลยก็ได้ ลองพิจารณาคำตอบด้วยใช้กริยาต่อไปนี้
Tip 8 ทดลองตอบคำถามสัมภาษณ์ด้วยเทคนิค STAR – ผมได้นำเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้บ้างแล้วว่า STAR (Situation or Task, Action and Results) เป็นเทคนิคของการสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการสัมภาษณ์งานปัจจุบัน ซึ่งผู้สัมภาษณ์และผู้สมัครงานสามารถฝึกฝนทักษะนำมาใช้ในการสัมภาษณ์ได้เช่นกัน วิธีการนี้ ท้าทาย HR ที่ทำงานด้านการสรรหาอย่างมาก เพราะต้องเตรียมความพร้อมตั้งคำถาม สังเกตและจดบันทึกคำตอบอย่างรัดกุม หลายองค์กรที่ HR ไม่ค่อยมีเวลาหรือไม่ค่อยเชี่ยวชาญมากนัก อาจจะไม่คุ้นเคยมากนัก หากผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ถามด้วยเทคนิคนี้ ผู้สมัครงานเลือกที่จะตอบ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดกติกานะครับ ตรงกันข้าม กลับจะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจเรื่องราวของคุณได้ชัดเจนขึ้น และแน่นอนว่าย่อมจะประทับใจกับคำตอบของคุณมากกว่าการตอบคำถามตามประเด็นไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้จัดโครงสร้างการตอบคำถามที่ชัดเจน
Tip 9 เน้นพฤติกรรมและภาษากายประกอบ – ภาษากายของเรา มักจะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ได้ข้อมูลบางอย่างที่เกี่ยวกับตัวคุณดีขึ้น เนื่องจากหลายกรณีคำพูดไม่ได้บอกอะไรมาก และหลายเรื่องนั้นก็มักจะต้องพิจารณาประกอบกับภาษากายเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ภาษากายบางอย่างเช่นการใช้สายตาที่มุ่งมั่น บ่งบอกพึงความมั่นใจในเรื่องที่คุณบอกเล่าระหว่างสัมภาษณ์
หลายเรื่องราวที่ว่าไปนี้ เมื่อเทียบกับบทความหลายเรื่องที่ผมเขียนไปก่อนหน้า ต้องบอกไว้ก่อนว่าบางเรื่องก็ว่าไว้แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร บางเรื่องท่านผู้อ่านก็น่าจะรู้แล้ว ก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่อยากหยิบมาทบทวนความจำเท่านั้น แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ผมต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่กูรู ผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงโด่งดังในใต้หล้านี้ โปรดอย่าเชื่อ จนกว่าจะได้ลองรับไปทำและนำไปใช้ ได้ผลอย่างไรบอกเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต
Professional Human Resources-PHR
ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล
บจก.กรุงไทยธุรกิจบริการ
E-Mail : chatchawal.dha@gmail.com
Blog : http://chatchawal-ora.blogspot.com/
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที