สุวรรณี

ผู้เขียน : สุวรรณี

อัพเดท: 30 พ.ย. 2012 14.47 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8810 ครั้ง

ปรากฎการณ์ใหม่ของซัพพลายเชนระดับโลก มุ่งสร้างสรรค์การเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน บทบาทใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว


แนวโน้มซัพพลายเชนระดับโลก

ก้าวต่อไปของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนโลกธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ส่งผลให้องค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการช่วงชิงการเป็นผู้นำในธุรกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดจากปัจจัยต่างๆ รอบตัวที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในความแปรปรวนที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตด้านพลังงาน ตลอดจนการเกิดภาวะโลกร้อน รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ แผ่นดินไหว สึนามิ ความเสี่ยงจากการก่อวินาศกรรม รวมไปถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและเงินทุน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับและสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ต่ำ

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่ทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อโซ่อุปทานของธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซึ่งอาจลุกลามไปทั่วโลก จะเห็นว่าเวลานี้ธุรกิจทั่วโลกต่างมุ่งให้ความสนใจกับมาตรฐาน ISO 28000 มาตรฐานระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยในโซ่อุปทาน และ BCM (Business Continuity Management) มาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องภายหลังสภาวะวิกฤต

จากกระแสดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนในธุรกิจและอุตสาหกรรมระดับโลก โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ตลอดโซ่คุณค่า (Value Chain) การเชื่อมโยงของกิจกรรมต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และต่อยอดให้เกิดโซ่การผลิตในภูมิภาค (ASEAN Production Chain) โดยอาศัยการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจไปสู่ระดับสากล

การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management) จึงได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในทศวรรษนี้ที่นำมาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากการจัดการโลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับกระบวนการวางแผน ดำเนินงาน และควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ ข้อมูล และการเงิน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิตไปสู่จุดสุดท้ายของการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการ โดยมีต้นทุนที่แข่งขันได้

การจัดการโลจิสติกส์ ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดหาวัตถุดิบ การเคลื่อนย้าย การผลิต การจัดเก็บ และการกระจายสินค้า ฉะนั้นหากประเทศไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งต่อเนื่องทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ที่สะดวกรวดเร็ว พร้อมทั้งมีระบบสารสนเทศเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งอุตสาหกรรมของไทยมีการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่ดีและมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้สินค้าและบริการมีต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมที่ลดลง เสริมสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ได้อย่างง่ายดาย
 
 
Green Logistics & Supply Chain
ปัจจุบันสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) กระจายไปทั่วโลกจนทำให้เกิดกระแส Green Logistics และ Green Supply Chain ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และกำลังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในการลดสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และกำหนดขึ้นเป็นมาตรการในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ยกตัวอย่างเช่น Wal-Mart ผู้ค้าปลีกรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ตั้งเป้าในการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ลงร้อยละ 5 ภายในปี 2556 โดยคาดว่าการลดปริมาณบรรจุภัณฑ์นี้จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 667,000 เมตริกตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนตลอดโซ่อุปทานรวมทั้งสิ้นประมาณ 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ก็เริ่มมีข้อจำกัดทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับ Green Logistics โดยให้ผู้นำเข้าเข้มงวดในการเลือกซัพพลายเออร์ที่มีระบบ Green Logistics กำหนดขั้นตอนการทำลายบรรจุภัณฑ์หรือส่งกลับคืนให้กับประเทศที่ส่งออก (Reverse Logistics)

ทุกกิจกรรมของโลจิสติกส์และโซ่อุปทานล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานในการขนส่งอย่างสิ้นเปลือง หรือแม้แต่การผลิตที่มากเกินความต้องการจนทำให้เกิดความสูญเปล่า ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้มีแนวโน้มจะนำไปเป็นเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และจะเห็นชัดเจนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
 
 
Impact on the Future Supply Chain
อ่านต่อคลิก
http://logisticsviews.blogspot.com/2012/11/the-future-of-global-supply-chain.html
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที