การทำให้ดีกว่าเดิม การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง หรือ การปรับปรุงและความพยายามที่จะทำงานให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง
องค์ประกอบของ Kaizen
ความคิดที่จะทำการปรับปรุงสิ่งต่างๆให้ดีกว่าเดิม หรือการทำงานให้ง่ายขึ้น มีองค์ประกอบที่ไม่ยากอะไร อันดับแรก นักเรียนจะต้องมี ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ต่างๆ ที่อยากจะพัฒนาสิ่งนั้นให้ดีขึ้น อันดับที่สอง นักเรียนจะต้องมี จิตใจ ที่อยากพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น โดยมีความคิดว่า วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวานนี้ และพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวของเราสามารถทำให้ดีกว่าเดิมได้เสมอ อันดับที่สาม ลำพังความคิดต้องการที่จะปรับปรุงอย่างนี้อย่างนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องลงมือปฏิบัติด้วย เพื่อทำสิ่งนั้นให้เป็นจริง
ขั้นตอนในการปรับปรุงงานแบบไคเซ็น
1.มองหาความสูญเสียต่างๆที่อยู่รอบตัว
การสูญเสียเล็กๆน้อยๆ ทำให้เกิดการสะสม และกลายเป็นเรื่องที่ต้องสูญเสีย อย่างมากมาย เช่น การเปิดสวิตช์ไฟ ถ้านักเรียนไม่รู้ว่าจะเปิดสวิตช์ไฟในห้องครัวอันไหน นักเรียนก็กดปุ่มสวิตช์ไฟอันนั้นบ้างอันนี้บ้างจนกว่าจะพบสวิตช์ไฟของห้องครัวสิ่งนี้ก่อให้เกิด ปัญหาอะไรบ้าง แน่นอนทำให้เสียเวลา สวิตช์ไฟเสื่อมเร็วขึ้น นักเรียนลองคิดดู ถ้าบ้านของเรามีสมาชิกประมาณ 5 คนสวิตช์ไฟต่างๆถูกกดกี่ครั้งต่อวัน ต่อเดือน ต่อปี และสิ่งที่ตามมาคือการเสียค่าใช้จ่าย หรือถ้านักเรียนจะต้องเสิร์ฟน้ำให้กับแขกที่มาบ้าน ถ้าแขกมากันประมาณ 4 คน แต่นักเรียนถือแก้วน้ำมาข้างละ 1 ใบนักเรียนก็ต้องเดิน 2 เที่ยว ซึ่งทำให้เสียเวลาและเสียแรงงาน แต่ถ้านักเรียนหาถาดและนำแก้วทั้ง 4 ใบวางในถาดและยกถาดมา ทำให้นักเรียนไม่ต้องเดินถึง 2 เที่ยว ดังนั้นนักเรียนต้องมีจิตใจที่คิดจะปรับปรุงแม้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เล็กน้อย แต่ถ้ารวมกันหลายสิ่งก็ทำให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นมากมาย
2.ตระหนักว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นแล้ว
นักเรียนต้องเป็นคนชอบสังเกต และเมื่อพบว่ามีความสูญเสียเกิดขึ้นต้องตระหนัก ทันทีว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เช่น ตอนพักกลางวัน นักเรียนรอเข้าแถวซื้อก๋วยเตี๋ยวที่โรงเรียนนานมาก เพราะแม่ค้าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการจัดเตรียมวัตถุดิบต่างๆให้พร้อม ถ้าแม่ค้าคนนั้นคิดว่าเป็นเรื่องปกติและเป็นความเคยชินแล้ว เขาก็จะไม่คิดปรับปรุงว่าทำอย่างไรไม่ให้เด็กนักเรียนรอนาน แต่ในทางกลับกันถ้าแม่ค้าคนนี้คิดว่า นักเรียนรอนานนั้นเป็นเรื่องไม่ปกติแล้ว แม่ค้าคนนี้ก็จะคิดหาวิธีทำงานให้เร็วขึ้น
3.หาจุดที่ควรปรับปรุงโดยการวิเคราะห์ขั้นตอนเพื่อตรวจดูการไหลของการทำงาน
เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้เรื่อง Kaizen ในช่วงชั้นที่ 2 ขั้นตอนนี้ให้นักเรียนหาจุดที่ควรปรับปรุงจากการสังเกตสิ่งที่มีความสูญเสียด้วยตาเปล่า แล้วนำมาตั้งคำถามโดยใช้เทคนิค 5W/1H และ Why-why แต่ในระดับนี้เราจะมาเรียนการหาจุดที่ควรปรับปรุงที่เกี่ยวกับขั้นตอนการทำงาน เช่น การหาจุดที่จะปรับปรุงเพื่อไม่ให้นักเรียนต้องรอนานในการซื้อก๋วยเตี๋ยว
วิเคราะห์ขั้นตอนการขายก๋วยเตี๋ยวของแม่ค้าในโรงเรียน
แม่ค้ารับคำสั่งซื้อก๋วยเตี๋ยว ( 5 วินาที )
หยิบชาม ( 5 วินาที )
หยิบเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ตู้และหันหลังเอาถั่วงอกเพื่อที่จะนำมาลวก ( 30 วินาที )
ลวกเส้นและถั่วงอก (5 วินาที )
นำเส้นที่ลวกและถั่วงอกแล้วใส่ชาม ( 3 วินาที )
ใส่น้ำมันเจียวและคนให้ทั่ว ( 10 วินาที )
ก้มหยิบลูกชิ้น เนื้อหมู ที่ถังน้ำแข็ง ( 30 วินาที )
ลวกลูกชิ้น และเนื้อหมู (30 วินาที )
นำลูกชิ้น และเนื้อหมูใส่ชาม (3 วินาที )
หยิบกระบวยเพื่อตักน้ำซุบ (5 วินาที )
ตักน้ำซุปใส่ชาม ( 5 วินาที )
ใส่ผักชี ต้นหอม ( 3 วินาที )
ส่งก๋วยเตี๋ยวให้นักเรียน ( 4 วินาที )
เวลาที่ใช้ในการซื้อก๋วยเตี๋ยวทั้งหมด 2 นาที 18 วินาที
จุดประสงค์ในการวิเคราะห์ขั้นตอน คือ การค้นหาสาเหตุที่ทำให้นักเรียนต้องรอนานในการซื้อก๋วยเตี๋ยว นักเรียนลองคิดดูว่าถ้านักเรียนเป็นคิวที่ 5 นั่นหมายความว่า นักเรียนต้องใช้เวลารอถึง 12 นาที
จุดที่ควรปรับปรุง
• การใช้เวลาหยิบเส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก และการก้มหยิบลูกชิ้น เนื้อหมู ที่ถังน้ำแข็ง ใช้เวลารวมกันทั้งหมด1นาทีประมาณเกือบ43.47%ของเวลาทั้งหมาด
• การลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก ลูกชิ้น และเนื้อสัตว์ ใช้เวลา 35 วินาที ประมาณ 25.36%
รวมเวลา 1 นาที 35 วินาที คิดเป็น 68.83 % ถ้าแม่ค้าปรับปรุงการทำก๋วยเตี๋ยวโดยคิดวิธีการปรับปรุงจุดเหล่านี้จะทำให้แม่ค้าทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้นักเรียนไม่ต้องรอนาน
4.หาแนวทางการปรับปรุง
เมื่อนักเรียนค้นพบจุดที่ทำการปรับปรุงโดยการวิเคราะห์ขั้นตอนการทำงานแล้วจะเห็น ว่ามีความสูญเสียเกิดขึ้นในบางขั้นตอน นักเรียนจำเป็นต้องนำขั้นตอนที่ก่อให้ความสูญเสียมาแก้ไข
เทคนิคการคิดหาวิธีการปรับปรุงงานแบบECRS
• ขจัดสิ่งที่ไม่จำเป็น(Eliminate)
ให้นักเรียนขจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นหรืองานที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ในขั้นตอนการทำก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าต้องพิจารณาว่ามีสิ่งใดบ้างที่ไม่จำเป็นในการทำก๋วยเตี๋ยวมาวางทำให้เกะกะ หรือเป็นอุปสรรคในการทำงาน หรือแม้กระทั่งขจัดวิธีการทำงานที่ไม่จำเป็น เช่น การก้มเพื่อหยิบลูกชิ้น และเนื้อสัตว์มาลวก แม่ค้าควรขจัดการก้มลงออกไป นอกจากจะทำให้ปวดหลังแล้วยังเป็นการเสียเวลาอีก โดยแม่ค้าอาจคิดว่าควรมีโต๊ะมารองก้นถังน้ำแข็งให้สูงขึ้นเพื่อจะได้ไม่ต้องก้มอีก
• หาวิธีการจับมารวมกัน(Combine)
จากตัวอย่าง แม่ค้าต้องหยิบเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอกคนละที่กัน ทำให้เสียเวลาในการหยิบดังนั้น แม่ค้าควรนำเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอกมารวมไว้ในที่เดียวกัน อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ สมัยก่อนจะกินกาแฟ เราต้องเสียเวลาตักกาแฟ เสร็จแล้วต้องมาตักน้ำตาลและครีมเทียม แต่ตอนนี้มีการผลิตกาแฟในซองแบบ 3 in 1 คือ มีกาแฟ น้ำตาล ครีมเทียม อยู่ในซองเดียวกันซึ่งเป็นการนำมารวมกัน เพื่อที่จะประหยัดเวลาและพกพาได้สะดวก
• จัดเรียงใหม่(Rearrange)
ถ้าหากว่าวิธีการทำงานแบบเดิมมีความสูญเสียเกิดขึ้น ไม่ว่าเกิดจากระยะทางในการหยิบสิ่งของต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียได้ ถ้าระยะทางกับสิ่งของนั้นอยู่ไกลกัน เช่น ในร้านอาหาร โต๊ะลูกค้า กับ ที่วาง จาน ช้อน ส้อม น้ำ และน้ำแข็ง อยู่ไกลกันมาก ทำให้ต้องใช้เวลานานในการไปหยิบสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น ควรมีการจัดเรียงใหม่ เช่น จาน ช้อน ส้อม น้ำ และน้ำแข็ง ซึ่งเป็นของที่ใช้บ่อยๆ มาวางไว้ใกล้โต๊ะของลูกค้า เมื่อลูกค้าสั่งจะได้หยิบได้ทันท่วงที และควรมีหลายๆจุด หรือตัวอย่างแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว การลวกลูกชิ้นและเนื้อหมู ต้องใช้เวลาในการลวกให้ลูกค้าแต่ละคน คนละ 30 วินาที ซึ่งใช้เวลานาน แม่ค้าอาจเปลี่ยนวิธีการใหม่โดยอาจจะลวกลูกชิ้น กับเนื้อสัตว์ เตรียมไว้ก่อนเวลาที่นักเรียนจะพักรับประทานอาหาร เมื่อนักเรียนสั่งก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าก็ใส่เนื้อหมู ลูกชิ้นที่สุกแล้วลงในชามโดยไม่ต้องมาทำในขณะที่นักเรียนสั่งก็จะทำให้ลดเวลาได้ถึงคนละ 30 วินาที หรือ ครั้งละมากๆ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา และลูกค้าก็ไม่ต้องรอนาน
• การทำให้ง่ายขึ้น(Simplify)
ถ้านักเรียนไปห้องสมุดจะเห็นว่า ห้องสมุดที่ดีนั้น นอกจากมีหนังสือที่ดีแล้วยังต้องค้นหาได้ง่ายด้วย และสาเหตุที่ค้นหาหนังสือได้ง่ายนั้น เพราะมีการแบ่งแยกประเภทหมวดหมู่ไว้อย่างชัดเจน มีป้ายติดแสดงประเภทของหนังสือแต่ละประเภททำให้เราสามารถค้นหาหนังสือได้อย่างรวดเร็ว ในการทำงานต่างๆ ก็แข่งกันเราต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ ง่ายขึ้น เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าต้องนำถังแก๊สออกมาหน้าร้านทุกวัน พอตอนเย็นก็นำถังแก๊สไปเก็บหลังร้าน การที่ต้องยกถังแก๊สทุกวันนั้นเป็นสิ่งที่ลำบากเพราะถังแก๊สมีน้ำหนักมากและถ้ายกไม่ถูกวิธีอาจจะ
ก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น จึงมีการคิดว่าจะขนถังแก๊สอย่างไรให้ง่ายจึงมีการประดิษฐ์ที่รองถังแก๊สที่มีขนาดวงกลมทำด้วยเหล็กและรองข้างล่าง
ที่ทำด้วยล้อเพื่อให้สามารถเลื่อนไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก เมื่อจะนำถังแก๊สออกไปหน้าร้านก็ยกประหยัดแรงงานอีกด้วย
ประเมินเทคนิคต่างๆที่จะนำมาปรับปรุง
การที่จะเลือกว่าจะนำเทคนิคใดมาปรับปรุงนั้นนักเรียนต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
• ความคิดนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า
• ความคิดในการปรับปรุงนั้นต้องเป็นไปได้ และสามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้โดยไม่มีอุปสรรคใด
• ความคิดที่ใช้ในการปรับปรุงต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร
• ความคิดนั้นต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวนานเท่าใด
• การทำความคิดนั้นให้เป็นรูปธรรมที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ ต้องใช้คนกี่คน
ปฏิบัติและมีการติดตามผล
หลังจากที่นักเรียนมีการคัดเลือกความคิดที่ดีที่สุดเพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแล้ว ก็ถึงขั้นตอน ที่นักเรียนต้องนำความคิดนั้นมาปฏิบัติแต่ก่อนที่จะลงมือนั้นนักเรียนต้องปฏิบัติดังนี้
• วางแผน โดยใช้หลักการ 5W/1H เช่น ทำไมต้องทำ (Why) ซึ่งถือว่าเป็นการทบทวนอีกครั้งว่าความคิดของเรานั้นถูกต้องแล้วที่จะนำมาปรับปรุง จะต้องทำอะไรบ้าง (What) จะทำที่ไหน (Where) จะทำเวลาใด (When) ใครเป็นคนทำ ( Who) และจะทำอย่างไร (How)
• ลงมือทำ เราจะต้องมีการลงมือปฏิบัติว่าความคิดนั้นสามารถแก้ปัญหาได้ไหม ถ้าเราไม่ลงมือปฏิบัติเราก็ไม่มีทางรู้ว่าความคิดนั้นสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่
• ตรวจสอบ เราต้องมีการตรวจสอบว่าเมื่อเรานำความคิดนั้นมาแก้ไขปัญหาแล้ว สามารถทำให้ปัญหานั้นหมดไปหรือไม่หรือทำให้ดีขึ้นหรือไม่
• ปรับปรุงให้ดีขึ้น บางครั้งปัญหาไม่ได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง นักเรียนก็ต้องสังเกตและคิดอีกว่าจะมีความคิดอะไรอีกที่จะช่วยทำให้ปัญหานั้นหมดไปได้ หรือบางครั้งปัญหานั้นหมดไป เราก็ต้องคิดอีกว่าจะมีวิธีใดที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นมาอีก
มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีปัญญา เราควรใช้ปัญญานี้มาพัฒนาให้สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวของเราดีขึ้น เมื่อทุกคนมีความคิดที่อยากจะปรับปรุงการทำงานให้ดีอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการปรับปรุงในเรื่องนั้นจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆก็ตาม แต่ถ้านำมารวมกันก็จะทำให้เกิดประสิทธิผลที่ยิ่งใหญ่ นำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรื่อง และมีการพัฒนาแบบยั่งยืน
ขั้นตอนในการตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการในโรงงาน
ขั้นตอนและวิธีการสำหรับการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนใด มี Margin หรือไม่ ดังนี้
1. พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนรายการใด ที่ต้องทำการตรวจสอบก่อน ให้ทำการจัดลำดับก่อนหลัง (Ranking) ว่าผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนรายการใดที่ทำการผลิตแล้วมีกำไรหรือว่าขาดทุน รวมถึงผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนรายการใดที่มีศักยภาพในการปรับปรุงให้สามารถทำกำไรได้ (หากไม่แน่ใจว่าได้กำไร)
2. ผู้บริหารที่รับผิดชอบในส่วนนี้ ต้องถามตนเองว่า ข้อกำหนดทางวิศวกรรม (Specification) ที่ได้รับการออกแบบไว้ในตัวผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนแต่ละรายการทำให้มีราคาแพงหรือต้นทุนสูงหรือไม่ โดยใช้แนวทางการตอบคำถามเพียง 2 ทางเลือก คือ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” หากคำตอบสำหรับคำถามนี้ตอบว่า “ใช่”ให้ข้ามไปดูรายละเอียดในข้อสุดท้าย (ข้อที่ 6 โดยไม่ต้องสนใจรายละเอียดในข้อ 3-5)
หากคำตอบสำหรับคำถามในข้อนี้ว่า “ไม่ใช่” ให้พิจารณาในข้อที่ 3 ต่อไป
3. หากคำตอบจากข้อที่ 2 ปรากฏว่า “ไม่ใช่” ผู้บริหารต้องถามตนเองต่อไปว่า ต้นทุนผันแปร(Variable Cost) สูงมากเกินไปหรือไม่ แต่หากคำตอบในข้อนี้ว่า “ใช่” ต้องถามตนเองใหม่ว่า บริษัทของเราไม่ได้ทำการสั่งซื้ออย่างประหยัด (Uneconomic purchasing) หรือไม่ หากคำตอบว่า “ใช่” ก็จะมีคำถามต่อไปในข้อที่ 4 แต่หากคำตอบว่า “ไม่ใช่” ให้ดูหัวข้อต่อไปในข้อที่ 5
4. หากคำถามจากข้อที่ 3 ตอบว่า “ใช่” ก็จะมีวิธีการปรับปรุงกระบวนการในการสั่งซื้อ โดยควรจะทำการปรับเปลี่ยนผู้ส่งมอบรายใหม่ เนื่องจากรายเก่าอาจขายวัสดุอุปกรณ์ให้เราในราคาที่สูงกว่ารายอื่น
4.1 ในอีกกรณีหนึ่ง ก็ต้องถามว่า มีความสูญเปล่าในกระบวรการ (Waste) สูงหรือไม่ หากคำตอบว่า“ใช่” ก็ต้องทำการทบทวนวิธีการทำงานในแต่ละกระบวนการให้รัดกุมมากขึ้น โดยทำการควบคุมกระบวนการผลิตในทุก ๆ ขั้นตอนให้ดำเนินการตามมาตรฐานงาน หรือ standardize work (หากมี) ที่กำหนดไว้
4.2 อีกคำถามหนึ่งในข้อนี้ที่ผู้บริหารต้องถามตนเองว่า ในส่วนของแรงงานที่ป้อนเข้าไปในการผลิตแต่ละกระบวนการนั้น มากเกินจำเป็นหรือไม่ (ทั้งในส่วนของจำนวนคน ค่าจ้างแรงงาน ที่เป็นปัจจัยด้านแรงงาน คำตอบจะมีว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”
4.3 หากคำตอบว่า “ใช่” วิธีการที่จะปรับปรุงก็คือ ให้ทำการลดค่าล่วงเวลา และควบคุมการปฏิบัติงานของบุคลากรโดยเคร่งครัด
4.4 หากคำตอบคือ “ไม่ใช่” ให้ปรับปรุงวิธีการผลิต โดยอาจพิจารณาเพิ่มเติมระบบอัตโนมัติเข้าไปในกระบวนการผลิตตามความเหมาะสม
5. หากคำตอบในข้อที่ 4.1 ปรากฏว่า “ไม่ใช่” ก็ต้องตอบคำถามต่อว่า การดำเนินงานของโรงงานนั้นเป็นไปอย่างอืดอาดเชื่องช้าหรือไม่ โดยมี ข้อพิจาณาดำเนินการปรับปรุง ดังนี้
5.1 หากคำตอบจากคำถามในข้อที่ 5 ว่า “ใช่” ก็ต้องถามต่อไปว่าโรงงานของเรามีกำลังการผลิตเหลืออยู่หรือไม่
5.1.1 การเลือกตอบว่า “ใช่” ให้ทำการปรับปรุงโดยการกำหนดแผนพัฒนาบุคลากร ทั้งในด้านการฝึกอบรม ส่งไปเรียนหลักสูตรระยะสั้น ตลอดจนทำการพัฒนาระบบผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Incentive) ให้กับพนักงาน
5.1.2 หากเลือกตอบว่า “ไม่ใช่” โดยยังมีกำลังการผลิตเพียงพอ ก็ให้ทำการควบคุมการผลิตอย่างรัดกุม
5.2 หากการดำเนินงานไม่ได้เชื่องช้าอืดอาด ด้วยการตอบคำถามว่า “ไม่ใช่” ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า การปฏิบัติงานในโรงงานนั้น มีงานที่ต้องทำการแก้ไข ซ่อมแซม (Rework) เนื่องจากปัญหาด้านคุณภาพในปริมาณมากหรือไม่ โดยพิจารณาจากคำตอบที่ตอบและแนวทางปรับปรุง ดังนี้
5.2.1 หากได้รับคำตอบว่า “ใช่” ก็ให้ทำการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด แต่หากคำตอบว่า “ไม่ใช่” ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า เครื่องจักรหยุดบ่อยหรือไม่ ให้ดูแนวทางในข้อ 5.2.2
5.2.2 หากคำถามในข้อ 5.2.1 ตอบว่า “ใช่” ต้องทำการปรับปรุงระบบการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร และปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ล้าสมัย รวมถึงทำการวิเคราะห์กระบวนการในการทำงานด้วยว่าเป็นไปตามKPI ที่กำหนดไว้ (หากมี) หรือไม่
5.2.3 หากคำถามในข้อ 5.2.1 ที่ว่า “เครื่องจักรหยุดบ่อยหรือไม่” ได้รับคำตอบว่า “ไม่ใช่” แสดงว่าต้องทำการทบทวนโดยการพิจารณาที่จะทำการพัฒนาระดับทักษะและความรู้ความสามารถของพนักงานที่ปฏิบัติการในแต่ละตำแหน่งหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร เครื่องจักรก็ไม่เสีย แต่เหตุไฉนจึงทำงานล่าช้า เข้าลักษณะที่ว่า “เก่งไม่กลัว กลัวช้า”
6. หากย้อนกลับไปดูในข้อที่ 2 ต่อคำถามที่ว่า “ข้อกำหนดในการออกแบบทำให้สินค้ามีราคาแพง ใช่หรือไม่” หากตอบว่า “ใช่” (แนวทางปรับปรุงหากตอบว่า “ไม่ใช่” ในข้อ 2 ได้แนะนำแนวทางไปแล้ว) ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้ว “ลูกค้านิยมชมชอบในคุณภาพของสินค้าและบริการของเราหรือไม่” (ต้องหาวิธีการให้ทราบความเห็นที่แท้จริงจากลูกค้า เช่น การที่ลูกค้าส่วนใหญ่ยอมซื้อรถหรูราคาแพง ก็อาจมาจากสาเหตุนี้)
6.1 หากได้รับคำตอบว่า “ใช่” ก็ให้สะท้อนปัจจัยด้านคุณภาพลงในกลยุทธ์การตลาดขององค์กรที่มีอยู่ หรือวางกลยุทธ์ใหม่ (หากเดิมไม่มีการกำหนดไว้)
6.2 หากเลือกตอบว่า “ไม่ใช่” ให้ทำการทบทวนการออกแบบ โดยใช้หลักการวิศวกรรมคุณค่า (Value Engineering) ในการปรับปรุงวิธีการออกแบบสินค้า หรือการสร้างสินค้าให้ประทับใจมากขึ้น แต่ราคาประหยัดกว่า
อ่านไปอ่านมาแล้วท่านผู้อ่านอาจจะยังสับสนอยู่ เพราะมีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่สลับซับซ้อนอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจดูได้จาก Flow Diagram เพียงหน้าเดียว โดยนำมาอ่านประกอบกับบทความนี้ ดังแนบ (ดู “Improving manufacturing margins” flow diagram, file:improvemanufactmargin_diagram.pdf_) เพื่อประกอบการทำความเข้าใจกับเนื้อหาในส่วนนี้
จากแนวคำถามและคำตอบดังที่กล่าวแล้วข้างต้น คำตอบที่ได้รับเปรียบเสมือนแนวทางประเมินสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในโรงงานหรือองค์กรการผลิตเอง เมื่อผลของการประเมินเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีปัจจัยอะไรที่อาจทำให้ผลกำไร (Margin) ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ขั้นตอนแรก หรือต้องการปรับปรุงผลกำไรที่ได้ในการผลิตสินค้าแต่ละรายการ หรือในการผลิตสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนในแต่ละชิ้นที่มีศักยภาพในการทำกำไรให้สูงขึ้น ผู้บริหารองค์กร อาจจะใช้วิธีการประชุมผู้บริหารระดับล่าง ๆ รองลงมาโดยใช้วิธีการระดมสมองให้ร่วมกันหาแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มผลกำไร และการแก้ปัญหาที่เกิดจากการขาดทุนได้
แนวทางในการปรับปรุงงานวิธีหนี่งที่โรงงานผู้ผลิตญี่ปุ่นนิยมใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง คือวิธีการ“ไคเซ็น” (KAIZEN) ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน ให้ร่วมกันแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ จนสามารถจัดทำเป็นมาตรฐานงาน (Standarddization) ได้ หลังจากนั้นก็ทำการปรับปรุงรอบต่อไป ด้วยวงจร PDCA เพื่อการยกระดับมาตรฐานนั้นขึ้นไปอีก และทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับที่ 101 วันที่ 12 พฤษภาคม 2555
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที