เฉลิมพล

ผู้เขียน : เฉลิมพล

อัพเดท: 13 พ.ย. 2006 16.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 15014 ครั้ง

มนุษย์มีวิธีแสวงหาความรู้ด้วยวิธีง่ายๆได้อย่างไร เชิญอ่านบทความนี้ได้เลยครับ


มนุษย์กับการแสวงหาความรู้

คุณเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า มนุษย์ มีวิธีการแสวงหาความรู้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แล้วนำความรู้ที่ได้เหล่านั้นมาพัฒนาโลกให้ทันสมัยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ได้อย่างไร ลองอ่านบทความข้างล่างนี้ ท่านอาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นไม่มากก็น้อยครับ

นับตั้งแต่มีสิ่งชีวิตเกิดขึ้นบนโลก มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะเชื่อมาโดยตลอดว่าปรากฏการณ์นั้นเคยเป็นมาอย่างไร ก็จะต้องเป็นอย่างนั้นไปตลอด และรู้สึกเคยชินจนเสมือนหนึ่งว่าปรากฎการณ์นั้นๆเป็นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ มนุษย์จึงไม่เคยถามถึงสาเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่คิดที่จะหาคำตอบของสิ่งเหล่านั้นเพื่อมาพัฒนาความรู้ขึ้นมาใหม่
แต่ก็มีมนุษย์อยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีความคิดที่หลุดพ้นจากการครอบงำของธรรมชาติ (มนุษย์กลุ่มนี้ต่อมานิยมเรียกกันว่า นักวิทยาศาสตร์) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนักวิทยาศาสตร์หลายๆท่านไม่ได้สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมา แต่อาศัยหลักการสังเกตสิ่งแวดล้อมหรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆตัวบนโลก แล้วตั้งข้อสังเกต

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์มี และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจนมาเป็นโลกดังเช่นปัจจุบันนี้ คือ
ความกระหายใคร่รู้จากการสังเกต

ในที่นี้ผมจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความกระหายใคร่รู้ของกลุ่มคนที่เรียกว่า นักวิทยาศาสตร์ โดยยกกรณีการค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังท่านหนึ่ง ซึ่งก็คือ เซอร์ไอแซก นิวตัน

ในความเป็นจริงนิวตันไม่ได้เป็นผู้ที่ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกขึ้นมาใหม่

เพราะกฎแรงโน้มถ่วงของโลกเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับจักรวาลมานานแล้ว แต่นิวตันได้ตั้งข้อสังเกตที่แตกต่างจากความคิดที่ผู้คนทั่วไปเชื่อกันว่าต้องเป็นเช่นนั้น นิวตันได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเมื่อแอปเปิ้ลหลุดจากขั้วแล้ว จึงไม่ลอยอยู่บนต้นไม้ ความคิดที่หลุดจากการครอบงำของธรรมชาตินี้เอง ทำให้นิวตันค้นคว้าจนเข้าใจถึงแก่นของธรรมชาติ ซึ่งการค้นหาความรู้แท้จริงแล้วก็คือ การเปิดเผยความจริงของธรรมชาตินั่นเอง


ในอดีตการค้นหาความรู้เพื่อตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระบวนทัศน์ของคนและสังคมในอดีต ถูกจำกัดด้วยความไม่รู้ กฎของธรรมชาติส่วนใหญ่ถูกอธิบายด้วยศาสนาซึ่งเป็นการเชื่อด้วยศรัทธา การกล้าค้นคว้าเพื่อตอบสนองความใคร่รู้ของนักวิทยาศาสตร์ ทั้งที่เป็นการท้าทายความเชื่อเดิมๆทางศาสนจักรจึงได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก

ผลงานการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงถือว่าเป็นผลงานที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงและสำคัญพอๆกับการเกิดศาสนาที่เคยปฏิวัติกระบวนทัศน์ของมนุษย์ด้วยการสร้างระบบความเชื่อ ความดี และความศรัทธา ให้เกิดขึ้นในสังคม

วิวัฒนาการของการหาความรู้ ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องขึ้นมาเป็นลำดับ เหตุเพราะความกระหายใคร่รู้ในอดีต ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับมนุษย์ได้จริง อีกทั้งในปัจจุบันความรู้ยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เองการหาความรู้ในปัจจุบันจึงเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญในการแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

เป้าหมายของการค้นคว้าหาความรู้ของมนุษย์ในขณะใดขณะหนึ่งถูกกำหนดด้วยภาวะของสังคมโลกในขณะนั้น ความรู้ในขณะใดขณะหนึ่งหมายถึง ความรู้ที่ต้องใช้ในการแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบกัน ซึ่งเป็นลักษณะของความรู้ที่มีสัมพัทธ์ (relative) กล่าวคือต้องพยายามหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อหาหนทางในการเอาชนะการแข่งขันในสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง การวิจัยในปัจจุบันจึงจะต้องมีเป้าหมายและเป็นงานแข่งขันที่มีลักษณะสัมพัทธ์และพลวัตอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการของการหาความรู้ ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาของมนุษยชาติและสังคมโลก ดังนั้นวิธีคิดในการทำวิจัยที่ดีจึงจะต้องพัฒนาให้มีความเป็นปัจจุบัน เพื่อตอบรับกับกระแสสังคมโลกในปัจจุบันที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ความพยายามของมนุษย์ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมตลอดจนการใช้ความสามารถในการคิดและการใช้เหตุผล นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตของมนุษย์แล้ว ยังได้ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ รวมทั้งได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆอย่างไม่หยุดยั้ง และที่สำคัญคือ ได้ก่อให้เกิดความรู้ขึ้นมาบนโลกจำนวนมากมาย

อาจกล่าวได้ว่า เพราะความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์ในอดีต จึงทำให้มนุษย์รู้จักค้นคว้าจนมีความรู้พื้นฐานมากพอ อันเป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบนโลกจนมาเป็นปัจจุบัน

นักวิจัยหลายคนอาจมองว่าการวิจัยเป็นเรื่องลึกลับ แต่แท้ที่จริงแล้วการวิจัยไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร หากรู้จักสังเกตมัน มนุษย์ทุกคนรู้จักการวิจัยดี เพียงแต่ไม่เห็นมันเท่านั้น ทุกสิ่งที่มนุษย์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากบรรพบุรุษในอดีตนั้น เกิดจากผลพวงของความรู้จากการวิจัยทั้งสิ้น การวิจัยจึงถือเป็นตัวสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ดังนั้น การคิดทำการวิจัยสิ่งใด ผู้วิจัยจึงควรจะเริ่มด้วยการคิดก่อนว่า อยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใด กล่าวคือต้องหาให้พบก่อนว่ามีปัญหาอะไรที่อยากจะแก้ไขบ้าง หากเริ่มได้เช่นนี้แล้วตัวโจทย์ในการวิจัยก็จะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสามารถที่จะนำงานวิจัยชิ้นนั้นไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นบนโลกได้ต่อไป

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที