ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 24 ธ.ค. 2012 04.39 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3852 ครั้ง

HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


เรื่องน่าคิดของการหางานผ่านโลกไซเบอร์

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผองเพื่อนที่เป็นอาจารย์ที่สอนนักศึกษาในสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง ไม่เป็นเผยชื่อนะครับ เล่าให้ฟังถึงแนวโน้มของนักศึกษาที่เพิ่งเป็นบัณฑิตหมาด ๆ  และคุณเพื่อนของผมคนนี้ก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ พูดถึงลูกศิษย์ที่น่าเคารพ ใช้ social media ในการสมัครงาน กระจายใบสมัคร หรือสอบถามข้อมูลตำแหน่งงานแบบชิว ชิว กับทางนายจ้าง  ซึ่งก็ฟังดูเหมือนคุณเพื่อนของผมนี้ตกใจอยู่ไม่น้อย ก็น่าตกใจหรอกนะ

ทำไมเหรอครับ  เดี๋ยวมาว่ากัน....

ก่อนอื่น  ผมคิดว่าเรื่องนี้ เกี่ยวข้องอะไรนิด ๆ  กับการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคน ซึ่งก็คือเรื่องของจิตวิทยา ก็เลยถือโอกาสตั้งชื่อหัวข้อให้น่าสนใจเสียก่อน ทั้งที่ก็ไม่ได้เป็นนักจิทวิทยาอะไรหรอกนะครับ  จะทำงานมาบ้างก็ด้านการสรรหาทรัพยากรบุคคลเข้าร่วมงาน  กล้อมแกล้มพอได้มีทักษะในการวิเคราะห์ประเมินบุคลิกภาพของคนบ้าง  ไม่ถึงระดับที่เชี่ยวชาญอะไร ดังนั้น หากท่านผู้อ่านที่สนใจจะติดตามด่านเรื่องราวความรู้จิตวิทยาเพื่อขยายความรู้ โดยเฉพาะจิตวิทยาของการตัดสินใจ ก็เป็นเรื่องน่ายินดีใน (หัว) ใจ (ของผม) อย่างยิ่ง  แต่อย่าลืม มาบอกเล่ากันบ้างนะครับ

ผมไม่ค้านหรือสวนกระแสว่า social media ที่พวกเราคุ้นเคยจะไม่มีบทบาทในการรับสมัครงาน ตรงกันข้าม ผมเห็นหลากหลายองค์กรใช้ Facebook กับการแนะนำตำแหน่งงานไปยังกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่สนใจ เพื่อให้ Add Friends ส่งข่าวสารการสมัครงานนี้ต่อกันเป็นทอด ๆ จะได้ผลหรือไม่ผมคงไม่วิจารณ์ แต่สิ่งที่ผมอยากแนะนำน้อง ๆ ที่จะเข้าสู่แวดวงการทำงานให้ได้คิดคือ มารยาท (good manner) ของการสมัครงานที่ควรต้องระลึกถึงด้วยเช่นกัน  จะเอาความสะดวกส่วนตัวแต่ชาวบ้านเค้าไม่นิยมทำกัน จะกลายเป็นสมัครงานแล้วไม่เคยได้งานไปเสีย

ผมยังไม่คิดว่า หมดยุคความจำเป็นที่จะต้องอ่านหนังสือแนะนำสมัครงานไปแล้ว เพราะเท่าที่เห็นในท้องตลาดก็ยังคงมีอยู่บ้าง  ผมเองก็ยังซื้อหามาเก็บไว้อ่านได้ประโยชน์ไม่น้อยเลย  เพียงแต่ประมาณของหนังสือที่ทำออกมาเป็นเล่ม ๆ ลดลง และทดแทนด้วยความก้าวหน้าของโลกยุคใหม่ไร้พรมแดน ที่ปรากฎมีข้อมูลข่าวสารของคนที่อยากเล่า และคนที่อยากฟังเกี่ยวกับเรื่องการหางาน  มีหลายเวบไซด์ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศที่เจริญแล้ว ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คำแนะนำการสมัครงานแก่บุคคลทั่วไปโดยเฉพาะ  พร้อมกับมีอาชีพให้บริการตอบคำถามและให้คำแนะนำทางอินเตอร์เนตในการเตรียมตัวสมัครงานกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเลยทีเดียว  ก็ต้องยอมรับกันล่ะครับว่า สังคมเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย

พอเทคโนโลยีเข้ามาเล่นบทพระเอก น้องๆ หลายคนที่ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ทำงาน ก็เลยเลือกใช้สื่อ social media ที่ใกล้ตัว และคุ้นเคย เป็นช่องทางในการสมัครงานอย่างไม่เหมาะเท่าใดนัก ผมเพียงอยากแนะนำให้น้อง ๆใช้เวลาพอสมควรกับการกลั่นกรอง résumé ที่ตัวเองจะต้องใช้กับการสมัครงาน และเมื่อจะต้องสมัครงานกับองค์กรใดแล้ว  ก็ใช้เมล์ส่งเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เป็นเรื่องเป็นราวอีกที แม้ social media เหล่านี้ อาจจะมีช่องทางให้แนบไฟล์ส่งปลายทางได้ง่ายแต่ปลายนิ้วแตะ แต่ก็อย่าติดกับมันกระทั่งละเลยเรื่องมารยาทในการติดต่อคนที่ทำงานสรรหาในช่องทางปกติ

ผมไม่ปฏิเสธเลยครับว่า ช่องทางนี้มีพลังอย่างมากในการแนะนำตัวเอง และไม่เคยมองว่าคนที่ทำงานสรรหาเองจะเข้าถึงช่องทางนี้ไม้ได้หรือไม่ควรเลือกใช้ หลายองค์กรเลือกใช้ช่องทางนี้เพราะไม่ต้องการจ้างองค์กรภายนอกที่เป็น Head Hunters ที่ค่าจ้างแพงมหาศาลกับการให้บริการสรรหาผู้สมัครงาน  แต่ต้องการจ้างเพียงพนักงานระดับปฏิบัติการหรือบริหารระดับต้นที่มีประสบการณ์ทำงานมาสักระยะหนึ่งเท่านั้น การบอกต่อ ๆ กันก็ทรงพลังอย่างยิ่ง เนื่องจากพนักงานกลุ่มนี้มักเข้าถึงข้อมูลทางโลกไซเบอร์เป็นปกติอยู่แล้ว และที่สำคัญช่องทางนี้ ประหยัดอย่างยิ่งยวด และในทางหนึ่งนั้น  social media ยังช่วยให้คนทำงานสรรหา สามารถตรวจสอบข่าวสารข้อมูลของผู้สมัครงานทางโลกออนไลน์ได้ไม่ยากเย็นนัก 

ขอให้น้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่แวดวงการทำงานทำความเข้าใจสักนิดนึงว่า การสรรหาคนทำงานขององค์กรนั้น มีต้นทุนที่ใช้ทั้งเงินและเวลาไม่น้อยเลย  การที่จะเลือกผู้สมัครงานที่จะเข้ารอบสัมภาษณ์ยิ่งผ่านการใช้ความพยายามมาอีกระดับหนึ่ง  เมื่อมีต้นทุน  คนทำงานสรรหาก็มักจะไม่สนใจกับการ “โปรย” ความสนใจสมัครงานของน้อง ๆ มาทางสื่อ social media มากมายนัก เพราะในทางหนึ่งนั้น คาดหมายความสัมพันธ์จากโลกที่ “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” ได้ยาก และยังงัยก็ต้องติดตามให้ส่งข้อมูลสมัครงานมาเพิ่มเติมอีก ในสายตาของสรรหาส่วนหนึ่ง จึงไม่ค่อยคิดอะไรกับการสมัครงานเข้ามาในช่องทางนี้ ไม่อยากเสียเวลามากมายตามเรื่องอะไรที่เก็บข้อมูลไว้ได้ยาก  คำแนะนำและคำเตือนของผมกับเรื่องนี้ก็คือการให้ระแวดระวังกันสักนิด และคิดให้ถี่ถ้วนสักหน่อยก่อนที่จะตัดสินใจ post ข้อความผ่านสื่อ social media  เพื่อหางานทำ  หากจะเลือกใช้ก็จงมั่นใจว่า สิ่งที่คุณนำเสนอตัวเองนั้น คงเส้นคงวา ไม่เผลอไปเม้นท์ใครแบบไร้มารยาท  ไม่ไร้สาระ post แต่เรื่องไม่เข้าท่า  เพราะหากคนทำงานสรรหาติดตามดูคุณจริง ๆ จัง ๆ อาจจะพลาดตกม้าตายได้  เสียดายโอกาสนะครับ

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที